โดย Win Malaiwong

17 มกราคม 2017

Arrival เป็นหนังดรามาปรัชญาชีวิตนะครับ ไม่ใช่แนวแอ็กชันมนุษย์ต่างดาวบุกโลก ผู้กำกับหยิบสมมติฐาน Linguistic Relativism ของ Sapir-Whorf มาต่อยอดได้แยบยลน่าสนใจดี ทีนี้เรียนสายภาษาจึงอดสงสัย “merit” ของการตีความประยุกต์ใช้สมมติฐานนี้ไม่ได้ Linguistic Relativism เป็นความคิดเห็นพ้องกันของครู Sapir กับศิษย์ Whorf ยังไม่ได้รับการพิสูจน์และพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นทฤษฎี ทั้งสองคนเชื่อว่าภาษาจะกำหนดการรับรู้และการตัดสินใจของมนุษย์ การเรียนภาษาทำให้กระบวนทัศน์ระบบความคิดเปลี่ยนไปด้วย

ถามว่าจริงไหม อันนี้ก็ไม่รู้ แต่จะขอหยิบยกทฤษฎี Universal Grammar (UG) ของ Chomsky มาคิดประกอบเป็น counterargument ละกัน Chomsky เชื่อว่าภาษาเป็นหน่วยหนึ่งที่อยู่แยกออกมา ทว่าทำงานร่วมกับหน่วยอื่นที่อยู่ประกอบกันเป็นสมอง เช่น การรับรู้ หน่วยของภาษาไม่มีอำนาจขนาดไปกดทับควบคุมหน่วยอื่นได้ แต่ Linguistic Relativism คิดว่าทุกอย่างกองอยู่รวมกันไม่ได้มีผนังแบ่ง แต่ต้องขอออกตัวว่าการจับสองแนวความคิดนี้มาอภิปรายร่วมกันอาจไม่ถูกต้องนักเพราะ Chomsky ศึกษาเรื่องนี้ผ่าน deep syntax แต่ Sapir-Whorf สนแต่เรื่อง lexical meaning

เอาเป็นว่าหนัง Arrival นำสมมติฐานเรื่อง Linguistic Relativism มาผนวกจินตนาการให้ล้ำ ฟังดู forward ไปอีกขั้นหนึ่ง พร้อมตั้งคำถามว่าระหว่าง “ภาษา” กับ “วิทยาศาสตร์” สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างตลอดจนรักษาสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น โดยนำเสนอผ่านตัวละครเอกอย่าง Louise และ Ian ให้มีอาชีพคู่ขั้วตรงข้ามกัน Louise เป็นนักภาษาศาสตร์ Ian เป็นนักฟิสิกส์ ทั้งสองทำงานใกล้ชิดร่วมกัน Ian อาจจะ “เห็น” ตัวเลขแต่ไม่สามารถถอดรหัสความสัมพันธ์ Louise เป็นผู้มองทะลุกำแพงกระจก “เข้าใจ” วัตถุประสงค์ของผู้มาเยือน นอกจากนี้ Louise ยังเป็นผู้ไขข้อกังขาระหว่างสหรัฐฯกับจีนและยุติข้อพิพาทที่เกือบต้องเกิดขึ้น

ที่มาภาพ: http://cutiacufilme.ro/

จีนกับสหรัฐฯ นี่เป็นคู่แข่งกันทั้งในชีวิตจริงและในหนัง อย่างเรื่อง Arrival นี้ก็แข่งกันว่าใครจะรู้วัตถุประสงค์ของผู้มาเยือนก่อน ฝ่ายไหนจะจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่า ผู้กำกับเลือกให้ฝ่ายจีนถอดรหัสได้เร็วกว่าฝ่ายสหรัฐฯ อยู่หนึ่งก้าว อันนี้น่าสนใจ ภาษาจีนและภาษาของ Heptapods มีความคล้ายคลึงกันมากกว่าภาษาอังกฤษ เป็นภาษารูปภาพและไม่ได้มีความเป็น linear ในตัวภาษา จีนจึงตีความออกก่อน (ไม่ได้ชมว่าเก่งกว่านะ ที่ไวกว่าเพราะภาษามีลักษณะร่วม) จีนได้ความหมายไปไม่ครบเพราะ worldview มองทุกอย่างเป็นเกม สื่อสารกับ Heptapods โดยใช้เกมหมากล้อมเป็นสัญลักษณ์ บุก รุก แพ้ ชนะ แล้วลืมมองความเป็นไปได้อย่างอื่น มีแอบจิกกันเบาๆ

Arrival แสดงว่าความเข้าอกเข้าใจคือหัวใจของการสื่อสาร เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยเราทุกอย่าง ภาษาจะนำเราเข้าไปใกล้แก่นกลางมากขึ้น แต่สุดท้ายที่สำคัญคือเราต้องปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ แล้วรู้จักฟังด้วยหัวใจ ดังจะเห็นได้ตอนที่ Louise เข้าไปในยาน Heptapods ครั้งสุดท้าย ตีความด้วยความคิดที่ไม่ยึดติด รู้จักดิ้น กลับบนกลับล่าง กลับซ้ายกลับขวา หามุมที่อ่านแล้วเปิดใจ Communication is fluid นะ อยากเข้าใจผู้อื่น จงอย่ามองมุมเดียว ทฤษฎีทางภาษาอาจจะเพี้ยน มี racism ผสมหน่อยๆ แต่ปล่อยคำถามเชิงปรัชญากระหน่ำ หนังดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน