โดย Average Joe

29 พฤศจิกายน 2014 

ปกติเวลาเห็นหนังเรื่องใดที่ดัดแปลงจากนวนิยาย และมีแนวโน้มว่าจะออกมาดี จะตัดสินใจไม่อ่านหนังสือเลย (ยกเว้นบางเรื่องที่อ่านหนังสือมาก่อนอยู่แล้ว เช่น The Kite Runner นวนิยายของแดน บราวน์ หรือซีรีส์แฮร์รี่ พ็อตเตอร์) เพราะนอกจากจะไม่ค่อยมีเวลาแล้ว ยังคร้านเกินจะอ่านด้วย กรณี Gone Girl ก็ไม่ต่างกัน เห็นอยู่นานละว่าหนังสือเล่มนี้ขึ้นแท่นหนังสือขายดี และได้ข่าวว่าจะทำเป็นหนัง ยิ่งได้รู้ว่าเวอร์ชันหนังเป็น David Fincher กำกับ ก็ยิ่งมั่นใจว่าหนังจะออกมาดีแน่นอน แต่แล้วช่วงก่อนหนังเข้าฉายไม่กี่สัปดาห์ ก็มีกระแสมากมายกระตุ้นให้หลายคนอ่านหนังสือก่อนไปดูหนัง ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ท้ายสุดจึงต้องยอมตามกระแส ออกไปตามหาหนังสือมาอ่านบ้าง ตอนแรกก็หวั่นๆ ว่าจะอ่านจบก่อนหนังลาโรงหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ยังสามารถตะครุบทันช่วงก่อนสัปดาห์สุดท้ายที่หนังฉายพอดี (อ่านจบตอนบ่าย รีบไปดูรอบค่ำเลย)

gone-girl

ที่มารูป: http://www.nzbooklovers.co.nz

เรื่องของ Gone Girl มีอยู่ว่า นิคกับเอมี่ ดันน์ คู่สามี-ภรรยา หนุ่มหล่อ-สาวสวย ต่างก็เป็นนักเขียนในนิตยสารที่ทำงานในนิวยอร์ก เมื่อทั้งคู่ตกงาน นิคก็พาภรรยาสาวย้ายกลับมามิสซูรีซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ในวันครบรอบแต่งงานปีที่ห้าของทั้งคู่ เอมี่ก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของทุกคน ทั้งตำรวจและสื่อต่างก็พร้อมใจกันชี้นิ้วไปที่นิค พร้อมทั้งกล่าวหาว่า นิคนั่นเองที่น่าจะเป็นต้นเหตุของการหายตัวครั้งนี้ บ้างก็เลยเถิดไปถึงกับสงสัยว่า นิคอาจจะฆ่าเมียตัวเองไปแล้วก็ได้

แม้จะปูเรื่องมาคล้ายกับนิยายสืบสวนสอบสวนทั่วๆ ไปเช่นนี้ แต่ประเด็นหลักของเรื่องไม่ได้อยู่ที่เพียงคำถามว่า “นิคทำอะไรภรรยาของเขาหรือเปล่า” เท่านั้น เสน่ห์ที่น่าติดตามของ Gone Girl ทั้งหนังสือและหนัง คือการเล่าเรื่องสลับกันจากมุมมองทั้งฝ่ายนิคและเอมี่ ที่ทำให้เราลังเลว่า เราจะเอาใจช่วยใคร และใครกันแน่ที่พูดความจริง อาจจะเรียกได้ว่า Gone Girl เป็นหนัง neo noir หรือ modern film noir กล่าวคือตัวละครทุกตัวต่างก็มีจุดบกพร่อง มีข้อดีข้อเสียปะปนคละเคล้ากันไป ซึ่งทำให้ตัวละครดูสมจริงเอามากๆ

หนังดำเนินเรื่องตามหนังสือค่อนข้างเป๊ะ (Gillian Flynn ผู้เขียนนวนิยาย มาทำหน้าที่ดัดแปลงบทหนังเอง) โดยยังคงความน่าติดตามได้อยู่ตลอด (แม้จะอ่านหนังสือมาก่อนแล้วก็ยังรู้สึกตื่นเต้นตามไปได้ทุกฉาก) ในขณะที่การค้นหาตัวเอมี่ดำเนินไปเรื่อยๆ ความจริงหลายอย่างก็เปิดเผย ทำให้เห็นความวายป่วงที่ซับซ้อนมากขึ้นในชีวิตสมรสของนิคกับเอมี่ บวกกับดนตรีประกอบที่ให้ความรู้สึกหลอนๆ วังเวง อึดอัด และไม่น่าไว้ใจที่แทรกเข้ามาอยู่เนืองๆ เมื่อเรื่องราวดำเนินมาได้ถึงครึ่งหนึ่ง หนัง (และหนังสือ) ก็เฉลยว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเอมี่ จากนั้น คนดู (และคนอ่าน) ก็อาจจะไม่แน่ใจอีกต่อไปแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้บ้าง

การใช้ชีวิตคู่ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่คนสองคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน ต้องอาศัยความรัก ความไว้ใจ ความเข้าใจ และการประนีประนอมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม แม้จะเห็นได้ชัดว่า คู่ของนิคกับเอมี่จะไม่เหลือสองสิ่งแรกแล้ว แต่เชื่อว่าทั้งสองยังคงมีสองสิ่งหลังอยู่เสมอ และการใช้ชีวิตร่วมกันนี่เองคือภาระที่เขาทั้งคู่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพราะใครเล่าที่บอกว่า ชีวิตสมรสจะต้องมีความสุขเสมอไป และเราไม่อาจเอาภาพที่เห็นจากฉากหน้ามาตัดสินได้เลยว่าคู่แต่งงานคู่ใดมีหรือไม่มีความสุข ยกเว้นตัวของเขาทั้งคู่เอง

นอกจากประเด็นเรื่องชีวิตสมรสแล้ว ผู้รักษากฎหมายที่เหลาะแหละ สื่อที่ไร้จรรยาบรรณ กับมวลชนที่หูเบาและมีอคติ ก็เป็นกลุ่มคนที่โดนเสียดสีและวิพากษ์อย่างเจ็บแสบเหมือนกัน

แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้ชมทุกคนต้องพูดถึงหลังจากดูหนังจบ ก็คือ Rosamund Pike ผู้แสดงบทเอมี่ Pike เป็นนักแสดงสาวสวยอีกคนที่แสดงในหนังดังๆ หลายเรื่อง แต่ไม่ค่อยมีใครจำชื่อหรือหน้าเธอได้เลย (ใครจำได้บ้างว่านางเคยเป็นสาวบอนด์มาก่อน — Miranda Frost ในตอน Die Another Day) แต่เชื่อได้เลยว่า ต่อจากนี้ไป ชื่อ Rosamund Pike น่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเสียที หลังจากแสดงหนังมาหลายปี หนังเรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่แจ้งเกิดให้กับเธอได้จริงๆ บทเอมี่เป็นบทที่ซับซ้อนทั้งความคิดและการกระทำ เธอทำให้เราทั้งชื่นชม รังเกียจ และหวาดกลัวตัวเธอไปได้พร้อมๆ กัน และทั้งๆ ที่เราเห็นแล้วว่า ถึงเธอจะร้ายกาจขนาดไหน แต่บางช่วง เราก็แอบลุ้นไปด้วยว่าเธอจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นๆ ไปได้อย่างไรเช่นกัน (รอลุ้นกันช่วงต้นปีหน้าว่า Rosamund Pike จะมีชื่อเข้าชิงรางวัลอะไรกันบ้าง)

นี่เป็นหนังที่อาจทำให้คู่สมรสหรือคู่รักคู่ใดก็ตามที่ได้ชม ต้องมองย้อนกลับมาดูคู่ของตัวเองบ้างว่า เริ่มมีเค้าลางความหายนะก่อตัวขึ้นคล้ายกับคู่นิค-เอมี่บ้างแล้วหรือยัง ส่วนคนโสดก็อาจจะนึกขยาดไม่กล้ามีคู่ไปเลยก็ได้ เหอๆๆ

Nick Dunne: Yes, I loved you and then all we did was resent each other, try to control each other. We caused each other pain.
Amy Dunne: That’s marriage.

9/10 ครับ

ปล. 1 มีเพื่อนรักคนหนึ่งไปดูหนังเรื่องนี้กับสามี เนื่องในวันครบรอบแต่งงาน เลยบอกนางไปว่า “เลือกหนังได้เหมาะมากนะแก” ฮ่าๆๆ
ปล. 2 มีคนพาเด็กเข้าโรงมาดูเรื่องนี้ด้วย! นั่งข้างหลังเราเลย หันไปดูเป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 4-5 ขวบ เดี๋ยวนะ คือหนังมีทั้งฉากเซ็กซ์โจ๋งครึ่ม มีความรุนแรงระดับเลือดสาด และเชื่อว่าหน้าโรงมีคำเตือนแล้วว่า 18+ หรือเห็นว่าชื่อหนังมีคำว่า Girl เลยคิดว่า girl จะดูได้งั้นเรอะ อีกอย่างคือ หนังมันรอบค่ำ และยาวสองชั่วโมงครึ่ง อะไรทำให้แกคิดว่าหนังเรื่องนี้เหมาะสำหรับเด็ก พูด! เบื่อผู้ปกครองตรรกะป่วยว่ะ