โดย Average Joe

25 มกราคม 2015

จุดเด่นของ Into the Woods น่าจะอยู่ที่การเอาตัวละครในเทพนิยายที่เราคุ้นเคยมายำผสมกัน บวกกับเรื่องที่แต่งเพิ่มอีกหน่อย เราจึงได้เห็นซินเดอเรลลา หนูน้อยหมวกแดง แจ๊คกับต้นถั่ววิเศษ และราพันเซล ต้องมาพันพัวกับภารกิจล้างคำสาป ที่คนทำขนมปังสองสามีภรรยาต้องตามหาสิ่งของสี่อย่างมาให้นางแม่มด ด้วยหวังจะให้นางถอนคำสาป และเขาทั้งสองก็จะได้มีลูกได้ตามปรารถนาเสียที โดยตัวละครแต่ละตัวก็มีเหตุจำเป็นให้ต้อง “เข้าไปในป่า” และบังเอิญเดินทางมาเจอหรือเฉียดกันไปมาอยู่ตลอด เรื่องราวชุลมุนทั้งหมดนี้แม้จะดูสนุกดีไม่น้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นสารสำคัญจริงๆ ของ Into the Woods กลับอยู่ที่ครึ่งหลัง เมื่อตัวละคร “ฝ่ายดี” ทั้งหลายกลับถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับศีลธรรมเสียเอง หลังจากที่ได้สมปรารถนาตามที่อธิษฐานกันไว้ในครึ่งแรก

into-the-woods

ที่มารูป: https://vinnieh.files.wordpress.com

ด้วยอิทธิพลของการ์ตูนดิสนีย์ เราจึงถูกล้างสมองให้คุ้นเคยกับเทพนิยายเวอร์ชันมุ้งมิ้งมากกว่ามืดหม่น ในเวอร์ชันมุ้งมิ้ง ไม่ว่าตัวละครเอกของเรื่องจะเจอเรื่องราวเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม ในท้ายที่สุด “ความดี” ของพวกเขา ก็จะทำให้พบบทสรุปที่สวยงามและสดใสเสมอ แต่ในเวอร์ชันมืดหม่นอย่าง Into the Woods เราจะได้เห็นด้านที่ไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์เพียบพร้อมของแต่ละคน หรือการมองบางเหตุการณ์ในมุมกลับ ซึ่งทำให้ตัวละครมีมิติเหมือนคนจริงๆ เช่นเจ้าชายรูปงามที่เป็นหนุ่มเจ้าสำราญ หว่านเสน่ห์กับหญิงอื่นไปทั่ว เด็กชายแจ๊คที่เป็นขี้ขโมย (หาใช้ผู้กล้าที่ปราบยักษ์ไม่) หรือตัวละครที่ดูซื่อๆ บางคนก็พร้อมจะโกหกหน้าตายเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ

ถึงแม้จะเป็นเทพนิยายเวอร์ชันมืดหม่น แต่เราก็ยังถือว่า Into the Woods เป็นนิทานสอนใจ (แบบฮาร์ดคอร์) ได้ จาก Tagline บนใบปิด (และในเทรลเลอร์) ของหนัง ที่ว่า ‘Be careful what you wish for’ ถือเป็นคำเตือนที่ดีสำหรับตัวละครทั้งหลาย และรวมถึงเราทุกคน ให้ระวังทุกสิ่งที่ขอ และจงรอรับผิดชอบการกระทำของตัวเองให้ดีด้วย นอกจากนี้ก็ยังกล่าวถึงเรื่องครอบครัว การเลี้ยงดูลูก ความอิจฉาริษยา การหลอกลวง การคบชู้ การล่วงละเมิดผู้เยาว์ ฯลฯ โอ มีแต่ประเด็นแรงๆ หนักๆ นี่มันหนังดิสนีย์จริงรึ แต่เหล่าสาวกดิสนีย์ไม่ต้องกลัวว่า สตูดิโอหนังที่น่ารักมุ้งมิ้งที่สุดบนดาวโลกจะเข้าสู่ด้านมืดไปแล้วหรือไร เพราะผู้สร้างได้ปรับทั้งเนื้อหาและเนื้อร้องหลายๆ จุดให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ของดิสนีย์ (หรือที่มีคนเรียกว่า ‘disnified’ แหม่ ชอบศัพท์คำนี้จริงๆ) ทำให้ความหม่นมืดและความรุนแรงของเรื่องดั้งเดิมถูกลดทอนลงไปเยอะ เช่น ประเด็นเรื่องเพศระหว่างหนูน้อยหมวกแดงและหมาป่า (หนูน้อยหมวกแดงในต้นฉบับไม่ใช่เด็กหญิงแต่เป็นสาววัยรุ่น โดยผ้าคลุมสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของเลือดระดูของหญิงสาว) ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายและเมียคนทำขนมปัง (ที่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าจูบ) หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับราพันเซลในตอนท้าย (โทษของการไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ เหอๆๆ)

ขอชื่นชมนักแสดงทุกคนว่า นอกจากจะเสียงดีร้องเพราะกันแล้ว ยังถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาได้อย่างครบถ้วนเต็มที่ เพราะเพลงของ Stephen Sondheim ไม่ใช่เพลงร้องง่าย หรือฟังแล้วติดหูเร็วเหมือนละครเพลงเจ้าอื่นๆ แต่ก็มีจุดเด่นอยู่ที่เนื้อร้อง การชมมิวสิคัลของซอนด์ไฮม์ จึงต้องตั้งใจฟังเนื้อร้องในเพลงให้ดีๆ เช่นเพลง Last Midnight ที่แม่มดร้องว่า “I’m not good, I’m not nice, I’m just right.” จะเห็นว่าแม่มดที่ถูก “ติดฉลาก” ไว้ตั้งแต่แรกว่าชั่วร้ายเจ้าเล่ห์ กลับดูเหมือนจะเป็นคนที่จริงใจและมั่นคงต่อหลักการมากที่สุด ในขณะที่ตัวละครที่เป็น “คนดี” ต่างก็ผลักปัญหาส่งให้คนอื่นแทนเสียนี่

มีคนเคยวิเคราะห์ไว้ว่า “ป่า” ในเรื่อง เปรียบเหมือน “ชีวิต” ที่โยนสถานการณ์หลายๆ แบบมาให้เรา โดยไม่มีแนวทางหรือคำตอบตายตัวให้เราได้ทำตาม มีเพียงตัวเราเองเท่านั้นที่ต้องตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อจะอยู่ในป่า เราอาจเคยทำเรื่องที่ดีบ้างไม่ดีบ้างกับคนกลุ่มต่างๆ ที่เราได้เจอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อที่จะเอาตัวรอดให้นานที่สุด จนกว่าจะถึงเวลา “ออกจากป่า” ไป มีเพลงหนึ่งที่เมียคนทำขนมปังร้องว่า “Is it always ‘or’? Is it never ‘and’?” ก็แสดงให้เห็นสัจธรรมในชีวิตที่มักต้องเจอกับภาวะได้อย่างเสียอย่างอยู่บ่อยๆ ไม่มีใครที่จะได้ทุกอย่างตามที่ปรารถนาไปเสียทั้งหมด

(ขอพูดถึงเจ้าป้าเมอริล สตรีพเจ้าเก่าสักหนึ่งย่อหน้า) เราอาจจะไม่เซอร์ไพรส์นักที่เห็นเจ้าป้าร้องเพลง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นางร้องเพลงในหนัง (นางร้องเพลงมาหลายเรื่อง ที่เด่นสุดคงเป็น Mamma Mia!) และเราอาจจะเริ่มเบื่อที่ป้าได้เข้าชิงออสการ์อีกแล้ว (เป็นครั้งที่ 19 หรือครั้งที่ 523 ในความรู้สึกของคนดูบางคน) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าป้าเมอริลในบทแม่มด คือส่วนที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ นางโดดเด่นทุกฉากไม่ว่าจะโทรมหรือสวย และเมื่อนางร้องเพลง นางก็สามารถขยี้ทุกคำร้อง สนองทุกอารมณ์ได้อย่างถึงใจพระเดชพระคุณกันทีเดียว

ผู้กำกับ Rob Marshall เคยมีผลงานหนังเพลงมาแล้ว คือ Chicago (2002) ที่แสนสนุก และ Nine (2009) ที่ชวนง่วงเหลือทน ส่วน Into the Woods นี้ ถือว่าทำได้ดีกว่า Nine เยอะ แต่ก็ยังไม่ “ถึงรส” เท่า Chicago คงเพราะด้วยประเด็นความหม่นมืดที่ถูกปรับลงมาตามที่ว่าไว้ข้างต้นนั่นเอง ความดีส่วนใหญ่จริงๆ คงต้องยกให้ละครเพลงต้นฉบับ ส่วนการดัดแปลงเป็นหนังนั้นคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีก บางส่วนก็ยังรู้สึกเหมือนกับดูละครเวทีอยู่เลย

แม้ Into the Woods เวอร์ชันดิสนีย์ จะยังทำได้ไม่ถึงรสชาติที่ควร แต่ก็เป็นความบันเทิงที่ชวนให้คิดตามได้เรื่องหนึ่งเหมือนกัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบมิวสิคัลและการตีความ อ้อ ติ่งเจ้าป้าเมอริลก็ไม่ควรพลาดนะ

7.5/10 ครับ

ป.ล. หนูน้อยหมวกแดงเป็นเด็กเกรียนน่าหมั่นไส้และน่าตบกะโหลกมากๆ
ป.ล. 2 สำหรับแฟนป๋าเด็ปป์ อยากเห็นป๋านานๆ ร้องเพลงเยอะๆ แนะนำให้ดู Sweeney Todd แทนนะ
ป.ล. 3 คิดเล่นๆ (แต่อยากเห็นจริงๆ) ว่า ถ้าให้ทิม เบอร์ตันมากำกับ และไม่เอาฉลากดิสนีย์ หนังจะดาร์กได้ขนาดไหนกันนะ