ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 094; ดู Jackie หนังชีวประวัติอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา ซึ่งแม่ดิฉันเล่าว่า ตอนที่ประธานาธิบดีผู้สามีเธอถูกลอบสังหาร แม่เรียนอยู่ ม.7 ที่โคราช โรงเรียนประกาศข่าวหน้าเสาธง นักเรียนร้องไห้กันระงม #นี่ขนาดโคราชนะ

ประธานาธิบดีผู้นั้นก็คือ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของอเมริกา ดำรงตำแหน่งเมื่อปี 1961 ส่วนภรรยาก็คือ แจ็กเกอลีน “แจ็กกี้” เคนเนดี ซึ่งหลังจากประธานาธิบดีเคนเนดีถึงแก่อสัญกรรมไป 5 ปี เธอก็สมรสใหม่กับมหาเศรษฐีชาวกรีก อริสโตเติล โอนาสซิส เธอจึงใช้ชื่อว่า แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1994

ระหว่างที่เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา แจ็กกี้ได้รับความชื่นชมมากมาย เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่วางตัวดีและมีสไตล์มากๆ คนหนึ่ง ในขณะที่ประธานาธิบดีเคนเนดีก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะนอกจากจะเป็นประธานาธิบดีหนุ่มหล่อไฟแรงแล้ว วาทะอมตะของเขาที่ว่า “จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าจะให้อะไรแก่ประเทศชาติ” ก็เป็นที่จับอกจับใจคนทั้งโลก กล่าวได้ว่า ทั้งสองเป็นประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งในอุดมคติของคนอเมริกัน และยุคนั้นก็ถือเป็นยุคสมัยแห่งอุดมคติ เพราะนโยบายของเคนเนดีสามารถจุดประกายความหวังถึงโลกที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามสร้างความเท่าเทียมให้แก่คนผิวดำ และการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ยากไร้

“ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง มักเป็นเป้าของการลอบสังหาร” นี่คือวาทะของดิฉันเอง เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีคนเสียประโยชน์ ซึ่งมักจะคิดเอาง่ายๆ ว่าฆ่าแม่มเลยหมดเรื่องหมดราวไป ประธานาธิบดีเคนเนดีก็เลยถูกลอบยิงขณะนั่งรถเปิดประทุนกับภรรยา ในขบวนพาเหรดที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี 1963 ด้วยวัย 46 ปี ขณะนั้นแจ็กกี้อายุเพียง 34 ปี มีบุตรธิดา 2 คน อายุ 6 ขวบกับ 3 ขวบตามลำดับ (ที่จริงเธอมีลูก 4 คน คนโตสุดแท้งไป ส่วนคนเล็กสุดเสียชีวิตเมื่ออายุได้แค่ 2 วัน)

หนัง Jackie ถ่ายทอดเรื่องราวของแจ็กกี้ในช่วงเวลาอันยากลำบากนั้น โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งอิงจากบทความของธีโอดอร์ เอช. ไวต์ ในนิตยสาร LIFE เรื่อง For President Kennedy: An Epilogue ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากการสัมภาษณ์แจ็กกี้หลังมรณกรรมของประธานาธิบดีเคนเนดีผ่านไปได้ 1 สัปดาห์

หนังใช้การสัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นเส้นเรื่องหลัก แล้วคัดเลือกเหตุการณ์ต่างๆ มาตัดสลับไปมา ซึ่งการคัดเลือกนี่แหละที่น่าสนใจ แน่นอนว่าเราจะได้เห็นวินาทีลอบสังหารและการจัดการทั้งหลายทั้งปวงหลังจากนั้น แต่มีอยู่ 3 เหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่น่าจะสลักสำคัญอะไร แต่หนังกลับเน้นมากๆ ดังต่อไปนี้

1. รายการทีวีแจ็กกี้พาทัวร์ทำเนียบขาว ชื่อว่า A Tour of the White House with Mrs. John F. Kennedy

2. งานเลี้ยงที่ทำเนียบขาว กับเพลงจากละครมิวสิคัลเรื่อง Camelot

3. แจ็กกี้คุยกับบาทหลวง ระบายความรู้สึกของเธอให้ท่านฟัง

ช่วงต้นๆ เรื่อง ดิฉันรู้สึกจริงๆ ว่า อารายยของมันกันเนี่ย สามฉากนี้น่าเบื่อขั้นสุด แล้วมันสำคัญต่อเรื่องขนาดที่ต้องเน้นเพียงนี้เชียวหรือ แต่พอเรื่องดำเนินไปดิฉันก็กระจ่างใจขึ้นเรื่อยๆ ว่าทั้งสามฉากมันเกี่ยวข้องกันและสัมพันธ์กับเส้นเรื่องหลักอย่างแนบแน่น ทั้งยังนำไปสู่แนวคิดสำคัญของเรื่องอีกต่างหาก โดยเฉพาะฉาก “คาเมล็อต” ในช่วงท้ายเรื่องนี่ ทำเอาดิฉันหัวใจกระตุกเลย ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านคุ้นๆ ชื่อนี้บ้างหรือเปล่า มันคือชื่อเมืองของกษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลมนั่นเอง

กษัตริย์อาเธอร์เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เมื่อถูกทำให้เป็นตำนาน ท่านก็เป็นวีรบุรุษที่ยังคงสถิตอยู่ในใจคน แม้จวบจนปัจจุบันก็ยังมีอิทธิพลอย่างมากในสายธารวัฒนธรรมตะวันตก วรรณกรรมเกี่ยวกับกษัตริย์อาเธอร์มีมากมาย เรื่องหนึ่งซึ่งโด่งดังมากคือนวนิยายชุด The Once and Future King (ปี 1958) ของ ที. เอช. ไวต์ นักเขียนเลื่องชื่อชาวอังกฤษ (ฉบับแปลไทยชื่อ “อาเธอร์จอมราชันย์” แปลโดยนพมาส แววหงส์ ครูของดิฉัน) ต่อมาในปี 1960 นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับการดัดแปลงเป็นละครเพลงเรื่อง Camelot ซึ่งประธานาธิบดีเคนเนดีได้ไปชม และชื่นชอบมากจนต้องเปิดเพลงจากละครเรื่องนี้ฟังทุกคืน

ยุคของกษัตริย์อาเธอร์นับว่าเป็นยุคสมัยแห่งอุดมคติ เห็นได้จากการที่ท่านแต่งตั้งอัศวินเป็นที่ปรึกษาราชการงานเมือง โดยให้นั่งประชุมกันที่โต๊ะกลม ไม่มีด้านใดเป็นหัวโต๊ะ เพื่อสื่อถึงความเท่าเทียมกันของสมาชิกทุกคน จึงเรียกกันว่า อัศวินโต๊ะกลม (Knights of the Round Table) มีนโยบายปกป้องดูแลผู้ที่อ่อนแอและยากไร้ แต่เมื่อยุคสมัยของกษัตริย์อาเธอร์ถึงคราวสิ้นสุด คาเมล็อตจะถูกลืมหรือถูกเล่าขานสืบไป ย่อมขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลังซึ่งจะเป็นผู้ “สร้างตำนาน”

ที่มาภาพ: i.ytimg.com

นาตาลี พอร์ตแมน ผู้รับบทแจ็กกี้ แทบว่าจะเล่นอยู่คนเดียวในหนัง เธอต้องเลียนแบบสำเนียงการพูดและกิริยาท่าทางของแจ็กกี้ ต้องแสดงแง่มุมที่ไม่โสภาบางอย่างในฐานะปุถุชน แล้วยังต้องถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันอึงอลไปด้วยความโศกเศร้าพังภินท์จนแทบครองสติไว้ไม่ได้ การแสดงของพอร์ตแมนเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็นความเป็นจริงที่โหดร้ายสุดๆ อย่างฉากลอบสังหารซึ่งแจ็กกี้ปีนขึ้นไปที่ท้ายรถเพื่อเก็บเศษกะโหลกของสามี #สาดดดด หรือฉากที่เธอยังไม่ทันเช็ดเลือดที่ใบหน้าออกหมดเลย ก็ถูกตามไปร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว #แสรดดดด ความพยายามของเธอที่จะลุกขึ้นมาใหม่เพื่อประคับประคองครอบครัว และเพื่อ “เขียนประวัติศาสตร์” ให้แก่ยุคสมัยของสามี เป็นสิ่งที่ทั้งน่าทึ่งและน่าสะท้อนใจ ซึ่งนาตาลี พอร์ตแมนก็ถ่ายทอดได้อย่างหมดจดไร้ข้อกังขา

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือดนตรีประกอบ มันเป็นเสียงที่หลอกหลอนวนเวียนในใจมาก ทั้งๆ ที่แทบไม่ได้มีทำนองอะไร ใช้แค่ไม่กี่โน้ต แต่เหมือนมันถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกในใจของแจ็กกี้ออกมาเป็นเสียง ถ้าเปิดฟังที่บ้านอาจจะฝันร้ายได้ นี่คือผลงานการประพันธ์ดนตรีประกอบหนังเรื่องที่ 2 ของมิคา เลอไว นักร้อง-นักแต่งเพลงสาวชาวอังกฤษ แห่งวง Micachu and the Shapes หนังเรื่องแรกที่เธอทำดนตรีประกอบคือ Under the Skin (ปี 2014) ซึ่งสการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน เล่นเป็นเอเลียนล่าผู้ชาย ดนตรีเรื่องนั้นก็ดูดวิญญาณเช่นกัน นับเป็นดนตรีประกอบแนวใหม่ที่อาจจะ “เป็นตำนาน” ต่อไปก็ได้ ใครจะรู้

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 145

หมายเหตุ: Jackie เข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา
1. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม – นาตาลี พอร์ตแมน (เคยเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมเมื่อปี 2004 จากเรื่อง Closer และชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง Black Swan เมื่อปี 2010)
2. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – มิคา เลอไว
3. ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

18 กุมภาพันธ์ 2017

(ขอบคุณภาพปกจาก www.blogbusters.ch)