โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

17 เมษายน 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 029; ดู Little Forest: Summer/Autumn ที่ House Rama RCA คนดูเกือบเต็มโรง อานุภาพของหนังญี่ปุ่น!?

little-forest

ที่มารูป: nonecss.com

คนญี่ปุ่นมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับฤดูกาลมาก อาจเป็นเพราะแต่ละฤดูมีภูมิอากาศและภูมิทัศน์แตกต่างกันมากและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฤดูใบไม้ผลิก็อากาศสดใสมีซากุระบาน ฤดูร้อนก็ร้อนชื้นอบอ้าวราวกับอยู่ในลังถึง ฤดูใบไม้ร่วงก็อากาศเย็นมีใบไม้หลากสีสัน ฤดูหนาวก็หิมะตกเหน็บหนาวราวกับอยู่ในตู้เย็น ความแตกต่างของฤดูกาลมีความสำคัญต่อคนญี่ปุ่น และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันในมิติที่หลากหลาย การทำหนังที่เล่าเรื่องราวของคนคนหนึ่งในฤดูกาลต่างๆ ครบ 4 ฤดูในรอบ 1 ปี จึงเป็นอะไรที่ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น และก็คงจะไม่มีประเทศใดทำหนังแบบนี้แล้วล่ะนอกจากญี่ปุ่นเท่านั้น

Little Forest หรือที่ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า Ritoru Foresuto เป็นหนังที่สร้างมาจากมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น)
ชื่อเดียวกัน เล่าเรื่องราวชีวิตของอิจิโกะ เด็กสาวผู้ลาจากเมืองหลวงกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในหมู่บ้านโคโมริ (ชื่อหมู่บ้านนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อเรื่อง เพราะ “โคะ” แปลว่า เล็กๆ “โมะริ” แปลว่า ป่า รวมกันก็แปลว่า ป่าเล็กๆ) เธออยู่ตามลำพังคนเดียว เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้วแม่ของเธอออกจากบ้านไปโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ เธอดำรงชีพด้วยการเป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด และรับจ้างทั่วไป ดูเหมือนเธอไม่ได้ทำการเกษตรเพื่อขาย แต่ทำเพื่อเลี้ยงตัวเองให้มีอาหารกินตลอดทั้งปีมากกว่า เพราะบ้านของเธออยู่ในหุบเขา ไกลจากตลาด เธอจึงทำอาหารกินเอง โดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองและที่หาได้จากธรรมชาติรอบตัว

หนังเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ภาค แต่ละภาคประกอบด้วย 2 เรื่องย่อย ภาคแรกนี้ได้แก่เรื่อง Natsu (Summer) กับ Aki (Autumn) ส่วนภาคสองที่จะได้ดูกันต่อไปได้แก่เรื่อง Fuyu (Winter) กับ Haru (Spring) แต่ละเรื่องเล่าถึงชีวิตของอิจิโกะในฤดูนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ เผยปมปัญหาต่างๆ ในใจของเธอทีละน้อย หนังให้อิจิโกะเล่าเรื่องของตัวเอง โดยใช้วิธีการเล่าราวกับเป็นสารคดี เราได้เห็นการทำงานของเธออย่างละเอียด เห็นความยากลำบากในการเพาะปลูกพืชผลชนิดต่างๆ เห็นวิธีการแก้ไขปัญหา และเห็นการตกผลึกทางความคิดบางอย่างซึ่งเธอได้รับจากการทำงาน อีกสิ่งหนึ่งที่หนังเน้นมาก ได้แก่ การทำอาหาร เน้นแบบมีแคปชันขึ้นบนจอเลยว่า 1st Dish, 2nd Dish,… เราได้เห็นทั้งการเตรียมวัตถุดิบ ขั้นตอนการทำ เคล็ดลับความอร่อย และท้ายสุดของทุกเมนู คือ การกิน อิจิโกะกินให้เราดูทุกเมนูที่นางทำ (ใครจะไปดูหนังเรื่องหนังนี้ควรกินข้าวให้อิ่มก่อน ไม่งั้นจะทรมานใจมาก) ดูแล้วก็รู้สึกว่า การทำเกษตรกรรมและการทำอาหารมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ คือ ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ และความใส่ใจอย่างมาก ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากการดำเนินชีวิต ถ้าเราอยากให้ชีวิตเราเป็นไปด้วยดี ก็ต้องศึกษาหาความรู้ สร้างสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และใส่ใจที่จะทำให้มันดี

น้ำเสียงในการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้น่าสนใจมาก มันเป็นกลางๆ และเรียบเรื่อย ไม่ได้เชิดชูการสู้ชีวิตของชาวชนบท ไม่ได้เรียกร้องให้อนุรักษ์ธรรมชาติ แต่เล่าอย่างธรรมดาสามัญ ให้เห็นว่าทั้งหมดนี้มันเป็น ‘วิถี’ แห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่บางครั้งมนุษย์ก็ถูกธรรมชาติกลั่นแกล้งจนต้องหาวิธีต่อสู้กันไป และบางครั้งมนุษย์ก็ต้องเบียดเบียนธรรมชาติบ้าง ตราบใดที่การเบียดเบียนนั้นอยู่ในระดับที่พอดีและมีการทดแทนให้ธรรมชาติตามสมควร ถ้าดำเนินชีวิตแบบนี้เราก็จะยังมีสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์อยู่ ให้เราสามารถเลี้ยงชีวิตได้โดยไม่ลำบากเกินไปนัก

หนังทิ้ง hint เกี่ยวกับชีวิตของอิจิโกะไว้ตามรายทางเพื่อนำไปสู่การเฉลยในภาคต่อไปคือ Winter/Spring ดังนั้นหากจะทำความเข้าใจความคิดรวบยอดของเรื่องก็ต้องดูให้จบทั้งสองภาคก่อน เชื่อว่าหลายคนที่ได้ดูภาคแรกแล้ว คงจะรอดูภาคจบด้วยความตื่นเต้น ส่วนคนดูผู้หิวโหยอย่างดิฉัน ก็เฝ้ารอเมนูฤดูหนาวอย่างใจจดใจจ่อต่อไป 555

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 130