โดย Average Joe

28 ตุลาคม 2012

looper

ที่มารูป: http://www.what-song.com

Loopers คือกลุ่มมือปืนในโลกอนาคต ที่ทำหน้าที่กำจัดเหยื่อที่มาเฟียในอนาคต (กว่า) ส่งย้อนเวลากลับมาให้ช่วย ‘เก็บ’ ให้ไร้ร่องรอย อาชีพนี้มีค่าตัวสูงลิ่ว พอที่จะให้ลูเปอร์ใช้ชีวิตสุขสบายแบบไฮโซได้ โจ (Joseph Gordon-Levitt) ก็เป็นลูเปอร์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงเยี่ยงเพลย์บอย ไม่แยแสใคร จนมาถึงวันที่เหยื่อของโจ คือตัวเขาเองในอีกสามสิบปีข้างหน้า (Bruce Willis) ซ้ำร้ายกว่านั้น นี่คือเหยื่อรายเดียวที่เขาพลาดท่า ปล่อยให้หลุดมือไปได้ การไล่ล่าระหว่างโจวัยหนุ่มกับโจวัยลุง (ไม่กล้าใช้คำว่าแก่ เกรงใจเฮียบรูซ) จึงเริ่มต้นขึ้น…

…และถ้าเรื่องมันมีอยู่แค่นั้น ก็คงจะธรรมดาเกินไปสำหรับหนังเรื่องนี้…

Looper มาพร้อมกับไอเดียและวิธีนำเสนอที่เลิศล้ำกว่าการเป็นหนังแอ็กชันไล่ล่าทั่วไป เมื่อได้ปูพื้นความขัดแย้งตามย่อหน้าแรกไปแล้ว แทนที่หนังจะอัดแน่นด้วยแอ็กชันมันระห่ำ ยิงกันเปรี้ยงปร้าง ตัวละครชิงไหวชิงพริบ หรือโชว์ซีจีเมพๆ หนังกลับค่อยๆ ดำเนินไปอย่างเนิบช้า บางฉากที่ปรากฏต่อมาอาจทำให้เรางงว่า “มันเกี่ยวอะไรกันว้า” ทว่าเมื่อถึงตอนขมวดปมในช่วงท้าย ทุกอย่างกลับปะติดปะต่อกลายเป็นเรื่องเดียวกันที่สมเหตุสมผลได้อย่างเหลือเชื่อ ฉะนั้น สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เข้าขั้น “เมพ” ไม่ได้อยู่ที่องค์ประกอบด้านเทคนิคหรือความเป็นไซไฟที่ล้ำยุค แต่อยู่ที่ “บท” ที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนวางพล็อตเรื่องมาอย่างดี โดยใช้ความเป็นแอ็กชัน-ไซไฟมาเป็นเครื่องมือ ช่วยขับให้ main idea ของเรื่องชัดเจนขึ้นอย่างชาญฉลาด และก็ทำให้ Looper ก้าวข้ามความเป็น “หนังไซไฟย้อนเวลา” ขึ้นไปอีกระดับได้อย่างสบายๆ

สังคมในอนาคตที่เสื่อมโทรม (ทั้งวัตถุและจิตใจ) แบบดิสโทเปีย ที่ทำให้ทุกคนต้องต่อสู้แย่งชิงทุกอย่างเพื่อให้ตนเอง “มี” ตอกย้ำความจริงที่ว่า มนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ชอบทึกทักอ้างความเป็นเจ้าของและหวงทุกสิ่งอย่างที่ตนเองคิดว่าเป็นของตน หลายคนต่างก็ห่วงแต่อดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือไม่ก็อนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่กลับไม่ค่อยนึกถึงปัจจุบันที่กำลังดำเนินอยู่ ดังเช่นโจวัยหนุ่มที่หวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต แต่กลับชอบพี้ยา ปาร์ตี้ไปวันๆ แบบไม่ถนอมร่างกาย ส่วนโจวัยลุงก็เก็บการสูญเสียของตนมาเป็นข้ออ้างในการแก้แค้น “อย่างชอบธรรม” โดยลืมนึกถึงศีลธรรมและมนุษยธรรมไปโดยปริยาย การย้อนเวลาในหนังเรื่องนี้ จึงไม่ใช่เป็นการกลับไปเพื่อเปลี่ยนแปลง/แก้ไขอดีตเหมือนกับหนังเรื่องอื่นๆ แต่เป็นการตีแผ่กิเลสพื้นฐานของมนุษย์ที่ชอบยึดมั่นถือมั่น เห็นแต่อัตตาของตนเป็นใหญ่ อ้างเจตจำนงเสรี (free will) ว่าตนมีสิทธิกุมชะตาชีวิตของตนเอง โดยหารู้ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว ทุกสิ่งก็เป็นเพียงช่วงเวลาที่ถูกขโมยมาเพียงชั่วครู่ เรามา เราอยู่ เราจากไป หาอะไรที่เป็นจีรังได้ไม่ สุดท้ายหนังก็แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดที่ว่า หากเราหยุดคิดถึงแต่ความต้องการของตัวเอง หยุดแก่งแย่ง หยุดทำร้ายกันเอง เราก็สามารถหลุดพ้นจาก “ลูป” ที่เป็นวังวนแห่งการเข่นฆ่า หรือวงจรอุบาทว์ที่เป็นอยู่นี้ได้ ใครจะไปนึกว่าหนังฝรั่งไซไฟเรื่องนี้จะจบลงด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนา!

ขอสารภาพว่า ตอนแรกรู้สึกแปลกๆ เล็กน้อยกับเมกอัพบนหน้าน้องโจเซฟ (ที่พยายามทำให้คล้ายกับเฮียบรูซ) บนโปสเตอร์หนัง แต่หลังจากดูหนังแล้ว ก็ไม่สงสัยเลยว่า เหตุใดน้องโจเซฟจึงเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ณ ขณะนี้ เพราะน้องโจช่างโดดเด่นไปเสียทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีไม้ลายมือในการแสดง บวกกับเสน่ห์ส่วนตัว ที่แม้แต่เจ้าเสน่ห์รุ่นใหญ่อย่างเฮียบรูซก็ไม่สามารถข่มได้ น้องโจไม่เพียงแต่ทำให้เราเชื่อว่า เขานี่แหละคือเฮียบรูซในวัยหนุ่ม ด้วยสายตา สีหน้า การพูดจา หรือการเคลื่อนไหวร่างกายเล็กๆ น้อยๆ น้องโจได้ “กลายเป็น” เฮียบรูซวัยหนุ่มได้อย่างแนบเนียน (ลืมเรื่องเมกอัพแปลกๆ ไปเลย) แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เพิ่มเอกลักษณ์ส่วนตัวเข้าไปในตัวละครนี้ด้วย ส่วนเฮียบรูซ แม้เรื่องนี้จะดูเป็นรองน้องโจเซฟอยู่นิดนึง แต่ยังไงก็จะรอดู A Good Day to Die Hard ของเฮียอยู่นะ

8.5/10 ครับ ^_^

ปล. หากสนใจหนังที่พูดถึงการย้อนเวลา/แก้ไขอดีต ขอแนะนำเรื่องต่อไปนี้ Back to the Future (1985), The Butterfly Effect (2004), Frequency (2000), Source Code (2011), The Terminator (1984), Twelve Monkeys (1995), ทวิภพ (2547) และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลย คือ Doraemon นี่เอง ^^
ปล. 2 ขอแนะนำ The Fountain (2006) ด้วย ในฐานะหนังฝรั่งอีกเรื่องที่นำเสนอแนวคิดแบบพุทธศาสนาผ่านหน้าหนังที่เป็นไซไฟ-ย้อนยุค รับรองว่า เมื่อดูจบ (และไม่งงไปกับแนวหนังเสียก่อน) จะได้วิมุตติธรรมเป็นอานิสงส์แน่นอน
ปล. 3 Emily Blunt แม้จะโผล่มาช้าหน่อย แต่ก็แสดงดีมากและโดดเด่นไม่แพ้สองหนุ่มสองวัยเลยทีเดียว