โดย Average Joe

10 พฤษภาคม 2014

เมื่อ 11 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมในครอบครัวของสองพี่น้อง Kaylie กับ Tim พ่อแม่ของทั้งสองเสียชีวิต เคย์ลี่ผู้เป็นพี่สาวถูกส่งไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า ส่วนทิมผู้เป็นน้องถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร และถูกส่งไปบำบัดอาการทางจิต… 11 ปีผ่านไป ทิมได้รับการปล่อยตัวจากสถานบำบัด ส่วนเคย์ลี่ทำงานในสถานประมูลของเก่า หลายปีที่ผ่านมานี้ เธอเชื่อมาโดยตลอดว่าสิ่งที่นำหายนะมาสู่ครอบครัวของเธอก็คือวิญญาณร้ายที่อยู่ในกระจกโบราณบานหนึ่ง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ความเชื่อของตัวเธอเอง บวกกับการล้างชื่อให้น้องชาย เธอจึงต้องกำจัดกระจกที่เป็นต้นเหตุทิ้งเสีย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Oculus

oculus

ที่มารูป: http://cdn2-www.comingsoon.net

ในหนังสยองขวัญต่างๆ กระจกถือเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่มักมีไว้เพื่อสะท้อนภาพผีหรือฆาตกรโรคจิต (ที่ตัวละครอาจเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง แต่คนดูเห็นประจำ) ฉะนั้น กระจก (รวมถึงอุปกรณ์อย่างอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น กล้องถ่ายรูปหรือกล้องวิดีโอ) จึงกลายเป็นตัวช่วยพิสูจน์ความจริงที่ตัวละครมักจะมองไม่เห็น แต่ก็ยังมีกระจกอีกแบบ ที่นอกจากจะไม่สะท้อนความจริงแล้ว ยังกลับสร้างภาพลวงให้กับคนที่อยู่ตรงหน้ามันด้วยซ้ำ ภาพลวงที่ว่านั้น หมายรวมถึงรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสแบบปลอมๆ ที่ส่งมาหลอกเล่นกับจิตใจอันอ่อนไหวของมนุษย์ ทำให้คนคนนั้นเกิดความสับสน วิตกจริต หรือถึงกับวิกลจริตได้ในที่สุด และโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว แม้จะมีจิตใจที่เข้มแข็งขนาดไหน หากถูกลวงล่อด้วยคนหรือสิ่งอันเป็นที่รักแล้ว คนคนนั้นก็ยังมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของภาพลวงอันบิดเบือนนี้ได้อยู่ดี

Oculus อาจจะดำเนินเรื่องเอื่อยๆ ไปบ้างในช่วงแรก และอาจจะมีบางส่วนที่ทำให้คอหนังสยองขวัญหลายคนนึกถึงหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆ เช่น Evil Dead และ Paranormal Activity อยู่บ้าง โดยเฉพาะหนังโรงแรมผีสิง The Shining ที่คล้ายกันในประเด็นเกี่ยวกับความวิกลจริตของตัวละคร ว่าเกิดจากวิญญาณชั่วร้ายหรือเกิดจากด้านมืดของคนคนนั้นกันแน่ อย่างไรก็ดี หนังก็สามารถสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองได้โดยการเล่าเรื่องอย่างฉลาดและสร้างสรรค์ การตัดต่อเดินเรื่องสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน ก็เป็นเทคนิคสำคัญที่ผู้สร้างใช้เล่นกับการรับรู้ (perception) และภาพจำ (visual memory) ของทั้งตัวละครและคนดู ซึ่งในตอนต้นเรื่อง เส้นเรื่องหรือ timeline ของอดีตกับปัจจุบันดูจะแยกกันอย่างชัดเจน แต่ขณะที่เรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ เส้นเรื่องทั้งสองช่วงเวลานี้ก็เข้าใกล้กันมากขึ้น จนบางครั้งก็มาทับซ้อนกัน ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรคือเรื่องหลอก เมื่อไรคืออดีต เมื่อไรคือปัจจุบัน

ท้ายที่สุด นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แม้จะคาใจกับมันสักแค่ไหน ก็ไม่ควรไปขุดคุ้ยขึ้นมาอีก เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ปัจจุบันเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมด้วย

8/10 ครับ

ปล. Oculus มีรากศัพท์จากภาษาละติน แปลว่าดวงตา (พหูพจน์ใช้ oculi) ปัจจุบันเป็นศัพท์เฉพาะทางสถาปัตยกรรม หมายถึงช่องรูปวงกลมที่อยู่บนหลังคาโดมหรือกำแพง เป็นต้น
ปล.2 วงการหนังสยองขวัญคงต้องจับตามอง Mike Flanagan ไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเขานี่เองที่เหมางานหลักๆ ของหนัง (กำกับ-เขียนบท-ตัดต่อ) และทำได้ดีมากเสียด้วย
ปล.3 หากสนใจประเด็นภาพหลอนและการก้าวเข้าสู่ความวิกลจริต ขอแนะนำหนังเรื่อง Event Horizon (1997) รับรองว่าหลอนได้ใจพระเดชพระคุณทีเดียว