โดย Average Joe

3 มกราคม 2015

Studio Ghibli เป็นบริษัททำอะนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่นที่มีผลงานหลากหลายแนวมากบริษัทหนึ่ง ผลงานของจิบลิมีทั้งสดใสน่ารัก แฟนตาซีเหนือจินตนาการ เสียดสีสังคมแบบเจ็บๆ คันๆ จนถึงดราม่าจริงจังและหนักหน่วง และเมื่ออะนิเมชันเรื่อง Spirited Away (千と千尋の神隠し, 2001) ได้รางวัลออสการ์สาขา Best Animated Feature

ในปี 2003 ชื่อของสตูดิโอจิบลิก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก หลังจากทำหนังจากบทประพันธ์ของต่างชาติ (เช่น Howl’s Moving Castle, Tales from Earthsea และ Arrietty) มาหลายเรื่องในช่วงหลายปีมานี้ ในที่สุด สตูดิโอจิบลิก็หยิบเอาตำนานเก่าแก่ของญี่ปุ่นมาทำเป็นอะนิเมชันให้ได้ดูกันบ้าง กับเรื่อง The Tale of the Princess Kaguya (かぐや姫の物語)

ka4

ที่มารูป: http://f.ptcdn.info

เรื่องของเจ้าหญิงจันทราหรือเจ้าหญิงคางุยะนี้ ดัดแปลงจากเรื่อง ตำนานคนตัดไผ่ (竹取物語) ที่เป็นวรรณกรรมสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ใครที่สนใจนิทานโบราณของญี่ปุ่น คงจะคุ้นเคยดีกับเรื่องของเจ้าหญิงที่เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ โดยคนตัดไผ่สองผัวเมียนำเจ้าหญิงน้อยมาเลี้ยงดูจนโตเป็นสาวน้อยหน้าตางดงาม เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป แต่ความงามของนางก็นำพาปัญหามาสู่ชีวิต เมื่อคหบดีและขุนนางทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งองค์จักรพรรดิเองก็หลงใหลอยากได้นางมาเป็นชายา

หลังจากได้ฟังคำร่ำลือเกี่ยวกับความงามอันหาที่เปรียบมิได้ของนางท้ายสุด นอกจากเจ้าหญิงจะตัดสินใจไม่แต่งงานกับใครเลยแล้วนั้น นางยังถูกรับกลับดวงจันทร์ไปในคืนเดือนเพ็ญที่นางมีอายุครบ 15 ปี อีกด้วย

ความโดดเด่นของ The Tale of the Princess Kaguya ที่เห็นได้ชัดตั้งแต่รูปบนใบปิดหนังและ trailer ก็คือ งานด้านภาพที่สวยงดงามและดูสบายตาประหนึ่งกำลังชมแกลเลอรีภาพวาดสีน้ำชั้นดี นอกจากนี้หนังยังแสดงความแยบยลในการใช้ลายเส้นลักษณะต่างๆ กัน เพื่อบอกสภาพจิตใจของเจ้าหญิง หากเป็นการแสดงอารมณ์ดีใจ เสียใจ รัก ผิดหวัง หรือเกรี้ยวกราด (อันเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์) ในช่วงเวลาตั้งแต่ตอนที่เจ้าหญิงยังเป็นสาวชนบท หรือในอิริยาบถส่วนตัวของนาง จะใช้ลายเส้นหยาบๆ หนักเบาไม่เท่ากัน ดูมีอิสระ ไร้กฎเกณฑ์ ทว่าเมื่อยามเจ้าหญิงต้องแสดงบทบาทสตรีสูงศักดิ์ที่มีวัตรปฏิบัติอันเรียบร้อยสมกุลสตรีในวัง ลายเส้นจะคมชัดและเสมอกัน ราวกับเป็นสัญลักษณ์แทนกรอบประเพณีที่ตีล้อมเจ้าหญิงไม่ให้ขยับตัวไปไหนได้ตามใจปรารถนา

ka3

ที่มารูป: http://images3.static-bluray.com

คนที่ติดตามผลงานของจิบลิมาหลายเรื่อง คงจะสังเกตได้ว่า แม้แนวหนังแต่ละเรื่องจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แทรกซึมอยู่ในหนังแทบทุกเรื่องของสตูดิโอนี้ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม คือการนำเสนอภาพชนบทอันเรียบง่ายทว่าสวยงาม หรือไม่ก็เป็นการรณรงค์ให้อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับภาพของสังคมเมืองที่ทันสมัย หรูหรา แต่ก็วุ่นวายและน่าอึดอัด รวมถึงการวิพากษ์แนวคิดแบบทุนนิยมอีกด้วย

แม้ Princess Kaguya จะเป็นเรื่องของญี่ปุ่นในสมัยศตวรรษที่สิบ แต่เราก็ยังคงเห็นประเด็นร่วมสมัยที่ยังคงอยู่ในสังคมอื่นๆ ที่ต่างวัฒนธรรมและภาษาด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องของครอบครัว โดยเฉพาะความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูก หน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อแม่ หรือกรอบความคิดบางอย่างที่จำกัดให้คนบางคนต้องใช้ชีวิตตามที่สังคมเห็นว่าดี พ่อในเรื่องนี้เป็นพ่อที่ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อความสุขของลูก เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่เล็กจนโตด้วยความรักและความห่วงใย แต่สิ่งที่พ่อบกพร่องอย่างเดียวคือ ลืมถามลูกไปว่า “ความสุข” ที่พ่อตั้งใจให้ลูกมีนั้น เป็น “ความสุข” เดียวกับที่ลูกต้องการหรือไม่ หลังจากถูกบีบคั้นจากพ่อและคนอื่นๆ รอบตัว ในที่สุดเจ้าหญิงก็ระบายความอึดอัดใจออกมาว่า ตนเองถูกส่งลงมาบนโลกนี้เพื่อ “ใช้ชีวิต” แต่สิ่งที่เผชิญอยู่ตอนนี้นั้นหาใช่ชีวิตที่แท้ไม่ ชีวิตที่แท้ควรเป็นชีวิตที่มีอิสระในการเลือกทางเดินของเราเอง เลือกสถานที่อยู่ที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจ เลือกคบหาเพื่อนและคู่ครองที่รักและห่วงใยเราจริงๆ โดยไม่เห็นเราเป็นเพียงวัตถุชิ้นหนึ่งที่จะหยิบวางตรงไหนก็ได้

ka2

ที่มารูป: http://www.cubecinema.com

การจากไปดวงจันทร์ตอนท้าย ส่วนตัวคิดว่าน่าจะตีความได้ทั้งนัยตรงและนัยประหวัด กล่าวคือ เจ้าหญิงถูกนำตัวกลับไปดวงจันทร์จริงตามที่นิทานเดิมว่าไว้ หรืออาจจะมองว่าเป็นการตายจากโลกนี้ไปก็ได้ (ซึ่งมักเป็นชะตากรรมของใครก็ตามที่ไม่อาจหาที่ทางบนโลกให้ตัวเองได้) ที่น่าสนใจก็คือ เราอาจคิดว่าการ “จากโลก” ไป จะทำให้ลืมความทุกข์ความเศร้าที่เคยประสบมาในช่วงมีชีวิตอยู่ได้

แต่สุดท้าย สิ่งหนึ่งที่เป็นสัจธรรมของมนุษย์ก็คือ หากจิตใจยังไม่พบความสงบ แม้จะสิ้นชีวิตบนโลกไป ก็ยากจะตัดอาวรณ์ให้ขาดได้จริงๆ

9/10 ครับ

ปล. น่าเสียดายที่รอบฉายเรื่องนี้น้อยมาก (แม้จะเพิ่งเข้าฉายเมื่อวันคริสต์มาสนี้เอง) ในเครือเอสเอฟเหลือที่ CentralWorld ที่เดียว แถมเป็นรอบดึกสุดๆ (ค้อนใส่เอสเอฟสามรอบ) ยังดีที่ลิโดยังคงมีอยู่หลายรอบ แต่เนื่องจากขี้เกียจเข้าเมือง เลยเลือกดูที่เมเจอร์รัชโยธิน (มีรอบเดียว) แทน

ปล. 2 ระบบ sound proof ของโรงเมเจอร์ควรปรับปรุงนะ อะไรคือการนั่งดูหนังที่เป็นฉากเงียบๆ ไม่มีบทพูดหรือดนตรีประกอบ แล้วได้ยินเสียงเพลง วันนี้วันดีปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์” จากนอกโรงเล็ดลอดเข้ามา

ปล. 3 เพลง Inochi no Kioku (いのちの記憶 – ความทรงจำแห่งชีวิต) ที่มาตอน end credit ไพเราะจับใจจนทำให้แทบทุกคนในโรงยังนั่งฟังต่อจนจบเพลง