โดย Average Joe

18 เมษายน 2013

ข้าพเจ้าคงเป็นหนึ่งในไม่กี่คน (เอ…หรือคนเดียวหว่า) ที่อ่านนิยาย “คู่กรรม” แล้วไม่ร้องไห้ ยิ่งช่วงท้ายๆ ออกจะรำคาญด้วยซ้ำ (ว่าจะคร่ำครวญอะไรนักหนา) ส่วนคู่กรรมเวอร์ชันดัดแปลงที่ได้ดูครั้งแรกคือ วรุฒ-จินตหรา ที่ซึ้งพอประมาณ (พี่แหม่มแสดงดีตามคาด) นอกจากนั้นก็ยังได้ดูเวอร์ชันอื่นๆ อีกนิดหน่อย เช่น ละครปี 2533 (ธงไชย-กมลชนก) ที่ทำเอาคนดูติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง จำได้ว่ามีกระดาษทิชชูยี่ห้อหนึ่งลงโฆษณากรอบใหญ่ในหนังสือพิมพ์เลยว่า “วันนี้คู่กรรมอวสาน มีกระดาษไว้เช็ดน้ำตาหรือยัง” หนังใหญ่ปี 2538 (ธงไชย-อาภาศิริ) จำได้ว่าอันนี้ก็เจาะภูมิหลังโกโบริเยอะอยู่ ขนาดย้อนไปตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นกันเลย แล้วก็คู่กรรม The Musical ปี 2546-2550 (เซกิ-ธีรนัยน์) ซึ่งเป็นคู่กรรมฉบับเดียวที่ทำให้ข้าพเจ้าอินและร้องไห้ได้ (บทดี แสดงดี ตัวละครชัด มีเหตุมีผล และเพลงเพราะมากกกกกก)

sunset_theme_01

ที่มารูป: http://p.isanook.com


ส่วนคู่กรรมเวอร์ชันนี้… จะเริ่มยังไงดีนะ ฮ่ะๆๆ เอาเป็นว่า เซอร์ไพรส์ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่มาแบบใสๆ ประหนึ่งแอนิเมชันจาก Studio Ghibli (คือถ้ามี Totoro ออกมาก็ใช่เลย) ซึ่งหากไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนก็คงเพลินไปกับมันได้ (บ้าง) จะว่าไปก็รับได้หมดนะ ไม่ว่าจะเป็นการลดอายุพระ-นาง ปรับบุคลิก ตัดเหตุการณ์และตัวละครบางตัวออก เพราะประเด็นสำคัญของการดัดแปลง ก็คือทำอย่างไรให้เรื่องเดิมไปอยู่ในสื่อใหม่ได้อย่างเหมาะสม (และหากใครจะทำคู่กรรมเป็นแอนิเมชันไปเลยก็ยังอยากดูนะ) อย่างไรก็ดี โทนเรื่องคู่กรรมในเวอร์ชันนี้ยังคงอิงของเดิมอยู่เป็นหลัก (ดรามา/สงคราม/ความรัก) การเปิดเรื่องด้วยฉากที่ว่าจึงดูผิดที่ผิดทางและแปลกแยกจากหนังทั้งเรื่องเอามากๆ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นและหนึ่งในความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ (ที่ดันมีเยอะ) ที่ทำให้ภาพรวมของหนังไม่ลงตัวเท่าที่ควร

ปัญหาหลักๆ ของหนังคือการเกลาบทและควบคุมการแสดง บทหนังดูมีปัญหาทั้งการวางโครงเรื่อง (การแบ่งสัดส่วนระหว่างของเดิมและของที่ใส่เข้าไปใหม่) และการเขียนบทพูด ทั้งที่ยาวเหยียดและไม่เป็นธรรมชาติ รวมถึงบทสนทนาแปลกๆ (ที่ไม่รู้ว่ามันแปลกเพราะการตัดต่อรึเปล่า) เช่น

“ถ้าผมตาย คุณคงจะดีใจมากสินะ”
“ใช่ เลาจะลอ”
(เอิ่ม -_- ตอบตรงคำถามมากหนู คนดูชักงงบริบท)

น้องริชชี่ นางเอกหน้าใหม่ กลายเป็นเป้านิ่งในการวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูตั้งแต่หนังยังไม่ฉาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าตา การพูด และการแสดง ซึ่งหากจะว่ากันซื่อๆ เราคงไปโทษน้องริชชี่คนเดียวไม่ได้ คงต้องไล่กันไปถึงการคัดตัว/การฝึกนักแสดงและการกำกับการแสดงด้วย เป็นที่รู้กันว่า แม่อังฯ เธอเป็น “สาวซึน” ตัวแม่ ในใจรักจะตาย แต่ปากแข็งไม่บอกเขาจนกระทั่งร่อแร่ในโมเมนต์สุดท้าย แต่สำหรับแม่อังฯ เวอร์ชันนี้ กลับดู “เหม่อ” และ “มึน” มากกว่า “ซึน” เสียอีก เดาว่าผู้กำกับอยากจะให้นักแสดงสื่ออารมณ์ทางสีหน้าและแววตามากกว่าทางคำพูด แต่อาจจะลืมไปว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงอย่างมากกับนักแสดงที่ยังอ่อนประสบการณ์ หลายฉาก (โดยเฉพาะฉากที่ถ่ายให้เห็นหน้าชัดๆ) ถูกปล่อยให้เงียบไปโดยหวังว่าคนดูคงเข้าใจได้เอง แต่ขอโทษเถอะ คนดูอย่างข้าพเจ้าเดาไม่ออกจริงๆ ว่าเธอกำลังคิดอะไรอยู่ บางฉากดูไปก็อึดอัดไป เหมือนเธอลืมบทแล้วเงียบไปเฉยๆ ด้วยซ้ำ 

แม้อะไรหลายๆ อย่างจะขาดๆ เกินๆ ไม่ลงตัว แต่อย่างน้อยก็เป็นคู่กรรมอีกเวอร์ชันที่ทำให้น้ำตาร่วงได้ โดยเฉพาะฉากปล้ำ ที่ไม่ใช่แค่การใช้กำลัง แต่แสดงถึงการ “ร้องขอความรัก” การต้องการรสสัมผัสทางกายและความอบอุ่นทางใจ โกโบริแม้จะอยู่ในเครื่องแบบทหารหาญ แต่ก็อ่อนไหวทางอารมณ์มาก และหากโกโบริจะเคยดู Notting Hill มาก่อน เขาคงขอยืมคำพูดของ Anna Scott มาบอกกับอังศุมาลินว่า “After all, I’m just a boy, standing in front of a girl, asking her to love him.” ต้องขอชมผู้กำกับว่า ใช้เวลากับฉากนี้ได้ดีมาก คุมการแสดงและอารมณ์ได้ลงตัว และไม่ทำให้ฉากนี้เป็นเพียงการ “เมาแล้วปล้ำ” เท่านั้น นอกจากฉากนี้แล้ว ฉากระเบิดสะพานก็ทำได้ดีมากเช่นกัน ทั้งสองฉากเริ่มจากการต่อปากต่อคำกันเล็กน้อยระหว่างคู่พระ-นาง จนพัฒนาไปสู่การแสดงออกด้วยภาษากายล้วนๆ ที่ไม่ต้องมีคำพูดใดๆ ก็สื่อถึงอารมณ์ของตัวละครได้ดี 

สิ่งที่ดีที่สุดของหนังคือ สองฉากที่กล่าวถึงไปเมื่อกี้ การแสดงของณเดชน์ (ที่มีดีมากกว่าการ “พูดไทยไม่ชัด”) และเพลงประกอบ “Hideko” ทั้งหมดนี้ดีจนน่าเสียดาย เสียดายที่ไม่ว่าณเดชน์จะแสดงดีขนาดไหน ก็ไม่สามารถอุ้มหนังทั้งเรื่องให้รอดไปได้ (นักแสดงฝ่ายไทยทุกคน จ้างมาพูดตามบทชัดๆ) เสียดายที่เพลงประกอบเพราะเกินอารมณ์ซึ้งเศร้าของหนัง (โดยทั่วไปเพลงประกอบหนังควรจะฟังเพราะขึ้น หากมีเรื่องราวในหนังช่วยส่งเสริม แต่กลายเป็นว่า เพลงนี้กลับเพราะกว่าหากแยกฟังเฉยๆ) หากผู้สร้างจะใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้มากกว่านี้ คู่กรรมฉบับนี้คงจะกลายเป็นหนังดรามาโรแมนซ์ชั้นดีอีกหนึ่งเรื่องได้เลย

ผู้กำกับ เรียว กิตติกร เคยทำให้เราทึ่งในความสามารถในการเล่าเรื่อง รวมถึงการควบคุมการแสดงแบบ “เอาอยู่” มาแล้วจากหนังเรื่อง “Goal Club เกมล้มโต๊ะ” (2544) จากนั้นก็ได้ชมผลงานของเขาอีกเพียงเรื่องเดียว คือ “พรางชมพู” (2545) ซึ่งกลับดูขาดๆ เกินๆ ทั้งในภาพรวมและรายละเอียด ส่วนดีวีดีหนัง “อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม” (2548) ก็นอนแอ้งแม้งฝุ่นจับอยู่บนชั้นนานแล้ว ไม่ได้หยิบมาดูเสียที พอรู้ว่าเขาคือผู้กำกับคู่กรรมเวอร์ชันใหม่ จึงอยากพิสูจน์ว่า หวยคราวนี้จะออกมาเป็นแบบ “เกมล้มโต๊ะ” หรือ “พรางชมพู” กันแน่ โชคดีที่ผลออกมาแบบกลางๆ คือมีทั้งส่วนดีที่น่าชมเชย และส่วนขาดๆ เกินๆ ที่ยังต้องปรับปรุงกันต่อไป

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกคุณเรียวว่า
“คุณมีหนัง (หลายเรื่อง) ของคุณ (แต่) ผมดูเกมล้มโต๊ะเรื่องเดียว ก็พอแล้ว”

6/10 ครับ (ส่วนณเดชน์ เอา 9/10 ไปเลยน้อง)

ปล. นี่เป็นอีกครั้งที่ต้องลุกหนีจากที่นั่งเดิมไปนั่งอีกที่ เพราะคราวนี้คนนั่งข้างๆ พาลูกสองคนมาดูด้วย เจ้าลูกชายก็ชอบพูดนำโกโบริ (นัยว่าจำได้จากตัวอย่างหนัง) ส่วนลูกสาวก็ยังอ่านซับไตเติลไม่เป็นหรืออะไรไม่ทราบ พอเขาพูดภาษาญี่ปุ่นกันในหนังก็ถามทันทีว่า “เขาพูดว่าอะไรอ่ะ” (กลอกตา/ขมวดคิ้ว/ถอนหายใจเบาๆ แล้วเปลี่ยนที่นั่งทันที)
ปล. 2 ตอนโคลสอัพหน้าอังศุมาลินในฉากแต่งงาน แอบตกใจเล็กน้อย พลางคิดว่า “พ่อดอกมะลิ เจ้าสาวพ่อคงไม่ได้ชื่อฮิเดโกะล่ะมั้ง นี่มันแม่หนู ซาดาโกะ ชัดๆ”
ปล. 3 เพิ่งคิดได้ว่า คงจะฮามาก ถ้าท้ายเรื่อง อังศุมาลินจะบอกวนัสว่า “พี่รู้มั้ย ฉันมารอพี่ที่ท่าน้ำทุกวันเลยนะ”