โดย สิริอิงค์

ที่มารูป: facebook.com/sermkhunkunawongofficial

ปิดทองหลังพระ (สำ) ก. ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า. (จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

เราได้ยินสำนวน “ปิดทองหลังพระ” กันเสมอ เมื่อมีคนพูดถึงการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เราหมั่นปิดทองหลังพระไปเรื่อยๆ แม้ไม่มีใครเห็นก็ไม่เป็นไร

ในขณะที่เราตั้งใจปิดทองนั้น ต้องไม่ลืมว่า เราจะปิดทองไม่ได้เลย ถ้าไม่มีทอง

กว่าจะมาเป็นทองคำเปลวที่หลังพระได้นั้น แรกทีเดียว ต้องหาทองคำบริสุทธิ์ 99.99% มาเสียก่อน จากนั้นนำไปรีดจนเป็นแผ่นบาง ใช้กรรไกรตัดเป็นแผ่นเล็กๆ นำไปใส่กระดาษแก้ววางซ้อนกัน นำไปตีด้วยค้อนทองเหลืองประมาณ 2-3 ชั่วโมง นำทองใส่ลงกระดาษแก้วแผ่นใหญ่ ตีต่อ 6-7 ชั่วโมง จนได้แผ่นบางที่สุด จากนั้นนำแผ่นทองไปใส่ในกระดาษสา ใช้ไม้ไผ่ที่ทำขอบให้คมตัดแผ่นทอง นำใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ ทีละแผ่นๆ เพื่อนำไปใช้ต่อไป

การทำทองคำเปลวนั้นไม่ได้ง่ายเลย ต้องใช้เวลา ความพยายาม ความสามารถเฉพาะตัวบุคคล การทำงานร่วมกันเป็นทีม ความละเอียดรอบคอบ ความประณีต เพื่อให้ได้แผ่นทองคำเปลวที่สมบูรณ์ ส่งถึงมือผู้ที่จะนำทองคำนั้นไปปิดทองที่หลังพระ

ทองที่หลังพระ เมื่อปิดไปมากๆ บ่อยๆ ด้วยความเพียร วันหนึ่งข้างหน้า ทองคำที่ได้ปิดไว้ ก็จะล้นออกมาให้คนให้เห็น และรับรู้ได้ว่า ใครเป็นผู้ที่ปิดทอง

แต่คนที่อยู่ในทีมงานทำทองนั้น ไม่มีโอกาสใดเลยที่ผู้อื่นจะรับรู้ได้

ถึงแม้ไม่มีใครรับรู้ ไม่มีใครเห็น อย่างน้อย ผู้ที่ปิดทองนั้นก็ได้เห็น ได้รับรู้ถึงความสำคัญของคนทำทอง

และที่สำคัญที่สุด ทองเหล่านั้นจะทำให้องค์พระงดงามตราบนานเท่านาน นั่นคือสิ่งยืนยันว่า ผู้ทำทองคำเปลวเหล่านั้นมีอยู่จริง

(เรื่องนี้ขออุทิศให้ช่างทำทองทุกท่าน ขอบคุณที่ทำงานเหนื่อยหนักเพื่อให้ผู้ปิดทองมีทองคำไปใช้)

 

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)