ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 082; ออฟฟิศให้โควตาไปดู “พรจากฟ้า” ที่โรงภาพยนตร์ SF ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ นับเป็นหนังเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนที่ดิฉันยอมดูเป็นเรื่องแรก เพราะมั่นใจว่าหนังของค่ายนี้จะไม่ทำร้ายดิฉันมากเกินไป

pohn-jak-fah

ที่มารูป: http://f.ptcdn.info

“ค่ายนี้” ที่ว่า ก็คือค่าย GDH 559 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากการยุบค่าย GTH อันเป็นการร่วมทุนระหว่างจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (G) ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (T) และหับ โห้ หิ้น บางกอก (H) เหตุที่ต้องยุบก็เนื่องจาก ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นต์แยกออกไป ก็เลยเหลือแต่จีเอ็มเอ็มฯ กับหับฯ มาเปิดค่ายใหม่ร่วมกัน มีบุคลากรของค่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำกับหลายคนร่วมถือหุ้นด้วย จึงว่ากันว่า GDH ย่อมาจาก GMM Grammy + Director + Hub Ho Hin แต่เจ้าของค่ายเขาอธิบายว่า GDH ย่อมาจาก Gross Domestic Happiness (แปลตรงตัวว่า ความสุขมวลรวมภายในประเทศ) หมายถึง หน่วยวัดความสุขของผู้ชมและคนทำงาน ส่วน 559 เป็นเลขที่ตรงกับวันเปิดทำการ (5 มกราคม 2559) และจำนวนผู้ถือหุ้นของเขา (59 คน) หลังจาก GDH เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก็มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “แฟนเดย์…แฟนกันแค่วันเดียว” ส่วนเรื่องที่สองก็ได้แก่ “พรจากฟ้า” นี่เอง

เจ้าของความคิดแรกเริ่มในการทำหนังเรื่องนี้ คือพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง และผู้บริหารคนสำคัญของค่ายมาตั้งแต่ยังเป็น GTH นัยว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว พี่แกได้อ่านบทความเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” ว่าเป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทยในปี พ.ศ. 2495 แกรู้สึกว่าการที่พระมหากษัตริย์แต่งเพลงเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนนี่คงไม่มีในประเทศไหนแล้วล่ะ แล้วเพลงนี้ก็อยู่ในชีวิตของคนไทยมานาน ได้เปิดและร้องกันสนุกสนานทุกๆ ปีใหม่ นับว่าเป็นของขวัญที่มีคุณค่ามาก แกก็เลยเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำหนังเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ทุกคน โดยเริ่มโปรเจ็กต์ตั้งแต่ต้นปี 2559 กำหนดฉายวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ไม่ได้คาดคิดเลยว่าในวันที่หนังเข้าฉาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว

พรจากฟ้า เป็นหนังสั้น 3 เรื่องที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงกันด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง หนึ่งคือเพลงพระราชนิพนธ์ สองคือตัวละคร สามคือช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เรื่องแรกเกิดในเดือนธันวาคม 2557 เรื่องที่สองเดือนธันวาคม 2558 เรื่องที่สามเดือนธันวาคม 2560 (ข้ามเดือนธันวาคม 2559 ไป #น้ำตาไหลพราก) และสรุปจบเรื่องทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2561 หนังเรื่องนี้มีผู้กำกับทั้งหมด 4 คน ให้ผู้กำกับเลือกเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชอบ แล้วเอาไปสร้างเป็นหนังสั้น ใช้ชื่อเพลงเป็นชื่อหนังในส่วนของตัวเองเลย เมื่อเอามารวมกัน ก็ได้ออกมาเป็นหนังแนวถนัดของค่าย คือฟีลกู๊ด แต่หนักกันไปคนละทาง เรื่องแรก Romantic เรื่องที่สอง Drama เรื่องที่สาม Comedy #ชนะเลิศศศ

เรื่องแรก “ยามเย็น” กำกับโดย ชยนพ บุญประกอบ (ผกก. Suckseed ห่วยขั้นเทพ) และ เกรียงไกร วชิรธรรมพร (ผกก. ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น) เนื่องจากสองคนนี้ชอบเพลงยามเย็นเหมือนกัน หนังเป็นเรื่องของหนุ่มสาวที่เพิ่งรู้จักกันในเช้าวันหนึ่ง ได้เรียนรู้กันและกันผ่านสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด แล้วเปิดเผยความรู้สึกที่มีต่อกันในเย็นย่ำวันนั้น โดยมีเพลง “ยามเย็น” เป็นสื่อ (โพล้เพล้คือช่วงเวลาพิเศษ – ดิฉันกล่าวไว้เองในเบี้ยน้อยฯ ตอนที่ 080 นะคะ #ขายของค่ะ)

บทหนังเรื่องนี้ไม่ธรรมดา เกิดมาดิฉันก็เพิ่งจะเคยได้ยินคำพูดที่สุดแสนจะ ‘น้ำเน่า’ แต่ ‘เข้าปาก’ ได้ขนาดนี้ นี่ยังทึ่งไม่หายกับความสามารถของผู้กำกับและนักแสดงทั้งสอง ได้แก่ นาย – ณภัทร เสียงสมบุญ กับ วี – วิโอเล็ต วอเทียร์ เด็กสองคนนี้เป๊ะเว่อร์วังอลังการมากกก คือถ้าแสดงน้อยไปก็จะเชยและแป้ก ถ้ามากไปก็จะเอียนถึงขั้นคนดูอาจเรียกหากระโถน แต่หนังเรื่องนี้มันพอเหมาะพอดีไปหมดทุกอย่าง ความหวานและความฮาผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวน้องนาย #ป้าไม่ลำเอียง #ป้าเป็นกลางมากข่าาาาา

เรื่องที่สอง “Still on My Mind” กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร (ผกก. คิดถึงวิทยา) เป็นเรื่องของหญิงสาว (แสดงโดย มิว – นิษฐา จิรยั่งยืน) ซึ่งต้องมาดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ แทนแม่ที่เพิ่งเสียชีวิตไป เมื่อเธอได้รู้ว่าเพลง Still on My Mind เป็นเพลงแห่งความรักความหลังของพ่อกับแม่ เธอจึงใช้เพลงนี้เป็น ‘ดนตรีบำบัด’ เพื่อเยียวยาทั้งพ่อและตัวเอง ตลอดจนเชื่อมความสัมพันธ์ที่กำลังจะแตกสลายของครอบครัว โดยได้รับความช่วยเหลือจากช่างจูนเปียโนหนุ่ม (แสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์) ซึ่งก็ถูกดนตรีชักนำให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้อย่างแนบแน่น

ในบรรดาหนังสั้นทั้งสามเรื่อง ดิฉันว่าเรื่องนี้มีเอกภาพที่สุดในการผูกเรื่องและแนวคิดหลักให้สอดประสานไปกับเพลง ยิ่งเมื่อได้การแสดงที่ทั้งเป็นธรรมชาติและทุ่มเททั้งใจของมิว นิษฐา กับผู้ที่แสดงเป็นคุณพ่อ (คือใครก็ไม่รู้แหละ รู้แต่เล่นดีมาก) ก็ยิ่งทำให้หนังถ่ายทอดความเป็นชีวิตได้อย่างสมจริงมากขึ้นอีก ความสุขและความเศร้าผสมผสานกันอย่างลงตัว ความฮาก็มีมาพร้อมซันนี่ ทำเอาดิฉันต้องยิ้มทั้งน้ำตา เมื่อมองทะลุถึงความสุขและความเศร้าของตัวเองในยามนี้ แล้วจิตก็ประหวัดไปถึงคนที่ยังคงอยู่ “ในดวงใจนิรันดร์” อย่างไม่อาจหักห้ามได้

เรื่องที่สาม “พรปีใหม่” พี่เก้งกำกับเอง เป็นเรื่องของอดีตร็อคเกอร์หนุ่มที่ยอมละทิ้งความฝันทางดนตรี มาเป็นพนักงานออฟฟิศเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่กลับมาเจอกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่รวมตัวกันเล่นดนตรีด้วยใจรัก แม้ฝีมือจะอ่อนด้อย และต้องเล่นอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะไม่มีห้องซ้อมเป็นของตัวเอง เขาจึงตัดสินใจโดดเข้าร่วมความฝันกับคนเหล่านั้น แล้วซุ่มซ้อมเพลง “พรปีใหม่” เป็นของขวัญแก่บอร์ดบริษัท เพื่อโน้มน้าวให้บอร์ดอนุมัติงบประมาณสร้างห้องซ้อมดนตรีในออฟฟิศ เป็นของขวัญอันนำมาซึ่งความสุขแก่พนักงานทุกคน

หนังสั้นเรื่องนี้มี เต๋อ – ฉันทวิชช์ ธนะเสวี กับ หนูนา – หนึ่งธิดา โสภณ รับบทนำ ทั้งสองมีฝีมือและจังหวะจะโคนที่ดีในการแสดงอยู่แล้ว บทบาทในเรื่องนี้จึงถือว่าชิลๆ แต่ที่น่าสนใจคือนักแสดงประกอบชุดใหญ่ของเรื่องมากกว่า บรรดาเอ็กซตราของหนังเรื่องนี้เลิศม้ากกกก ทุกฉากที่เป็นฉากหมู่มวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากรวมวงเล่นดนตรี ถ่ายเจาะตรงไหนฮาตรงนั้น ความบ้าและความฝันผสมผสานกันอย่างลงตัว จนสัมผัสได้ถึงความสุขที่มีอยู่จริงในโลกใบนี้ เป็นความสุขที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเงินได้ เพราะมันมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง

ผ่านไป 50 วันแล้วสำหรับความสูญเสีย ในใจของหลายๆ คนคงจะยังมีหลุมลึกดำมืดที่ถมยังไงก็ไม่มีวันเต็ม และแต่ละคนก็คงจะมีวิธีจัดการกับหลุมนั้นแตกต่างกันไป

พรจากฟ้า” เป็นหนังที่บอกว่า ‘คนที่เรารัก’ ไม่ได้จากเราไปไหนเลย แม้ไม่ได้เห็นด้วยตา แต่เขาก็ยังอยู่…อยู่ในสิ่งต่างๆ ที่เขาทิ้งไว้ให้ ในทุกๆ ถ้อยคำที่เขาเคยบอก ในทุกๆ งานที่เขาเคยสร้าง ในทุกๆ เพลงที่เขาเคยร้อง และในทุกๆ ความทรงจำที่เคยมีร่วมกัน

หาก “พรจากฟ้า” มีความมุ่งหมายที่จะให้เราซาบซึ้งในคุณค่าของเพลงพระราชนิพนธ์ อันเป็นหนึ่งใน ‘ของขวัญ’ ที่เราได้รับพระราชทานมานานแสนนาน และทำให้เราได้ระลึกถึงพระองค์ท่านในฐานะ ‘นักสร้างสรรค์’ ผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนมาโดยตลอด แม้เมื่อจากไปแล้วก็ยังทิ้งสิ่งดีๆ ไว้ในชีวิตของทุกคนมากมาย ไม่ว่าเราจะสังเกตเห็นหรือไม่ก็ตาม

หนังเรื่องนี้ก็ได้บรรลุจุดมุ่งหมายนั้นแล้ว โดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงพระองค์ท่านแม้แต่คำเดียว

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 135

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

1 ธันวาคม 2016