โดย Average Joe

4 เมษายน 2013 

ไม่ว่าใครจะพูดถึงมุกตลกรั่วๆ ที่ตัวละครปล่อยกันเรี่ยราดอยู่ทุกชั่วขณะในหนัง “พี่มาก…พระโขนง” มากขนาดไหน แต่ความซึ้งโรแมนติกในตอนท้ายกลับโดดเด่นและสร้างความประทับใจได้เกินคาดมากกว่าความฮาป่วงที่ผ่านมาเกือบทั้งเรื่องเสียอีก คงต้องให้เครดิตแก่ทีมผู้สร้างที่กล้าตีความตัวละครนายมากใหม่หมด “พี่มาก” ในเรื่องตำนานแม่นาคเวอร์ชันนี้แม้จะดูแอ๊บแบ๊ว งุ้งงิ้ง ซื่อๆ บื้อๆ และขาดไหวพริบในบางครั้ง ผิดกับภาพลักษณ์ชายชาติทหารที่สง่างามและพึ่งพาได้ของ “พ่อมาก” ในเรื่องแม่นาคเวอร์ชันก่อนๆ แต่หากจะวัดเรื่องความรักเมียแล้วล่ะก็ “พี่มากมาริโอ้” ก็น่าจะติดอันดับต้นๆ อย่างไม่น่าสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเอาใจใส่ เป็นห่วงเป็นใย รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่คนรักกันควรจะมีให้อีกฝ่าย นั่นคือ “เข้าใจ” และ “ยอมรับ” และหากจะนับแต้มเฉพาะสองปัจจัยหลังสุด พี่มากเวอร์ชันนี้คงได้คะแนนเต็มสิบแน่นอน

เมื่อเรารักใครสักคน เราควร “เข้าใจ” ว่าคนที่เรารักนั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบ เขาหรือเธอย่อมมีความบกพร่องมากบ้างน้อยบ้างตามธรรมดาของมนุษย์ทั่วๆ ไป และสิ่งที่เราควรทำก็คือ “ยอมรับ” ข้อบกพร่องนั้นๆ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของคนที่เรารัก และต้องไม่นำข้อบกพร่องนั้นๆ มาขยายให้ใหญ่โตหรือร้ายแรงยิ่งขึ้น ตรงกันข้าม หากสามารถมองให้เป็น “เสน่ห์” หรือ “จุดเด่น” ของเขาได้ เราก็จะอยู่ร่วมกับข้อบกพร่องนั้นๆ ได้โดยไม่มีปัญหา เช่นพี่มากที่ยังรักอีนาคอยู่ไม่แปรเปลี่ยน แม้จะรู้ว่า “อีอ้าคเอ็นอี๋” แล้วก็ตาม

อีกประเด็นที่น่าสนใจของหนังแม่นาคเวอร์ชันนี้ก็คือ ปฏิบัติการ “ล้างชื่อ” ให้กับแม่นาค ในฐานะผีดุจอมพยาบาทแห่งย่านพระโขนง ที่ตามราวีไอ้อีทุกคนในละแวกใกล้เคียงที่มา “สาระแน” เรื่องของนางและผัว ในเวอร์ชันนี้ เราจะเห็นว่า การเป็นผีของแม่นาคก็ไม่ต่างอะไรกับภาพลักษณ์ที่ตายตัวหรือ stereotype ที่เรามักจะมีต่อคนบางกลุ่ม และพร้อมที่จะตีตรา (label) เขาให้มีคุณสมบัติบางอย่าง (ทั้งดีและไม่ดี) ตามไปด้วย เช่น คนอ้วนต้องเป็นพวกตะกละตะกราม กินจุ ผู้หญิงหน้าอกใหญ่ต้องชอบโชว์หรือแต่งตัวโป๊ๆ คนใส่แว่นต้องเป็นพวกเด็กเรียน สนใจแต่ตำรา คนแต่งตัวมอซอต้องเป็นพวกขี้ขโมยหรือติดยา เกย์หรือกะเทยทุกคนต้องชอบไล่จับผู้ชายหุ่นล่ำๆ หรือคนที่ชอบทำบุญ เข้าวัดเข้าวา ต้องเป็นคนดีศรีสังคม ฯลฯ โดยลืมไปว่า คนเราทุกคนมีความซับซ้อนมากกว่าภาพด้านเดียวที่เราเห็น ในกรณีนี้คือ แม่นาคเป็นผี แปลว่าแม่นาคต้องชอบหลอกหลอนและฆ่าคนทั่วไป ฉะนั้น พอมีใครคนหนึ่งตาย ชาวบ้านที่เหลือจึงพร้อมจะเชื่อว่า “ผีอีนาคมันเอาเข้าแล้ว” โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยหรือความเป็นไปได้อื่นๆ อีกเลย เมื่อความจริงปรากฏ ทุกคนจึงเห็นว่า แม้นาคจะตายเป็นผีไปแล้ว ก็ยังหนีการตีตราโดยอคติของคนอื่นๆ ไปไม่พ้น

หลังจากความสำเร็จของ “คนกลาง” (ใน “สี่แพร่ง”) และ “คนกอง” (ใน “ห้าแพร่ง”) หนังยังเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับประเด็น “ใครผี? ใครคน?” อยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็นับว่าเป็นมุขที่ยังเวิร์กอยู่ (และดูเหมือนจะกลายเป็น “ลายเซ็น” ของผู้กำกับไปเสียแล้ว) เพียงแต่บางทีก็รู้สึกว่า “เออ พวกเอ็งตบมุขสรุปจบได้แล้วนะ นานกว่านี้จะเฝือเอาได้” โชคดีที่ผู้กำกับมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากพอที่จะไม่ต่อมุขนี้ให้ยืดเยื้อเกินความจำเป็น และพาหนังไปสู่ประเด็นสำคัญถัดไปในเรื่องได้อย่างแนบเนียนและสวยงาม

ส่วนเรื่อง Anachronism หรือความผิดยุคผิดสมัยที่ปรากฏอย่างชัดเจนในเรื่อง ก็คงไม่เป็นประเด็นเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนผู้สร้างก็ตั้งใจเอาสิ่งนี้มาเป็นจุดขายของหนังด้วยซ้ำ และความเป็น “แฟนตาซี” ของหนัง ก็ทำให้ความผิดยุคผิดสมัยที่ว่า กลายเป็นตัวเรียกเสียงฮาและอารมณ์ร่วมของผู้ชมให้มากขึ้นด้วย

peemak

ที่มารูป: http://news.tlcthai.com

และเมื่อดูหนังจบ ความรักซื่อๆ ของพี่มากเวอร์ชันนี้ที่มีต่ออีนาค ก็ทำให้นึกถึงประโยคต่อไปนี้จากปากของผู้ชายอีกคน ที่เคยทำให้เราซาบซึ้งกับความรักอันยิ่งใหญ่ของเขามาแล้วเมื่อหลายปีก่อน 

“I’m not a smart man… but I know what love is.”
Forrest Gump (1994)

8/10 ครับ ^_^

ปล. หนังเรื่องนี้ได้เรต น 15+ แต่มีผู้ปกครองมากกว่าสองรายหอบหิ้วเอาลูกน้อยตัวจิ๋วเดียวเข้ามาดูด้วย ระหว่างหนังฉาย เด็กหญิงแถวหลังก็พูดออกมาพอให้ได้ยินว่า “แม่จ๋า หนูกลัวผี” คุณแม่ผู้ใจดีจึงตอบคุณลูกสาวไปว่า “นี่มันไม่ใช่หนังผีนะลูก นี่มันหนังตลกต่างหาก” อืม เป็นสถานการณ์หนึ่งที่ชวนให้กลอกตาพลางขมวดคิ้วยิ่งนัก