โดย Average Joe

5 กันยายน 2014

จากหนังตัวอย่าง Lucy น่าจะเป็นเรื่องของหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่งที่โดนทารุณกรรม และด้วยอุบัติเหตุบางอย่างทำให้เธอได้รับพลังพิเศษ และจากนั้น หญิงสาวผู้ถูกกระทำก็เดินหน้าตาม “เอาคืน” กลุ่มคนที่เคยทำร้ายเธอ (แวบหนึ่งในตอนต้นเรื่องมีกลิ่นอายจางๆ ของ La Femme Nikita ที่เคยทำให้ผู้กำกับ ลุค เบสซงมีชื่อดังก้องโลกมาแล้ว)

lucy

ที่มารูป: http://static.srcdn.com

ในหนัง ศาสตราจารย์นอร์แมน (มอร์แกน ฟรีแมน) เสนอทฤษฎีที่น่าสนใจเกี่ยวกับศักยภาพการทำงานของสมองมนุษย์ เขาบอกว่า คนปกติใช้สมองทำงานเพียง 10% เท่านั้น และตั้งสมมติฐานว่า สมองเพียง 10% ยังสร้างสรรค์อะไรได้มากมายขนาดนี้ หากเราสามารถพัฒนาการทำงานของสมองให้มากขึ้นกว่านี้ได้ โลกเราคงจะมีอะไรที่มหัศจรรย์กว่านี้แน่นอน และบังเอิญว่าลูซี่ (สการ์เล็ต โจแฮนสัน) ก็เป็นมนุษย์ที่สามารถทำให้สมมติฐานที่ว่าเป็นจริงได้

ทว่าลูซี่ไม่ได้สนใจเรื่องการล้างแค้นหรือโต้กลับฝ่ายผู้ร้ายอย่างที่เราคาดหวังไว้ ท่ามกลางฉากแอ็กชันวินาศสันตะโรอันน่าตื่นเต้น หนังกลับพุ่งประเด็นไปที่ปรัชญาเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ จุดประสงค์และความหมายของการเกิดมาบนโลกนี้ รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เราทำและเป็นหนึ่งในช่วงชีวิตของเราเอง และสิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของหนังก็คือ “ความรู้” โดยเฉพาะความรู้และประสบการณ์ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

แม้ว่าคนทั่วไปจะใช้สมองเพียง 10% ตามที่หนังบอก แต่ใช่ว่าสมองส่วนที่เหลือของเราจะไร้ประโยชน์ เราใช้สมองส่วนที่เหลือไปกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ เราจะเห็นว่า ทุกครั้งที่พลังของลูซี่เพิ่มขึ้น ความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ของเธอก็จะลดน้อยลงไปด้วย นั่นหมายความว่า การ “รู้” มากขึ้น ต้องแลกมาด้วยการ “รู้สึก” น้อยลง แต่สิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์คือการได้ “รู้สึก” มิใช่หรือ เรายังจะเรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้อยู่หรือไม่ หากเราไม่รู้สึกปีติยินดีเมื่อได้พบสิ่งอันเป็นที่รัก ไม่รู้สึกเศร้าเสียใจเมื่อสูญเสีย ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อโดนทำร้าย ไม่รู้สึกหวาดกลัวเมื่อมีภัยคุกคาม ไม่รู้สึกสงสารหรือเห็นใจเมื่อผู้อื่นตกทุกข์ได้ยาก ไม่รู้สึกโกรธแค้นเมื่อเห็นความอยุติธรรมในโลก ฯลฯ

แน่นอนว่าความรู้สึกอันหลากหลาย และความอ่อนไหวไม่แน่นอนนี้ อาจทำให้เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ในโลกนี้มีใครบ้างที่สมบูรณ์แบบ บางทีความไม่สมบูรณ์แบบต่างหากที่เป็นความงดงามที่แท้จริงของชีวิต เราเกิดมา เราเรียนรู้ เราทำสิ่งต่างๆ มีทั้งที่ถูกต้องและผิดพลาด แต่เราก็สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นได้เช่นกัน และด้วยความไม่สมบูรณ์แบบของมนุษย์นี่เองที่ทำให้พวกเราต้องถ่อมตน เพราะไม่มีใครเก่งกาจไปเสียทุกด้าน เราจึงต้องเคารพตัวตนของผู้อื่น ในฐานะเพื่อนร่วมโลกกับเรา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ด้วยกันหรือไม่ก็ตาม

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แม้จะถูกนำมาใช้เป็นพล็อตหลักของเรื่อง แต่ทฤษฎีที่ว่ามนุษย์เราใช้สมองเพียง 10% ก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่ยืนยันว่าสมมติฐานนี้เป็นความจริง แต่กระนั้น ทฤษฎีนี้ก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทะเยอทะยาน มีจินตนาการกว้างไกล พยายามแสวงหาสิ่งที่ตัวเองไม่มี และขยายข้อจำกัดของตนเองออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะมนุษย์ที่ชื่อ ลุค เบสซง 

หลังจากสร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนดูตะลึงมาแล้วใน The Fifth Element (หนังสนุกอีกเรื่องที่ดันมาเป๋เอาตอนจบ 555) เบสซงแสดงความทะเยอทะยานอีกครั้ง ด้วยการพยายามทำให้ Lucy ก้าวจากหนังแอ็กชัน-ไซไฟทั่วไป สู่หนังแอ็กชันแทรกปรัชญาลุ่มลึก แม้จะยังไม่ถึงระดับที่ The Matrix (1999) หรือ Wanted (2007) เคยทำได้ แต่อย่างน้อย Lucy ก็ยังมีความบันเทิงตามมาตรฐานของเบสซง ฉากแอ็กชันมันระห่ำ ภาพ CG ที่งามล้ำ และดนตรีประกอบอันทรงพลังจาก Eric Serra (composer คู่บุญของเบสซง) ทำให้เรานั่งติดเก้าอี้ได้ตลอดเรื่อง (หากไม่นับว่า เสน่ห์ของน้องสการ์โจก็เพียงพอที่จะดึงดูดเราได้อยู่แล้ว)

โดยสรุป ไม่ว่าจะดูเอามันแบบหนังแอ็กชัน หรือจะดูแบบขบคิดตีความอย่างหนังปรัชญา Lucy ก็เป็นความบันเทิงชั้นดีเรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำให้ดูกัน แม้หนังจะมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อยู่ประปราย ก็กรุณามองข้ามมันไปเถิด

เพราะในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบมิใช่หรือ

8/10 ครับ ^_^

ปล. 1 นอกจากจะเป็นชื่อของตัวละครหลักแล้ว Lucy ยังเป็นชื่อของมนุษย์วานร Australopithecus เพศหญิงคนแรกของโลกอีกด้วย (จากการวิเคราะห์โครงกระดูกที่ขุดพบในเอธิโอเปีย คาดว่า Lucy มีอายุประมาณ 3 ล้านปี)
ปล. 2 ภาพมุมกว้างของไทเปในหนัง ช่างสวยเหลือเกิน
ปล. 3 แนะนำหนังที่ (บางส่วน) คล้ายคลึงกับ Lucy ครับ 2001: A Space Odyssey (1968), Gattaca (1997), Limitless (2011), Léon (1994)
ปล. 4 ถ้าบอกว่า Lucy เป็นภาคก่อน (Prequel) ของ Her มันคงเป๊ะมาก อิอิ