โดย ตาชู สุรินทร์

หากกล่าวถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ Gross Domestic Product, GDP อันหมายถึง รายจ่ายเพื่อบริโภค + รายจ่ายเพื่อการลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายของต่างประเทศที่ซื้อสินค้าผลิตในประเทศไทย ในกลุ่มประเทศอาเซียน คนไทยมีรายได้เฉลี่ยเป็นอันดับที่ 4 ในขณะที่ค่าแรงงานเป็นอันดับที่ 3 ของตลาดอาเซียน

ประเทศ ประชากร ต่อหัว/ต่อปี ต่อวัน ต่อเดือน
บรูไน 428,146 80,335$ 1,800 บาท 55,000 บาท
สิงคโปร์ 5,469,700 78,762$ 2,000 บาท 60,000 บาท
มาเลเซีย 30,018,242 18,509$ 270 บาท 8,100 บาท
ไทย 65,000,000 16,706$ 300 บาท 9,000 บาท
อินโดนีเซีย 248,216,193 11,135$ 230 บาท 7,000 บาท
ฟิลิปปินส์ 103,000,000, 4,923$ 300 บาท 9,000 บาท
เวียดนาม 89,693,000 4,001$ 95 บาท 2,850 บาท
เขมร 15,100,000 2,470$ 75 บาท 2,230 บาท
ลาว 6,695,166 1,509$ 80 บาท 2,400 บาท
พม่า 51,486,253 1,416$ 110 บาท 3,300 บาท

 

โดยรายได้เหล่านี้มาจากภาคอุตสาหกรรม 39% ภาคการขนส่งและการค้า 13% ภาคการสื่อสาร 9.8% ภาคเกษตรกรรม 9% ภาคการก่อสร้างและเหมืองแร่ 4.3% ภาคอื่นรวมภาคการเงิน การศึกษา โรงแรมร้านอาหาร 24.9% แต่หากพิจารณาในรายละเอียดจะทราบว่า คนไทย 40% (27 ล้านคน) มีรายได้ เฉลี่ยในปัจจุบัน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,644 บาท จำนวน 4.9 ล้านคน และรายได้เฉลี่ย 3,175 บาท ต่อเดือน อีกจำนวน 5.6 ล้านคน ในขณะที่อีก 4 ล้านคนอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตได้ค่าตอบแทน 10,161 บาทต่อเดือน ต่ำสุด 4,416 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ภาวะสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลง คือ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2540 ในปีพ.ศ. 2533 แรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรมีสูงถึงเกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดคือ 63.4% แต่ลดลงเหลือเพียง 41.1% ในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งในปีพ.ศ. 2541 แรงงานในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรมีจำนวนเท่าๆ กัน แต่พอปีพ.ศ. 2542 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แรงงานนอกภาคเกษตรเริ่มมีมากกว่า เพราะแรงงานเข้าไปทำงานในภาคบริการและภาคการผลิตเพิ่มขึ้น การขายส่ง ขายปลีก โรงแรม ภัตตาคาร การขนส่งใกล้เคียงกัน โดยประชากรกลุ่มอายุ 15-24 ปีมีแนวโน้มที่จะทิ้งงานภาคเกษตรมากขึ้น

ปัจจุบันไทยมีสถานประกอบการอุตสาหกรรม 435,918 แห่ง มีลูกจ้างผู้ประกันตน 10,314,551 คน มีอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า-เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 24.9 และ 17.1 ตามลำดับ และการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้

ส่วนใหญ่ 398,310 แห่ง หรือร้อยละ 93.9 เป็นสถานประกอบการที่มีคนทำงาน 1-15 คน ที่มี 16 คนขึ้นไปมีจำนวน 25,886 แห่ง และ 51-200 คนมีจำนวน 7,881 แห่ง ขณะที่สถานประกอบการที่มีคนทำงาน 26-30 คน มีเพียง 2,376 แห่งเท่านั้น และสถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นที่ประกอบการที่มีอายุการดำเนินการ 10-19 ปีและ 20-29 ปี

ประชากรภาคการเกษตรมี 22.7 ล้านคน เท่ากับ 35% ของประชากรทั้งประเทศ โดยประชากรภาคการเกษตรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 10% ของประชากรในภาคการเกษตร ซึ่งรัฐจะต้องดูแลและอาจต้องมีสวัสดิการเพิ่ม ในจำนวนประชากรภาคการเกษตรประมาณ 5.7 ล้านครัวเรือนนี้มีพื้นที่ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม 149.24 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 45.54 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ยังประสบปัญหาหนี้สินและความยากจน จากข้อมูลปีพ.ศ. 2553 พบว่าประชากรภาคการเกษตรมีหนี้สิน 54,000 บาท ต่อปีต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 82,000 บาท ต่อปีต่อครัวเรือนในปีพ.ศ. 2557 เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น พื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตทางภาคการเกษตรผันผวน และเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนภัยธรรมชาติซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดอีกจะทราบว่าครัวเรือนแต่ละครัวเรือนที่มี 3-4 คนนั้นมีรายได้เฉลี่ยสุทธิปีละประมาณ 50,000 บาทต่อปี หรือเพียงเดือนละ 4,166 บาทเท่านั้น โดยมีรายได้จากการต้องใช้ทุนในปัจจัยการผลิตเป็นรายจ่าย 99,970 บาท แต่มีรายได้ 148,240 บาท มีกำไรเพียง 48,270 บาท นั่นหมายความว่าต้นทุนการผลิตสูงจากปุ๋ย ยาฆ่าวัชพืชและแมลง แล้วยังมีรายจ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น เสื้อผ้า ยารักษาโรค กับอาหาร ซึ่งนับว่าจะยิ่งแพงมากขึ้น

หากดูจากเศรษฐกิจโลก ก็ทราบกันดีว่าเกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ผู้บริโภคขาดกำลังซื้ออุตสาหกรรมลดลง แรงงานที่เคยมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมมีรายได้ลดลง ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมก็ได้รับผลกระทบ กลายเป็นห่วงโซ่ที่ส่งผลภาคสังคมโดยรวมไปด้วย สถาบันวิจัยต่างประเทศได้วิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประชากร 10% หรือประมาณ 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน มหาเศรษฐีคนไทยมีทรัพย์สินรวมกันเป็นเงิน 91.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีพ.ศ. 2556 คนรวยที่สุด 20% เป็นผู้ได้รับรายได้ของประเทศมากกว่าครึ่ง คือ 52% ของรายได้ทั้งหมด ปีพ.ศ. 2558 คนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ ขณะที่คนจนที่สุด 10% มีทรัพย์สินรวมกัน 0.1% ของทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในอนาคตตกอยู่ในอันตราย บั่นทอนโอกาสในชีวิตของคนที่ยากจนและคนที่อยู่ชายขอบที่สุด

ในขณะธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยเมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ว่าคนไทยแห่ “ลงทุนนอก” ยอดพุ่งแตะ 2.66 ล้านล้านบาท ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา สินทรัพย์ต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย 2.66 ล้านล้านบาท ในประเภทธุรกิจการเกษตร การประมง เหมืองแร่ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ครับคนรวยมีโอกาสเสมอในระบบทุนนิยม ฟ้าเปิดแต่คนจนไปไม่ได้เมื่อไม่มีทุน

ด้านล่างเป็นข้อสรุปเรื่องสถิติการใช้จ่ายจาก Facebook Page WOW THAILAND

สถิติรายจ่ายต่อครัวเรือนไทยในปีพ.ศ. 2558 อยู่ที่ 21,157 บาท โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กรุงเทพฯ, นนทบุรี, สมุทรปราการ, ปทุมธานี) มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงถึง 30,882 บาท และภาคใต้เป็นภาคที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงที่สุด 21,293 บาท ตามมาด้วยภาคกลาง 21,055 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17,032 บาท และภาคที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนน้อยที่สุดเช่นเดียวกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน คือ ภาคเหนือ ที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 15,268 บาท

เมื่อมองลึกลงไปรายจังหวัด แล้วจำแนกออกเป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดและน้อยที่สุดอย่างละ 5 จังหวัด พบว่า

5 จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนมากที่สุดคือ
กรุงเทพฯ 33,086 บาท
นนทบุรี 31,381 บาท
ปทุมธานี 29,770 บาท
กระบี่ 28,403 บาท
ภูเก็ต 27,435 บาท

5 จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนน้อยที่สุดคือ
เชียงใหม่ 11,864 บาท
เชียงราย 12,075 บาท
แม่ฮ่องสอน 12,131 บาท
กาฬสินธุ์ 12,747 บาท
ยะลา 13,454 บาท

โดยจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ (21,157 บาท) มีเพียงแค่ 22 จังหวัด แต่ขณะเดียวกันจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมีอยู่ถึง 55 จังหวัด โดยจังหวัดที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนสูงนั้นกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสัมพันธ์กับรายได้ที่ค่อนข้างสูง

เป็นที่น่าตกใจเช่นเคยว่าจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยว ผู้คนนิยมเดินทางมาเยือน แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือนน้อย เช่นเดียวกันกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน มีผู้อ่านมากมายร่วมวิเคราะห์ว่าสาเหตุน่าจะมาจากการกระจุกตัวของรายได้ที่อยู่บริเวณตัวเมืองหรือที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่พื้นที่ท่องเที่ยวหลัก รวมถึงการลงทุนในจุดท่องเที่ยวสำคัญที่รายได้สะท้อนกลับไปยังกลุ่มผู้ลงทุนที่มาจากพื้นที่อื่น