โดย บุษรา เรืองไทย

เมื่อพูดถึงสุดยอดหญิงงามของจีน ประเทศจีนยกย่องหญิงสาวสี่คนจากสี่ยุคสมัยให้เป็นสี่สุดยอดสาวงาม ได้แก่ ไซซี หวางเจาจวิน เตียวเสี้ยน และหยางกุ้ยเฟย (อันที่จริงกุ้ยเฟยคือตำแหน่ง ชื่อจริงๆ ของเธอคือ หยางอวี้หวน)  คนจีนยังมีคำจำกัดความความงามของแต่ละคนที่ร้อยเรียงกันจนกลายเป็นสำนวนที่แพร่หลายคือ 沉鱼落雁,闭月羞花。(chén yú luò yàn bì yuè xiū huā) ซึ่งผศ. ถาวร สิกขโกศล ถอดความออกมาอย่างไพเราะงดงามไว้ในหนังสือ “สี่ยอดหญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน” ว่า “มัจฉาจมวารี ปักษีตกนภา จันทร์หลบโฉมสุดา มวลผกาละอายนาง” คิดดูก็แล้วกันว่า งามขนาดนกยังตะลึงร่วงจากฟ้า ดวงจันทร์ยังต้องหลบเข้ากลีบเมฆ นี่คืองามถึงขั้นไหน มัจฉาจมวารีคือการชมความงามของไซซี ปักษีตกนภาคือความงามของหวางเจาจวิน จันทร์หลบโฉมสุดาคือความงามของเตียวเสี้ยน และมวลผกาละอายนางคือความงามของหยางกุ้ยเฟย

ต่อไปเป็นการสรุปเรื่องราวของแต่ละคนแบบสั้นๆ เพราะสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกับความงามของหญิงสาวเหล่านี้ก็ผูกพันเชื่อมโยงกับฉากหลังในชีวิตของแต่ละคนนั้นเอง สังเกตว่าการเรียงลำดับไล่เรียงมาตามยุคสมัยพอดี

เริ่มจากไซซี ไซซีเป็นหญิงสาวชาวบ้านในยุคชุนชิวจ้านกว๋อหรือสมัยสงครามเจ็ดรัฐ (770 – 221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ชาวแคว้นเยว่ กิจวัตรประจำวันของเธอคือการไปฟอกด้าย (บางสำนวนบอกว่าไปซักผ้า) ที่ริมลำธารร่วมกับสาวอื่นๆ ในหมู่บ้าน ความงามของเธอสะดุดตาฟ่านหลี เสนาธิการแคว้นเยว่ จึงนำตัวเธอส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการที่แคว้นอู๋ ใช้กลหญิงงามหลอกล่อเจ้าเมืองแคว้นอู๋จนลุ่มหลง บ้านเมืองอ่อนแอ และถูกแคว้นเยว่ตีแตกในที่สุด ความงามของไซซี ไม่เพียงแค่ฟ่านหลีที่มองเห็น แม้แต่ฝูงปลาในน้ำเมื่อเห็นใบหน้าอันงดงามของไซซียามที่เธอฟอกด้าย ก็ใหลหลงงงงวยจนกระทั่งลืมว่ายน้ำ และค่อยๆ ปล่อยตัวเองจมน้ำลงไป จึงเป็นที่มาของสำนวน 沉鱼 หรือปลาจม

หวางเจาจวิน เป็นบุคคลในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (50 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นนางกำนัลในวัง พอดีกับช่วงเวลานั้น ฮูหานเย๋ หนึ่งในผู้นำชนเผ่าซงหนูที่นอกด่าน เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ฮั่น หวางเจาจวินจึงได้รับแต่งตั้งให้อภิเษกสมรสกับผู้นำเผ่าซงหนูเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ระหว่างเดินทางข้ามทะเลทรายเพื่อไปยังดินแดนเผ่าซงหนู ได้ยินเสียงห่านป่าที่กำลังบินลงใต้ร้องดังขึ้นก็รู้สึกหวาดหวั่นกับการต้องจากลาบ้านเกิดเมืองนอน จึงหยิบผีผาขึ้นมาดีด ห่านป่าได้ยินเสียงผีผาอันไพเราะพร้อมทั้งใบหน้าที่งดงามของหญิงสาว ก็ตกตะลึงจนลืมกระพือปีก และร่วงหล่นบนผืนทราย หลังจากหวางเจาจวินเดินทางไปเผ่าซงหนูแล้วก็ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีเป็นอย่างดี ทำให้ราชวงศ์ฮั่นและซงหนูสงบสุขปลอดจากสงครามเป็นเวลายาวนาน 60 ปี และหวางเจาจวินก็คือเจ้าของความงาม 落雁  หรือห่านป่าร่วง

สังเกตว่า นกที่เอามาเปรียบความงามหวางเจาจวิน เจาะจงว่าต้องเป็นห่านป่า เพราะห่านป่าเป็นนกที่มีการอพยพย้ายถิ่น คนโบราณของจีนจึงมักนำห่านป่ามาเปรียบกับชีวิตที่ต้องเดินทางจากบ้านเกิด ความคิดคำนึงถึงถิ่นเกิด หรือคนที่กำลังจะกลับบ้านเกิด ซึ่งก็สอดคล้องกับชีวิตของหวางเจาจวินพอดี

เตียวเสี้ยน เชื่อว่าเป็นเพียงตัวละครในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กของจีน มีบทบาทเป็นหญิงรับใช้ในบ้านของอ้องอุ้น ขุนนางในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกตอนปลาย ต่อมาอ้องอุ้นรับเป็นบุตรสาวบุญธรรม เนื่องจากตอนนั้นตั๋งโต๊ะเป็นทรราชที่กำลังกุมอำนาจในราชสำนัก อ้องอุ้นต้องการกำจัดตั๋งโต๊ะ ดังนั้นเพื่อตอบแทนบุญคุณที่ได้รับการเลี้ยงดู เตียวเสี้ยนจึงยินดีดำเนินการตามกลห่วงโซ่ หลอกล่อให้ตั๋งโต๊ะกับลิโป้ผิดใจกัน จนสุดท้ายอ้องอุ้นก็สามารถเกลี้ยกล่อมลิโป้ให้สังหารตั๊งโต๊ะสำเร็จ ว่ากันว่าในคืนหนึ่งที่จันทร์เต็มดวง เตียวเสี้ยนออกมาจุดธูปไหว้พระจันทร์ในสวน มีเมฆก้อนหนึ่งลอยมาบังดวงจันทร์ อ้องอุ้นผ่านมาเห็นพอดี นับจากนั้นมาจึงมักชมความงามของบุตรสาวให้ใครๆ ฟังว่า งามจนกระทั่งดวงจันทร์ยังต้องหลบเข้ากลีบเมฆ และนี่คือที่มาของคำว่า 闭月 หรือจันทร์หลบ

สุดท้าย หยางกุ้ยเฟย มีชื่อว่า หยางอวี้หวน เกิดปี ค.ศ. 719 สมัยราชวงศ์ถัง ฮ่องเต้ถังเสวียนจงทรงหลงใหลในความงามของนางตั้งแต่แรกพบ หลังจากรับตัวเข้าวังแล้วก็แต่งตั้งเป็นกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดรองจากฮองเฮา (อันที่จริงตอนนั้นตำแหน่งฮองเฮาก็ว่างอยู่ เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าหยางกุ้ยเฟยมีตำแหน่งสูงสุดในหมู่ชายาทั้งหลาย) ในขณะที่อยู่ในวัง มีอยู่วันหนึ่งหยางกุ้ยเฟยเสด็จลงไปในสวนเพื่อชมดอกไม้ให้คลายเหงา พอดีมือแตะไปถูกต้นไมยราบ นางกำนัลมาเห็นเข้า จีงเอาไปบอกต่อๆ กันถึงกิตติศัพท์ความงามของหยางกุ้ยเฟยที่แม้แต่ดอกไม้ยังต้องอาย (ก็รู้กันว่าต้นไมยราบนั้นแตะแล้วหุบ) ดังนั้น หยางกุ้ยเฟยจึงได้รับคำชมว่า 羞花 หรือดอกไม้อาย ต่อมาเพราะฮ่องเต้ถังเสวียนจงทรงลุ่มหลงอยู่แต่กับหยางกุ้ยเฟย ละเลยราชกิจจนบ้านเมืองอ่อนแอ เมื่ออันลู่ซานก่อกบฏจนทั้งหมดต้องหลบหนีจากเมืองหลวง ระหว่างทางพวกทหารจึงทูลขอแกมบังคับให้ฮ่องเต้มีรับสั่งประหารหยางกุ้ยเฟยเสีย เพราะถือว่าเป็นสาเหตุทำให้บ้านเมืองต้องเจอภัยพิบัติ

ที่มาภาพ: images2.storyjumper.com

คำว่า “沉魚落雁,閉月羞花” หรือ “ปลาจม นกร่วง จันทร์หลบ ดอกไม้อาย” กลายเป็นสำนวนที่รู้กันดีว่าหมายถึงสาวงามทั้งสี่คนนี้ ถึงแม้จะเกินจริงไปบ้าง แต่ตำนานงามล่มชาติล่มเมืองของทุกคนก็ยืนยันได้ว่าพวกเธอต้องมีเสน่ห์อยู่จริง และต่อมาก็กลายเป็นสำนวนที่เอามาใช้ชมความงามของผู้หญิง อย่างเช่นหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมจีนสมัยต่อมาหลายเรื่อง เช่นในเรื่อง《西厢记》(xī xiāng jì) หรือหอตะวันตก บทประพันธ์ของหวังสือฝุ สมัยราชวงศ์หยวน มีตอนหนึ่งว่า “因姐姐闭月羞花,真假、这其间性儿难按纳,一地里胡拿。”  “เพราะพี่สาวแม้พระจันทร์ยังหลบดอกไม้ยังอาย จริงหรือเท็จ อารมณ์ในตอนนี้ยากจะเข้าใจ ได้แต่ทำไปโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้” หรือใน《儒林外史》(rú lín wàishǐ) หรือนิทานโบราณของเหล่าบัณฑิต ผลงานของหวู จิ้งจื่อ สมัยราชวงศ์ชิง ก็มีตอนหนึ่งว่า “此时鲁小姐卸了浓装,换了几件雅淡衣服,蘧公子举眼细看,真有沉魚落雁之容,閉月羞花之貌。” “ตอนนี้คุณหนูหลู่ถอดเครื่องแต่งกายหรูหราออก เปลี่ยนเป็นชุดที่เรียบง่ายแต่งดงามไม่กี่ชิ้น คุณชายฉวีเพ่งมองอย่างละเอียด ช่างมีใบหน้าให้ปลาจมน้ำนกตกฟ้า จันทร์หลบเมฆาดอกไม้เอียงอายโดยแท้”

สำหรับการเปรียบความงามว่างามกว่าพระจันทร์ งามกว่าดอกไม้นั้น แสดงให้เห็นว่างามยิ่งกว่าธรรมชาติสรรค์สร้าง พระจันทร์และดอกไม้นับว่าเป็นสิ่งที่นำมาใช้เปรียบความงามของผู้หญิงโดยปกติในวัฒนธรรมจีนโบราณอยู่แล้ว และดูจะเป็นความหมายสากลที่ปรากฏในหลายๆ ดินแดนด้วยซ้ำ แม้แต่ในวรรณคดีไทยก็ยังมีการเปรียบเทียบความงามกับพระจันทร์ปรากฏอยู่บ้าง เช่นเรื่องพระอภัยมณีตอนพระอภัยเป่าปี่ให้สามพราหมณ์ฟัง “พระจันทร์จรสว่างกลางโพยม ไม่เทียบโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย” ส่วนที่เปรียบเทียบว่างามจนปลาจมน้ำหรือนกตกฟ้านั้น ก็ยิ่งเป็นความงามที่เหนือธรรมชาติขึ้นไปอีก ที่มาการเปรียบเทียบหญิงงามกับปลาและนกแบบนี้ น่าสนใจตรงสามารถโยงกลับไปได้ถึงข้อความที่ปรากฏในหนังสือ “จวงจื่อ” เมื่อประมาณ 2,300 ปีก่อน แต่เนื้อหานั้นกลับตาลปัตรโดยสิ้นเชิง

《庄子》 “จวงจื่อ” เป็นหนังสือที่รวบรวมแนวคิดของจวงจื่อ นักปราชญ์จีนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยจ้านกว๋อ สันนิษฐานว่ามีชีวิตราวๆ 369-286 ปีก่อนคริสตศักราช ในหนังสือ “จวงจื่อ” บท《齐物论》 (qí wù lùn)   เสนอแนวคิดว่ากฎเกณฑ์การจำแนกเรื่องราวสิ่งต่างๆ ของคนเราไม่เหมือนกัน ความหมายและคุณค่าของคนกับสรรพสิ่งล้วนเท่าเทียมกัน และนำถ้อยคำของหวัง หนี มาอ้างไว้ดังนี้ “毛嫱丽姬,人之所美也,鱼见之深入,鸟见之高飞,麋鹿见之决骤。” ถอดความได้คือ เหมาเฉียงกับลี่จีเป็นสาวงามที่ทุกคนต่างยอมรับ แต่ปลาพอเห็นพวกนางก็รีบดำลงไปใต้น้ำ นกเห็นพวกนางก็รีบบินหนีขึ้นฟ้า กวางน้อยใหญ่เห็นพวกนางก็วิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว เพราะสัตว์อย่างปลา นก และกวางไม่มีการแบ่งแยกว่าสวยงามหรือน่าเกลียด พอเห็นสาวงามก็รีบวิ่งหนีไม่ต่างจากวิ่งหนีคนอื่นๆ เพราะอย่างนี้ ถูก-ผิด ดี-ชั่ว สวยงาม-น่าเกลียด จึงไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินชี้ขาดได้ มีความเป็นไปได้มากว่าการเปรียบความงามกับปลาและนก น่าจะมีจุดเริ่มต้นจากตรงนี้ แต่ความหมายกลับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จากปลาและนกที่ไม่รู้จักการตัดสินคนด้วยความงาม กลายมาเป็นชื่นชมความงามจนเสียจริตไป

(ขอบคุณภาพปกจาก mmbiz.qpic.cn)