โดย ช. คนไม่หวังอะไร

อาจคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเพราะอะไรและเหตุใดถึงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีพ.ศ. 2540 หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ไทยเริ่มฟื้นตัว การส่งออกจากเดิมเมื่อปีพ.ศ. 2530 มีมูลค่าจำนวน 299,853 ล้านบาท เพิ่มเป็น 725,448 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2534 และ 1,406,039 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2539 ตลาดอสังหาริมทรัพย์นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528-2539 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 33 เท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีพ.ศ. 2532-2539 เพราะความต้องการในการพัฒนาที่ดินและพัฒนาเมือง คนต่างจังหวัดจากภาคการเกษตรย้ายเข้ามาทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ คนจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อความต้องการอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จากเดิมเมื่อปีพ.ศ. 2530 มีบ้านที่อยู่อาศัย 1.52 ล้านหลัง เพิ่มขึ้นเป็น 3.19 ล้านหลังในปีพ.ศ. 2539 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตระดับ 8-9% ต่อปี จากนั้นชะลอตัวลงในปีพ.ศ. 2539 (จีดีพี 5.9%) และทรุดตัวอย่างรุนแรงในปีพ.ศ. 2540-2541 (จีดีพี -1.4%, – 10.5%) ในขณะที่มิติทางสังคม มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์กรบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ประชาธิปไตยเริ่มมีการปกครองส่วนท้องถิ่น มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2520 กำหนดงานที่ได้รับความคุ้มครอง เช่น วรรณกรรม ศิลปกรรม นาฏกรรม ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียงของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบใด รวมถึงลิขสิทธิ์ของลูกจ้าง งานไม่มีลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ เวลาคุ้มครอง โทษการละเมิด เป็นต้น นอกจากนี้มีพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 กำหนดคุณสมบัติจุฬาราชมนตรี และกรรมการกลางอิสลามกับอำนาจหน้าที่ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งก็คือกฎหมายป้องกันการสมยอมราคา

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ามีการจัดระเบียบสังคม ในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2529-2539) เศรษฐกิจไทยเติบโตรวดเร็วมาก แต่การเปิดเสรีทางการเงินหละหลวม ตามด้วย BIBF ในปี พ.ศ. 2536 ทำให้ระบบการเงินการลงทุนขยายตัว ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ต่างประเทศ ความไม่มีเสถียรภาพของการดำเนินนโยบายที่มีหลายรัฐบาลและมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้หนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) พุ่งขึ้นถึง 52% ของสินเชื่อรวมในสถาบันการเงิน มีการลงทุนเกินตัว หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นในการกู้จากสถาบันในต่างประเทศ และการไม่ระวังความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากใช้อัตราคงที่ 25 บาท/ดอลลาร์ เมื่อมีการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยน หนี้ที่มีเพิ่มขึ้นทันที เศรษฐกิจทั้งระบบพัง ต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และแก้ไขกฎหมาย 11 ฉบับเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยทำไว้ในการขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ พระราชบัญญัติล้มละลาย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและการพิจารณาคดีล้มละลาย เพื่อจัดตั้งศาลล้มละลายสำหรับพิจารณาโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นคดีลักษณะพิเศษ มีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพิ่มเติม คนต่างด้าวสามารถซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ พระราชบัญญัติอาคารชุด เปิดโอกาสให้คนต่างด้าวที่นำเงินตราเข้าประเทศสามารถถือกรรมสิทธิ์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของเนื้อที่อาคารชุดทั้งหมดในอาคารชุด มีพระราชบัญญัติเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม กำหนดการเช่าเพื่อประกอบธุรกิจระยะยาว พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรทางธุรกิจ

การล้มลงของระบบเศรษฐกิจเดิมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างกว้างขวาง นิติบุคคลจำนวนมากต้องแปลงหนี้เป็นทุนและหุ้น เพิ่มทุนด้วยการให้ต่างประเทศเข้าร่วมทุน นายทุนเจ้าของเดิมกลายเป็นหุ้นส่วนในสัดส่วนของนิติบุคคลนั้น ระบบการบริหารจากหลงจู๊เป็นระบบซีอีโอ มีมืออาชีพผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น วงจรเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป อำนาจต่อรองที่เคยมีลดลง เกิดกลุ่มธุรกิจและประเภทธุรกิจใหม่ รัฐบาลในขณะนั้นต้องใช้เงินจำนวนมากฟื้นฟูสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมากตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องเข้าไปถือหุ้นและบริหาร รวมทั้งมีบทบาทค้ำประกันและจ่ายคืนแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศ จนถึงปีพ.ศ. 2546 จึงลดบทบาทการค้ำประกันเจ้าหนี้ลงเหลือเพียงการค้ำประกันการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเท่านั้น และเมื่อมีพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ. 2551 บทบาทของกองทุนฟื้นฟูจึงสิ้นสุดลง โดยให้เป็นภารกิจของสถาบันคุ้มครองเงินฝากแทน กองทุนฟื้นฟูฯ คงเหลือเพียงหน้าที่บริหารสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและภาระผูกพัน ซึ่งภาครัฐและเอกชนมีส่วนก่อหนี้กว่า 1.3 ล้านล้านบาท แม้เวลาผ่านไปถึง 20 ปี มูลหนี้ลดลงเพียง 3.5 แสนล้านบาท คงค้างเพื่อรอการชำระอีกกว่า 9.48 แสนล้านบาท

จากอดีตที่ผิดพลาดเดิมในปีพ.ศ. 2540 มีธุรกิจบริษัทและห้างหุ้นส่วนปิดกิจการ 9,856 ราย ในปีพ.ศ. 2541-2542 ปิดกิจการ 29,202 ราย และผู้ส่งออกรายย่อยกว่าหนึ่งหมื่นรายขาดสภาพคล่องรุนแรง รัฐบาลได้จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นนิติบุคคลเพื่อดูแลสถาบันการเงินที่ถูกระงับดำเนินกิจการทั้ง 58 แห่ง รวมทั้งการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน แต่ทว่า ปรส. ไม่ได้แยกหนี้ดีหรือหนี้เสียออกจากกัน ทำให้ทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการมูลค่า 850,000 ล้านบาท ถูกประมูลไปเพียง 190,000 ล้านบาท  กรมบังคับคดีแจ้งโดยสรุปเมื่อปลายปีพ.ศ. 2558 ว่า ยอดหนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้คืนกองทุนเพื่อการฟื้นฟู 6 แสนล้านบาท ตามเก็บได้เพียง 12.71% บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร หนี้ 4 หมื่นล้านบาทเก็บได้เพียง 3 พันล้านบาท (7.34%) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ หนี้ 3.9 หมื่นล้านบาท ตามเก็บได้เพียง 1.9 พันล้านบาท (4.93%) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ หนี้ 3 หมื่นล้านบาท ตามเก็บได้เพียง 2.2 พันล้านบาท (7.31%) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอสซีเอฟ หนี้ 2.67 หมื่นล้านบาท ตามเก็บได้เพียง 9 พันล้านบาท (34.19%) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ หนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามเก็บได้เพียง 1.6 พันล้านบาท (6.76%) โอกาสที่จะได้ทรัพย์สินคืนมีน้อยมาก พร้อมๆ กับเงินกู้ 53,397 ล้านบาทในโครงการมิยาซาว่าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลนำมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณพ.ศ. 2542 – 2543 ซึ่งได้ผลลัพธ์จากโครงการน้อยมาก และมีปัญหาทุจริตคอรัปชันในเกือบทุกขั้นตอนการบริหารจัดการ จึงเป็นหนี้สาธารณะให้กับประเทศ นับได้ว่าเป็นโศกนาฎกรรมจริงๆ