ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 131; ดู An Inconvenient Sequel: Truth to Power หนังสารคดีภาคต่อ (sequel) ของ An Inconvenient Truth (ชื่อไทย “เรื่องจริงช็อคโลก”) ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ถึง 2 สาขาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ที่มาภาพ: imdb.com

ในปีที่ An Inconvenient Truth เข้าฉาย โอกาสที่คนไทยจะได้ดูหนังสารคดีของต่างประเทศยังมีไม่มาก แต่ด้วยความที่ An Inconvenient Truth เป็นหนังที่อยู่ในกระแสและยังได้รับรางวัลใหญ่ด้วย ค่ายหนังเมืองไทยก็เลยกล้าซื้อมาฉาย ดิฉันก็ได้ไปดูกะเขาเหมือนกัน ที่โรงหนังลิโด นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นบทบาทของ อัล กอร์ ในฐานะนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมแบบเต็มๆ หลังจากที่เห็นแต่ในบทบาทนักการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่ตอนที่เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เมื่อปี 1993 – 2001 (พ.ศ. 2536 – 2544) และเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2000 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่จอร์จ ดับเบิลยู. บุช จากพรรครีพับลิกันไปอย่างพิลึกๆ เพราะมีประเด็นความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งมาทำให้เกิดข้อกังขา

กอร์กล่าวสุนทรพจน์ยอมรับความพ่ายแพ้อย่างสวยๆ แล้วพอพ้นตำแหน่งรองประธานาธิบดีตามวาระ แกก็เลิกเล่นการเมือง หันมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว หลังจากที่พยายามผลักดันเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยสำเร็จ แกเริ่มเดินสายบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อน (Global Warming) อันเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ จนในที่สุดก็มีคนสนใจทำเป็นหนังสารคดี ใช้ชื่อว่า An Inconvenient Truth เพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่เราก็จำเป็นต้องยอมรับและหาทางแก้ไขโดยเร็ว

An Inconvenient Truth ได้ผลตอบรับในแง่บวกเป็นอันมาก หนังชนะรางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย และเป็นหนังสารคดีเรื่องแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ทั้งสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมและเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หนังสือของกอร์ คือ An Inconvenient Truth: The Planetary Emergency of Global Warming and What We Can Do About It (ฉบับแปลไทยชื่อ “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง“) ซึ่งวางแผงในช่วงที่หนังออกฉาย ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ปลุกกระแสความตื่นตัวในการแก้ปัญหาโลกร้อนในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แล้วในปี 2007 (พ.ศ. 2550) กอร์ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovermental Panel on Climate Change หรือ IPCC) สำหรับ “ความพยายามในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเกิดจากมนุษย์ และวางรากฐานสำหรับมาตรการซึ่งจำเป็นสำหรับการบรรเทาสภาวการณ์ดังกล่าว” (วิกิพีเดียแปลให้ค่ะ)

ส่วนผลตอบรับในแง่ลบก็มีเหมือนกัน คือคนก็หาว่า An Inconvenient Truth นี่มันหนังหาเสียงของกอร์เพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีชัดๆ บ้างก็ว่าหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างถึงในหนังมันเกินจริงไปมาก บ้างก็ว่าภาวะโลกร้อนนี่ก็แค่หนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติ จะตื่นตูมไปไย และถ้าโลกร้อนขึ้นจริง ทำไมบางพื้นที่ถึงหนาวขึ้นล่ะ ข้อนี้ทำเอาดิฉันงงว่าตกลงกุเข้าใจผิดมาตลอดหรือ?! เพราะตั้งแต่สมัยมัธยมก็เรียนมาว่าภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลต่อกระแสน้ำอุ่นกับกระแสน้ำเย็น ซึ่งถ้ากระแสน้ำทั้งสองขาดความสมดุล ก็อาจจะทำให้อากาศหนาวขึ้นอย่างพรวดพราดได้

สรุปแล้ว หลังจากหนังดังขึ้นมา กอร์ก็โดนคนโจมตีเยอะ แต่แกก็ยังตั้งหน้าตั้งตารณรงค์ต่อไป จนเวลาผ่านมา 10 ปี และหลายๆ ประเทศทั่วโลกเกิดภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับครั้งไม่ถ้วน อเมริกาเองก็โดนไปหลายยก เป็นข้อพิสูจน์ว่าสิ่งที่บอกเล่าใน An Inconvenient Truth ไม่ได้เกินจริงเลย แต่ในขณะเดียวกัน ‘ความจริง’ ที่เราได้รับรู้ก็ไม่ก่อให้เกิดผลใดๆ เลย เพราะเราก็ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืนแต่ประการใด

ที่มาภาพ: ramascreen.com

An Inconvenient Sequel: Truth to Power มีเหตุการณ์ต่อเนื่องจาก An Inconvenient Truth คือเล่าการดำเนินงานในทศวรรษต่อมาของกอร์ เพื่อรณรงค์แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน แต่แม้จะไม่ได้ดูหนังภาคแรกมาก่อน ดิฉันคิดว่าก็น่าจะดูเรื่องนี้รู้เรื่อง เพราะหนังมีการเท้าความถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาพอสมควร ให้เห็นความสืบเนื่องมาถึงการดำเนินงานของกอร์ในช่วง 10 ปีให้หลัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการอบรมผู้นำด้านภูมิอากาศ (Climate Leadership) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การลงพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติเพื่อเก็บข้อมูล หรือการผลักดันให้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2015 บรรลุข้อตกลง โดยให้ทุกประเทศลงนามรับรอง “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ว่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการลดละเลิกกิจกรรมที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (ไทยเราก็ลงนามด้วย ลุงตู่ไปประชุม)

หนังยังคงแสดงตนเป็น ‘ภาพยนตร์ปลุกใจ’ อย่างไม่กระมิดกระเมี้ยนเช่นเดียวกับภาคแรก โดยบอกเล่า ‘ความจริง’ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาในภาคนั้น แต่มาจัดเต็มในภาคนี้ กล่าวคือ การเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของนายทุนและผู้นำประเทศ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยบรรลุผลสำเร็จ และมันจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

นี่คือความจริงอันเจ็บปวดและฟังดูทุเรศมาก แต่เราก็ต้องยอมรับ และเมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ก็พึงตระหนักว่าเรามีพลังอำนาจในฐานะปัจเจกบุคคล ที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา ด้วยการปกป้อง ‘โลก’ อันเป็น ‘บ้าน’ ที่เราทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เพราะเราไม่มีบ้านที่ไหนอีกแล้วนอกจากโลกใบนี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะไปอยู่ดาวอังคารก็ได้ เพราะแกรวย

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 148

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

3 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก environmentalcritique.files.wordpress.com)