โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

20 ตุลาคม 2016

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 076; เมื่อต้นเดือนกันยายน ได้ไปดู Doctor Zhivago ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ในงาน “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรหนังเรื่องนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2509 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ถนนราชดำเนินกลาง (โรงภาพยนตร์นี้ถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2532 เพื่อสร้างเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์)

Doctor Zhivago สร้างจากนวนิยายของบอริส ปาสเตอร์แน็ก นักเขียนเลื่องชื่อชาวรัสเซีย (ฉบับแปลไทยชื่อ “นายแพทย์ชิวาโก” แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์) เป็นเรื่องราวชีวิตของนายแพทย์ยูริ อันเดรเยวิช ชิวาโก ซึ่งเกิดในรัชสมัยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกเกณฑ์ไปเป็นแพทย์ประจำกองทัพเมื่อพระเจ้าซาร์ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนับครั้งไม่ถ้วนหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์ แล้วพรรคบอลเชวิค นำโดยวลาดิมีร์ เลนิน ยึดอำนาจการบริหารประเทศ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นเพียงปีเดียวก็เกิดสงครามกลางเมืองยาวนาน 4 ปีระหว่างกองทัพบอลเชวิคกับผู้ต่อต้าน พอเลนินตายในปี 1924 โจเซฟ สตาลิน ผู้สืบทอดอำนาจ ก็นำพาประเทศไปสู่ความเป็นเผด็จการสุดขั้วถึง 30 ปี นอกจากชีวิตจะถูกพัดพาไปด้วยมรสุมการเมืองดังกล่าวแล้ว ดร.ชิวาโกยังต้องเผชิญกับมรสุมในใจด้วย เพราะเขามีความรักที่ลึกซึ้งกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาตน และทั้งคู่ก็มีความสัมพันธ์กันทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้เลิกกับภรรยา โศกนาฏกรรมชีวิตจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่ากันว่าปาสเตอร์แน็กใช้เวลาเขียนนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1910s จนถึงปี 1956 รวม 40 ปีโดยประมาณ เรียกได้ว่าเขียนไปพร้อมๆ กับสถานการณ์การเมืองแบบ real time เลยทีเดียว พอเขียนเสร็จก็ไม่สามารถตีพิมพ์ในสหภาพโซเวียตได้ เพราะเนื้อหาที่พูดถึงชะตากรรมของประชาชนคนธรรมดาภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ก็ดูเป็นการต่อต้านชัดเจนอยู่ ปาสเตอร์แน็กจึงลักลอบนำไปพิมพ์ที่อิตาลีในปี 1957 และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีถัดมา แต่ก็ต้องปฏิเสธไม่รับรางวัล เพราะถูกข่มขู่จากพรรคคอมมิวนิสต์ (ถ้าไม่มีรางวัลนี้คุ้มครองป้องกัน เขาก็คงถูกจับกุมคุมขังเป็นนักโทษการเมืองไปแล้ว)

ต่อมาอีก 7 ปี คือในปี 1965 (พ.ศ. 2508) หนังสือ Doctor Zhivago ก็ได้รับการดัดแปลงเป็นหนัง โดยการร่วมทุนของสหราชอาณาจักรกับอิตาลี ควบคุมการผลิตโดยโปรดิวเซอร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาเลียน คาร์โล ปอนติ กำกับโดยผู้กำกับระดับอลังการงานสร้างชาวอังกฤษ เซอร์ เดวิด ลีน เขียนบทโดยผู้เขียนบทภาพยนตร์และละครเวทีมือรางวัลชาวอังกฤษ โรเบิร์ต โบลต์ นำแสดงโดย โอมาร์ ชาริฟ นักแสดงชาวอียิปต์ซึ่งโด่งดังสุดขีดในฮอลลีวูด รับบท ดร.ชิวาโก (ท่านเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว สิริอายุ 83 ปี) จูลี่ คริสตี้ นักแสดงหญิงผู้เก่งกาจชาวอังกฤษ รับบท ลาริสซา “ลาร่า” อันติโปวา คนรักของ ดร.ชิวาโก (ปัจจุบันท่านอายุ 76 ปี เมื่อปี 2006 ได้ฝากฝีมือไว้ในระดับกวาดรางวัลและเข้าชิงรางวัลด้านการแสดงแทบทุกสถาบัน กับบทผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ในหนังเรื่อง Away from Her) เจอรัลดีน แชปลิน (ลูกสาวของชาร์ลี แชปลิน) รับบท ทอนย่า โกรเมโค ภรรยาของ ดร.ชิวาโก (ปัจจุบันท่านอายุ 72 ปี ยังคงมีงานแสดงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน) การแสดงของทั้งสามท่านนี้ทำให้ดิฉันเข้าใจอย่างสุดซึ้งเลยว่า ประชาชนตาดำๆ ในบ้านในเมืองที่เป็นคอมมิวนิสต์แบบสุดลิ่มนั้น จะต้องอดอยากลำบากลำบนและไม่ได้รับความเป็นธรรมยังไงบ้าง แม้ว่าหนังจะไม่ได้ขับเน้นประเด็นนี้มากเท่าเรื่องความรักของตัวละครทั้งสาม แต่การแสดงที่ลงลึกในรายละเอียดของอารมณ์ความรู้สึก ก็สามารถนำพาคนดูไปถึงจุดที่ทำให้เข้าใจแล้วว่า ทำไมปาสเตอร์แน็กจึงถูกหมายหัวจากรัฐบาลเผด็จการ 555 ส่วนประเด็นความรักที่ท้าทายศีลธรรมของ ดร.ชิวาโกกับลาร่านั้น ด้วยบท ด้วยการกำกับ และด้วยการแสดงของนักแสดงทั้งสอง ได้ทำให้ทุกอย่างงดงามไปหมด แม้ว่าเราจะรู้อยู่ทุกขณะจิตว่ามันเป็นเรื่องที่ผิด แต่เราก็เชียร์ให้ทั้งคู่ได้กัน เอ๊ย! สมรักกัน เพราะเราเข้าใจความรู้สึกของทั้งคู่ว่านี่คือความรักที่แท้จริง และไม่สามารถตำหนิใครได้เลยในจุดนี้ เนื่องจากมันถูกขับเคลื่อนและบีบคั้นด้วยสถานการณ์การเมืองที่ผูกพันอยู่กับชีวิตของคนทุกคนอย่างแยกไม่ออก

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพูดถึง (ถ้าไม่พูดจะรู้สึกผิดมาก แม่จะต้องบ่น และบทความนี้ก็จะไม่สมบูรณ์ 555) ได้แก่ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ผู้ประพันธ์ดนตรีให้หนังเรื่องนี้ ก็คือ มอริส ฌาร์ คีตกวีและวาทยกรชาวฝรั่งเศส ผลงานของท่านที่พวกเราน่าจะเคยฟังมาบ้าง คือดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society (ปี 1989 – ได้รับรางวัลบาฟตาสาขา Best Film Music) Ghost (ปี 1990 – เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Best Original Score) A Walk in the Clouds (ปี 1995 – ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขา Best Original Score) สำหรับดนตรีประกอบเรื่อง Doctor Zhivago นั้น ฌาร์ได้เขียนไลท์โมทีฟ (leitmotif – หน่วยทำนองที่แสดงลักษณะของตัวละคร) ให้ตัวละครลาร่า เรียกชื่อว่า Lara’s Theme เป็นทำนองที่ไพเราะตราตรึงใจมากจนโด่งดังไปทั่วโลก ต่อมาจึงมีการนำมาใส่เนื้อร้อง เป็นเพลง Somewhere My Love ซึ่งยิ่งทำให้โด่งดังขึ้นอีกเป็นเท่าทวีคูณ เพลง Somewhere My Love นี้เป็นเพลงโปรดของแม่ดิฉัน ตามธรรมดาเวลาพ่อแม่ชอบฟังเพลงอะไร พ่อแม่ก็มักจะเปิดบ่อยๆ และลูกก็ต้อง (ทน) ฟังไปด้วย 555 ดิฉันก็ได้ฟังเพลงนี้มาจนติดอยู่ในหัวตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ดังนั้นการได้ไปดูหนังเรื่องนี้จึงทำให้ดิฉันตื่นเต้นพอสมควร อยากฟังเพลงเวลาที่อยู่ในหนังว่าจะเป็นยังไง ปรากฏว่าขึ้นต้นมาก็ฟินเลย เพราะเขาบรรเลงเป็นเพลงโหมโรงเลยจ้า แล้วมันไพเราะแบบเห็นหน้าพ่อหน้าแม่ลอยมาเลยอ่ะ หลอนมาก น้ำตาจะไหลตั้งแต่ต้นเรื่อง ตายๆๆ

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 130

doctor_zhivago

ที่มารูป: http://www.impawards.com

หมายเหตุ: Doctor Zhivago ชนะรางวัลออสการ์ 5 สาขา ได้แก่

  1. บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
  2. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  3. ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
  4. กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
  5. ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม