โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

29 มกราคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 088; ดู Arrival ที่ลิโด 3 #ยานแม่มารับข้อยที

นี่คือหนังมนุษย์ต่างดาวเยือนโลกที่มีความแปลกใหม่หลายสถาน ซึ่งผู้ที่ควรได้รับการชื่นชมมากที่สุดก็คือ เท็ด เจียง นักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้แต่งบทประพันธ์ตั้งต้น อันมีชื่อว่า Story of Your Life (ปี 1998) หนังสือนี้เป็นเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพถึง 2 รางวัล ล้วนเป็นรางวัลใหญ่สำหรับวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ในอเมริกา

ความแปลกใหม่ประการสำคัญของ Story of Your Life ก็คือ แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่แนวความคิดพื้นฐานกลับเป็นสมมุติฐานทางภาษา สมมุติฐานดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Sapir-Whorf Hypothesis ตามชื่อเจ้าของแนวความคิด ได้แก่ เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ นักภาษาศาสตร์-มานุษยวิทยา กับเบนจามิน ลี วอร์ฟ ลูกศิษย์ของซาเปียร์ ทั้งสองท่านมีสมมุติฐานว่า “ภาษาคือสิ่งที่กำหนดวิธีคิดและการรับรู้ของคนเรา ดังนั้น ผู้ที่ใช้ภาษาต่างๆ จึงมองโลกแตกต่างกัน ตามอิทธิพลของภาษาที่ใช้” เรื่องสั้น Story of Your Life ได้นำเสนอสมมุติฐานนี้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ จนถึงขั้นทะลวงยุคทะลุจักรวาลเลยทีเดียว

ที่มาภาพ: www.comingsoon.net

หนัง Arrival คงความเป็น Story of Your Life ไว้อย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ เป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตของคนคนหนึ่ง (จะเป็นใครก็ไปดูกันในหนังนะจ๊ะ) ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สำคัญของมวลมนุษยชาติ เมื่อยานอวกาศจากนอกโลก รูปร่างเหมือนเม็ดข้าวเหนียวดำยักษ์ผ่าครึ่งตามยาว จำนวนทั้งหมด 12 ลำ ปรากฏขึ้นในพื้นที่ต่างๆ 12 จุดทั่วโลก ประเทศต่างๆ ที่ได้รับเกียรตินี้จึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว โดยทางอเมริกาได้เรียก ดร.หลุยส์ แบงค์ส นักภาษาศาสตร์ผู้มีความรู้หลากหลายภาษา (แสดงโดย เอมี อดัมส์) และ ดร. เอียน ดอนเนลลี นักฟิสิกส์ทฤษฎี (แสดงโดย เจเรมี เรนเนอร์) มาทำงานร่วมกันในความควบคุมของกองทัพสหรัฐ ซึ่งมีพันเอกเวเบอร์ (แสดงโดย ฟอเรสต์ วิเทเกอร์) เป็นหัวหน้าทีม มีหน้าที่หาวิธีสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว 2 ตน ซึ่งดร. ดอนเนลลีตั้งชื่อให้ว่า แอ็บบอตต์กับคอสเทลโล (Abbott and Costello) เลียนแบบดาวตลกดูโอชื่อดังในอดีต

ดิฉันทึ่งมากที่เห็นสมมุติฐานซาเปียร์-วอร์ฟ ถูกนำเสนอถึง 3 ระดับเป็นอย่างน้อยในเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่การสปอยล์ แต่เป็นเพียง “วิธีคิดและการรับรู้” ของดิฉันเองเท่านั้น ไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องแต่อย่างใด

การนำเสนอ 3 ระดับที่ว่า คือการที่มันเป็นเรื่องของ “การสื่อสารด้วยภาษา” ระหว่างผู้ที่ใช้ภาษาแตกต่างกันใน 3 ระดับ

1.คนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกันก็จริง แต่ถ้าต่างสาขาอาชีพ ก็จะมีภาษาเฉพาะกลุ่มเฉพาะวงการของอาชีพนั้นๆ เป็นตัวกำหนดวิธีคิดและการรับรู้อยู่ดี อย่างในเรื่องนี้ มีนักภาษาศาสตร์ นักฟิสิกส์ กับทหาร มาทำงานร่วมกัน ต้องสื่อสารกันตลอด ดิฉันดูแล้วขำมาก คิดถึงตัวเอง 555 คือที่เขาว่าเหมือนคุยกันคนละภาษานี่มันเรื่องจริงเลยนะ แถมแต่ละวงการยังมีศัพท์เฉพาะ (technical term) ด้วย บางทีคุยกันไม่รู้เรื่องจนคิดว่าตบกันเลยง่ายกว่า#เซ็นเซอร์

2.ประชากรของแต่ละประเทศ ที่ใช้คนละภาษา ย่อมจะมีภาษาของตนเป็นตัวกำหนดวิธีคิดและการรับรู้ เหมือนประเทศต่างๆ 12 ประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับยานเอเลียน ก็มีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ภาษาคนละตระกูล อย่างอเมริกากับจีน (แอบบอกใบ้เล็กน้อยว่าจีนมีบทบาทมาก 555)

3.มนุษย์โลกกับมนุษย์ต่างดาว ซึ่งมี “ภาษา” แตกต่างกันมาก ย่อมมีวิธีคิดและการรับรู้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างมนุษย์ต่างดาวในหนัง เขียนหนังสือโดยใช้อักษรภาพ (logogram) เป็นรูปวงกลม วงกลม 1 วงเท่ากับ 1 ประโยค ในขณะที่ภาษามนุษย์โลกเขียนประโยคเป็นเส้นตรง บางภาษาเขียนแนวนอน บางภาษาเขียนแนวตั้ง แต่ก็เป็นเส้นตรงทั้งนั้น มนุษย์ต่างดาวกับมนุษย์โลกจึงมีความรับรู้เกี่ยวกับ “เวลา” แตกต่างกัน ซึ่งประเด็นนี้พูดได้สามวันสามคืนไม่จบ แค่พูดถึง “อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ก็ตีความได้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

ที่สาธยายมานี้ ไม่ได้หมายความว่าหนังหยุดตัวเองอยู่แค่การนำเสนอสมมุติฐานทางภาษาด้วยเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ เพราะมันไปไกลกว่านั้นมากมายมหาศาล ทั้งได้ต่อยอดไปสู่ประเด็นทางปรัชญาด้วย กล่าวคือ ตามสมมุติฐานซาเปียร์-วอร์ฟ ความคิดทุกอย่างของมนุษย์จะถูกกำหนดด้วยภาษา แล้วในภาวะเช่นนั้น คนเราจะยังมีเจตจำนงเสรี (free will) หรือไม่ ถ้ามี จะมีได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ ทำให้ชื่อเรื่อง Arrival ซึ่งแปลว่า “การมาถึง” สามารถตีความได้หลากหลาย ไม่แพ้คำอื่นๆ ที่ชาวโลกสื่อสารกับเอเลียนในหนังเลย

มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็คงไม่เกินจริงที่จะกล่าวว่า Arrival เป็นหนังไซไฟที่ทำให้เรารู้จักและเข้าใจภาษา อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหนังเรื่องใด

ว่าภาษาเป็นสิ่งที่แสนประณีตละเอียดอ่อน แต่ก็เปี่ยมด้วยพลังอำนาจ

เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงคน หรือมิฉะนั้นก็แบ่งแยก

มีความเป็นศิลปะ และในขณะเดียวกันก็เป็นวิทยาศาสตร์

เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดสร้างขึ้น แต่ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการกำหนดความคิดและมุมมองของมนุษย์

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 200

หมายเหตุ: Arrival เข้าชิงออสการ์ 8 สาขา
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – เดอนีส์ วีลเนิฟ ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส-แคนาดา มีผลงานเด่นคือ Prisoner (2013) Enemy (2013) และ Sicario (2015)
3. บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – เอริก เฮสเซอเรอร์ (เขียนเรื่อง Lights Out เมื่อปีที่แล้ว)
4. ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม
5. มิกซ์เสียงยอดเยี่ยม
6. ถ่ายภาพยอดเยี่ยม
7. ตัดต่อยอดเยี่ยม
8. โปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม