ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 128; ดู Dunkirk หนังสงครามพะยี่ห้อคริสโตเฟอร์ โนแลน

ในแวดวงฮอลลีวูด มีผู้กำกับ-เขียนบทไม่กี่คนหรอกที่จะได้ทำ ‘หนังในฝัน’ ของตัวเองเรื่องแล้วเรื่องเล่า โดยสตูดิโอพร้อมที่จะประเคนทุนสร้างให้ คริสโตเฟอร์ โนแลนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะแกได้สร้างสมบารมีมาจนเป็นที่ไว้วางใจว่าทำอะไรก็ไม่แป้ก แถมยังมีฐานแฟนคลับ (a.k.a.ติ่ง) มั่นคงถึงขั้นเพียงแค่บอกว่าเป็น ‘หนังโนแลน’ ทุกคนก็พร้อมจะการันตีว่าดีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดู #ว้าย ดังนั้น การทำหนังสงครามเรื่องแรกของโนแลน จึงจุดความสนใจในวงกว้างได้ตั้งแต่หนังยังไม่เข้าฉาย และจนบัดนี้ฉายในประเทศไทยมาสองสัปดาห์แล้ว ก็ยังได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่หยุดหย่อน

ที่มาภาพ: southeasttelevision.ie

โนแลนเขียนบทหนัง Dunkirk โดยอิงจากประวัติศาสตร์ช่วงต้นๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า ยุทธการที่ดันเคิร์ก (Battle of Dunkirk) หรือการอพยพดันเคิร์ก (Dunkirk Evacuation) ซึ่งมีโค้ดลับว่า “ปฏิบัติการไดนาโม” (Operation Dynamo) ในตอนนั้น ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม ร่วม 400,000 คน ถูกกองทัพนาซีเยอรมันรุกไล่ไปจนมุมที่ชายหาดเมืองดันเคิร์ก (ภาษาฝรั่งเศสเขียน Dunkerque) เมืองชายแดนฝรั่งเศสติดกับเบลเยียม รัฐบาลอังกฤษโดยนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ จึงอนุมัติปฏิบัติการอพยพครั้งใหญ่ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่เมืองโดเวอร์ เมืองชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ฝั่งตรงข้ามกับดันเคิร์ก ในห้องลับสำหรับเก็บไดนาโม อันเป็นยุทธปัจจัยของราชนาวีอังกฤษ (เป็นที่มาของชื่อ “ปฏิบัติการไดนาโม”) โดยไม่ได้แจ้งให้ฝรั่งเศสทราบเรื่องนี้แต่อย่างใด

แผนการอพยพคือ นำเรือประจัญบานลำใหญ่มารับทหารอังกฤษข้ามช่องแคบโดเวอร์กลับสู่มาตุภูมิ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร แต่ปัญหาคือ เรือใหญ่เข้ามาจอดใกล้ฝั่งไม่ได้ ต้องไปจอดเทียบสะพานหินที่ยื่นออกไปในทะเล สะพานนี้จึงกลายเป็นเป้าโจมตีทางอากาศของฝ่ายนาซีเยอรมัน อังกฤษก็เลยต้องพึ่งพาเรือเล็กแทน โดยให้พลเรือนที่มีเรือในครอบครองนำเรือมาช่วยราชการเป็นการฉุกเฉิน ปรากฏว่าทางการสามารถระดมเรือได้ถึง 700 ลำ ทำให้จากเดิมที่เชอร์ชิลล์ตั้งเป้าไว้ว่าจะช่วยทหารได้สักสี่ซ้าห้าหมื่นคน (เฉพาะทหารอังกฤษด้วยนะ) กลายเป็นว่า สามารถอพยพทหารฝ่ายสัมพันธมิตรออกจากดันเคิร์กข้ามไปยังฝั่งอังกฤษได้ทั้งหมด 338,226 คน โดยใช้เวลา 8 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมถึงเช้ามืดวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1940 จนผู้คนต่างเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ปาฏิหาริย์แห่งดันเคิร์ก (Miracle of Dunkirk) และความร่วมแรงร่วมใจของพลเรือนทั้งหลายที่นำเรือมาช่วยในการอพยพ ก็เป็นที่มาของสำนวน “จิตวิญญาณดันเคิร์ก” (Dunkirk Spirit) ซึ่งหมายถึงความกล้าหาญและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยาก

หนังสงครามส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยเล่นกับโครงสร้างเท่าไหร่ เพราะลำพังเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ก็เข้มข้นพออยู่แล้ว แถมยังต้องมีรายละเอียดในส่วนตัวละครเพิ่มเข้าไปด้วย แต่เนื่องจากโนแลนแกเป็น ‘เจ้าพ่อโครงสร้าง’ แกก็เลยนำเสนอหนังสงครามเรื่องนี้ในแบบที่ทุกคนดูแล้วรู้เลยว่าเป็นหนังของแก คือแบ่งเหตุการณ์ในเรื่องออกเป็น 3 เหตุการณ์ โดยเอาสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์เป็นตัวตั้ง ตัดสลับกันโดยไม่เรียงตามลำดับเวลา แต่ละเหตุการณ์มีระยะเวลาไม่เท่ากัน และระหว่างดำเนินเรื่องจะมีบางช่วงเวลาที่เหตุการณ์มาบรรจบกัน #มีความโนแลนมากข่าาาาา

เหตุการณ์ทั้งสาม มีดังต่อไปนี้

  1. The Mole (สะพานหิน) คือช่วงเวลา 1 สัปดาห์บนหาดดันเคิร์ก ซึ่งพลทหารฝ่ายสัมพันธมิตร 3 คนพยายามอย่างยิ่งที่จะได้ขึ้นเรือสักลำข้ามไปอังกฤษ เพื่อรักษาชีวิตให้รอด
  2. The Sea (ทะเล) คือช่วงเวลา 1 วันในช่องแคบโดเวอร์ ซึ่งเจ้าของเรือยอตช์คนหนึ่งออกเรือไปเองพร้อมกับลูกชายและเพื่อนลูกชาย เพื่อไปร่วมในปฏิบัติการอพยพทหาร
  3. The Air (ท้องฟ้า) คือช่วงเวลา 1 ชั่วโมงบนน่านฟ้าช่องแคบโดเวอร์ ซึ่งนักบิน 3 คนปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันทางอากาศให้แก่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรและเรือที่มารับ

ที่จริงการตัดสลับเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน คือ 1 สัปดาห์ / 1 วัน / 1 ชั่วโมง นี้ ก็เก๋ดีอยู่หรอก แต่ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำไปทำไม 555 เพราะมันไม่ได้ช่วยในการดำเนินเรื่องเท่าไรนัก และแทบจะไม่มีผลอะไรกับเนื้อหา ถ้าเทียบกับเรื่อง Inception หนังปี 2010 ของโนแลน ซึ่งมีการตัดสลับเหตุการณ์ในความฝัน 3 ชั้น โดยความฝันชั้นที่ลึกกว่า เวลาจะเดินช้ากว่า จะเห็นว่า Inception ใช้ประโยชน์จากความต่างของเวลาได้มากทั้งในแง่การสร้างพล็อตและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ

พูดถึงพล็อต ดิฉันว่าพล็อตหนังโนแลนมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือมีช่องโหว่เล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ แต่ช่องโหว่เหล่านั้นจะถูกสไตล์อันหวือหวาและรายละเอียดอันซับซ้อนกลบทับ ทำให้คนดูสนุกกับการติดตามเรื่องราวจนมองข้ามช่องโหว่ไป แต่พอมาถึงเรื่อง Dunkirk โนแลนเปลี่ยนแนวเป็นวางพล็อตไว้หลวมๆ โดยลดทอนความซับซ้อนของรายละเอียด คราวนี้ช่องโหว่ก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมาทันที โชคดีที่ได้การแสดงของคนคนหนึ่งมาอุ้มชูไว้…เปล่า ไม่ใช่ทอม ฮาร์ดี 555 ท่านผู้นั้นก็คือ มาร์ค ไรแลนซ์ เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเมื่อปี 2015 จากเรื่อง Bridge of Spies ไรแลนซ์รับบทเจ้าของเรือในพาร์ต The Sea ซึ่งด้วยความเก๋าของแกล้วนๆ ทำให้เราเข้าถึงตัวละครตัวนี้ได้ลึกซึ้งมากแม้ว่าบทหนังแทบจะไม่ได้ปูพื้นอะไรเลย

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของหนังโนแลน ก็คือการใช้ดนตรีประกอบโหมประโคมอย่างโดดเด่นจนดนตรีแทบจะกลายเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งของหนัง โดยผู้ที่ผูกปิ่นโตประพันธ์ดนตรีให้โนแลนมาตั้งแต่ The Dark Knight ไตรภาค (ปี 2005, 2008, 2012) Inception (ปี 2010) และ Interstellar (ปี 2014) ก็คือ ฮันส์ ซิมเมอร์ นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ เคยมีคนเมาท์ด้วยซ้ำว่าถ้าปราศจากดนตรีของซิมเมอร์ หนังของโนแลนก็แทบไม่มีอะไร อิคนเมาท์นี่น่าตบมาก แต่สำหรับ Dunkirk ดนตรีมันมีคุณูปการต่อหนังอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ ระหว่างดูหนังดิฉันรู้สึกตื่นเต้นจนลมแทบจับก็เพราะดนตรีนี่แหละ ถ้าเอาดนตรีออกก็อาจจะแอบหลับนิดนึงแล้วตกใจตื่นเพราะเสียงระเบิดลง 555

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดิฉันชอบที่สุดกลับไม่ใช่ดนตรีประกอบ แต่เป็นอารมณ์เคว้งคว้างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ฉากแรกจนกระทั่งฉากสุดท้าย แม้ว่าเราจะได้เห็นมนุษยธรรมในความพยายามที่จะเอาตัวรอด เห็นความมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร้เงื่อนไข และเห็นความทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญเสียสละ แต่หนังก็มีน้ำเสียงเสียดเย้ยอยู่ลึกๆ อันเป็นที่มาของความเคว้งคว้างในใจอย่างที่ไม่สามารถสลัดทิ้งได้ง่ายๆ บางทีนี่อาจจะเป็นความรู้สึกที่คนเราควรมีก็ได้เมื่อนึกถึง “สงคราม” บางทีเราอาจจะไม่ควรฮึกเหิม เมื่อนึกถึงกิจกรรมอันเปลืองเปล่าที่สุดเท่าที่มนุษย์จะกระทำกันได้เยี่ยงนี้

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 143 (อันเนื่องมาจากความเบี้ยน้อยหอยน้อย จึงไม่ได้ดูจอใหญ่ IMAX ก็เลยไม่มีกำไรในด้านความตื่นตาตื่นใจค่ะ)

หมายเหตุ: ก่อนฉายหนัง Dunkirk โรงหนังสกาลาได้ฉายหนังตัวอย่างเรื่อง Darkest Hour ซึ่งแกรี โอลด์แมน รับบทเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้อนุมัติปฏิบัติการไดนาโม ใครได้ดู Dunkirk ก็ไม่ควรจะพลาดเรื่องนี้ มีฉากเชอร์ชิลล์กล่าวสุนทรพจน์ “We shall fight on the beaches” (เราจะสู้บนชายหาด) อันลือลั่น ซึ่งก็มีการอ้างถึงในเรื่อง Dunkirk เช่นเดียวกัน แต่ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและบรรยากาศที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

1 สิงหาคม 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก filmsxpress.com)