ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 122; ดูหนังสารคดีว่าด้วยเรื่องราวของอดีตนักอเมริกันฟุตบอลที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจจะมีชีวิตอยู่ไม่เกิน 5 ปี เขาจึงถ่ายวิดีโอบันทึกช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไว้เป็นที่ระลึกแก่ลูกชายซึ่งกำลังจะลืมตาดูโลก ชื่อหนังเรื่องนี้ตั้งตามนามสกุลของเขา นั่นก็คือ Gleason

สตีฟ กลีสัน เป็นนักอเมริกันฟุตบอลดาวเด่นแห่งนิวออร์ลีนส์เซนต์ส ทีมอเมริกันฟุตบอลระดับชาติ สังกัด National Football League หรือ NFL (คนอเมริกันเรียกอเมริกันฟุตบอลว่า “ฟุตบอล” เรียกฟุตบอลว่า “ซ็อกเกอร์” #นะจ๊ะ) เมื่อปี 2006 (พ.ศ. 2549) สตีฟได้สร้างประวัติศาสตร์ในการแข่งขันระหว่างทีมนิวออร์ลีนส์เซนต์สกับทีมแอตแลนตาฟัลคอนส์ ที่สนามกีฬาซูเปอร์โดม เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา หลังจากครบ 1 ปีที่พายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่มนิวออร์ลีนส์ อันเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,500 คน และทำให้สนามซูเปอร์โดมต้องกลายเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้านร่วมหมื่นคน จนถูกเรียกว่าเป็น shelter of last resort หรือที่พักพิงแหล่งสุดท้ายของชาวนิวออร์ลีนส์ในช่วงเวลานั้น การกลับคืนสู่สนามเป็นครั้งแรกของทีมนิวออร์ลีนส์เซนต์สเมื่อปี 2006 จึงมีความสำคัญมากสำหรับชาวนิวออร์ลีนส์ แล้วสตีฟ กลีสันก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เมื่อเขาพุ่งตัวไปบล็อกลูกเตะกินแดนหรือที่เรียกว่าพันต์ (punt) ของทีมฟัลคอนส์ เป็นการโดดพุ่งไปสุดตัวเพื่อสกัดการรุกของอีกฝ่าย แทบจะวินาทีเดียวกับที่ลูกบอลพุ่งออกจากเท้าของฝ่ายตรงข้ามเลยด้วยซ้ำ และในที่สุดทีมเซนต์สก็เอาชนะไปอย่างขาดลอย นับเป็นสัญลักษณ์แห่งการ “ฟื้นคืนชีพ” ของเมืองนิวออร์ลีนส์ที่จารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ตราบจนปัจจุบัน

5 ปีต่อมา คือในปี 2011 สตีฟเริ่มป่วยและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อเขาอายุได้ 34 ปี โรคชนิดที่เขาเป็นคือ ALS ย่อมาจาก Amyotrophic Lateral Sclerosis เกิดจากเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเสื่อม จึงไม่สามารถสั่งการไปยังกล้ามเนื้อได้ ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถทางการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ ฝ่อลง ในที่สุดก็จะไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกาย พูดไม่ได้ กลืนอาหารและหายใจลำบากขึ้น จนกระทั่งถ้ากล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานก็จะเสียชีวิต โรค ALS นี้คนอเมริกันรู้จักกันดีในชื่อ “โรคลู เกห์ริก” (Lou Gehrig’s Disease) ซึ่งเรียกตามชื่อนามสกุลของนักเบสบอลคนดังผู้เป็นโรคนี้เมื่อปี 1939 และเสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมา

เพียง 2 เดือนหลังจากสตีฟรู้ว่าตัวเองป่วยด้วยโรคร้ายซึ่งไม่มีทางรักษา มิเชล ภรรยาของเขาก็ตั้งครรภ์ ด้วยความที่สตีฟคิดว่าเขาอาจจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ทันได้เห็นลูกเติบโต เขาจึงตัดสินใจถ่ายวิดีโอบันทึกเรื่องราวและความรู้สึกต่างๆ ที่อยากบอกอยากสอนลูก ก่อนที่เขาจะพูดไม่ได้อีกต่อไป ปรากฏว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อลูกนี้ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เขาทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง ทั้งพยายามปรับความเข้าใจกับพ่อเพื่อสะสางปมในใจที่มีมาตั้งแต่เด็ก และก่อตั้งมูลนิธิ The Gleason Initiative Foundation หรือที่เรียกอย่างลำลองว่า “ทีมกลีสัน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ด้วยการสนับสนุนให้มีอุปกรณ์ เทคโนโลยี และบริการต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ตลอดจนผลักดัน “กฎหมายสตีฟ กลีสัน” (The Steve Gleason Act) เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ป่วยในการที่จะมีอุปกรณ์สำหรับสื่อสารกับคนอื่นๆ อย่างเครื่องช่วยพูดด้วยการกลอกตา (แบบที่ศาสตราจารย์สตีเวน ฮอว์กิง ใช้น่ะฮ่ะ) ทั้งหมดนี้สตีฟทำสำเร็จ และยิ่งไปกว่านั้น เขายังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุ 40 ปี ส่วนน้องริเวอร์สผู้บุตรอายุ 5 ขวบจ้า

ดิฉันได้ดูหนัง Gleason ในกิจกรรม Doc+Talk ของ Documentary Club เป็นการฉายหนังต่อด้วยการเสวนาเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ก่อนเข้าโรงพิธีกรบอกว่าให้เตรียมผ้าเช็ดหน้าไว้ให้พร้อม ดิฉันก็เลยเตรียมตัวร้องไห้ตั้งแต่ฉากแรก เพราะเป็นคนแพ้ทางหนังแบบนี้อยู่แล้ว แต่หลังจากดูจบและประมวลผล รู้สึกว่ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะจะมีมากกว่าน้ำตา ทั้งๆ ที่มันห่างไกลจากความเป็นหนังฟีลกู๊ดมาก ที่เป็นอย่างนั้นดิฉันคิดว่ามาจาก 2 ส่วนประกอบกัน คือตัวซับเจ็กต์เอง อันได้แก่ สตีฟและมิเชล กับวิธีการเล่าเรื่องของ เคลย์ ทวีล ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งดิฉันจะขอกล่าวถึงควบคู่กันไปเลย

ทวีลเริ่มต้นทำงานในปี 2015 โดยนำโฮมวิดีโอที่สตีฟกับมิเชลถ่ายไว้มาคัดเลือก จัดเรียง และถ่ายเพิ่มเติมในส่วนเหตุการณ์ปัจจุบันกับการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ทีนี้ด้วยความที่สตีฟกับมิเชลมีพื้นฐานเป็นคนสนุกสนาน มองโลกตามความเป็นจริง และซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง หนังก็เลยมีครบทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสุข-ความเศร้า ความฮึกเหิม-ความทดท้อ ความชื่นชมยินดี-ความเจ็บปวด ความรักชีวิต-ความถุยชีวิต ซึ่งทวีลก็สามารถจัดวางความสมดุลของอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างพอเหมาะ ทำให้เราไม่เศร้าเกินไป ไม่สุขเกินไป และสามารถดื่มด่ำกับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้โดยไม่จมอยู่กับความเศร้าแต่เพียงอย่างเดียว

หนังทำให้ดิฉันเข้าใจ “ความเป็นวีรบุรุษ” ในหลากหลายมิติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่ดิฉันขอเรียกว่า Hero of the Hero หรือ “วีรบุรุษของวีรบุรุษ” หมายถึงผู้อยู่เบื้องหลังซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อความเป็นวีรบุรุษของอีกคน หากปราศจากคนคนนี้ วีรบุรุษก็จะไม่สามารถเป็นวีรบุรุษได้เลย ดังนั้น แท้ที่จริง เราอาจจะกำลังเป็นวีรบุรุษของใครบางคนอยู่ก็ได้ หรืออย่างน้อยๆ แค่เรายอมรับว่าชีวิตมันก็เส็งเคร็งแบบนี้แหละ แล้วพยายามใช้ชีวิตต่อไปไม่ให้เส็งเคร็งกว่าเดิม เราก็เป็น “วีรบุรุษ” ในชีวิตจริงของตัวเองได้แล้ว เพราะเราคือ “ผู้กล้า” ที่จะเผชิญความโหดร้ายของชีวิต และเป็น “ผู้พากเพียร” ที่จะนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นความโหดร้ายด้วยกำลังทั้งหมดที่เรามี

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 135

ภาพ: สตีฟ มิเชล และริเวอร์ส ในคราวที่ทีมกลีสันพาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไปเที่ยวมาชูปิกชู ประเทศเปรู เมื่อปี 2013 (ภาพจาก Courtesy of Open Road Films)

หมายเหตุ: Gleason มีฉายทางโรงหนังออนไลน์ของ Documentary Club ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 24 มิถุนายน ในราคา 99 บาทเท่านั้น ท่านผู้ใดสนใจก็เข้าไปในเพจได้เลย จะมีลิงค์ให้กดเข้าไปซื้อตั๋วและศึกษาวิธีการดูออนไลน์ นี่โฆษณาให้เพราะของเขาดีจริงๆ

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

19 มิถุนายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก liveforfilm.com)