ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 181; ดู Mamma Mia! Here We Go Again หนังเพลงภาคต่อสุดหฤหรรษ์บันดาลใจ

หนังภาคต้นซึ่งออกฉายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีชื่อว่า Mamma Mia! เฉยๆ สร้างมาจากละครเพลงชื่อเดียวกัน เปิดแสดงเป็นครั้งแรกที่เวสต์เอนด์ กรุงลอนดอน เมื่อปี 1999 ละครเพลงเรื่องนี้เป็นละครแบบที่เรียกว่า จู๊คบ็อกซ์มิวสิคัล (Jukebox Musical) คือละครเพลงที่ไม่ได้มีการแต่งเพลงขึ้นใหม่ แต่นำเพลงดังๆ ที่มีอยู่แล้วมาผูกเป็นเรื่องราว (jukebox แปลว่า ตู้เพลงแบบหยอดเหรียญ คือเหมือนกับว่าเรามีเพลงอยู่ในตู้เพลงอยู่แล้ว จะหยิบเพลงไหนมาใช้ก็ว่ากันไปตามท้องเรื่อง)

Mamma Mia! เป็นจู๊คบ็อกซ์มิวสิคัลที่ใช้เพลงของวงแอ็บบา (ABBA) เป็นวัตถุดิบ วงแอ็บบานี้เป็นวงดนตรีป็อปของสวีเดน ก่อตั้งในปี 1972 (พ.ศ. 2515) วงแตกเมื่อปี 1982 สิริรวม 10 ปี มีเพลง 8 อัลบั้ม ขายได้ทั่วโลก นับว่าโด่งดังขั้นอุกฤษฏ์ ชื่อวงมาจากอักษรตัวแรกของชื่อสมาชิกทั้ง 4 คน ได้แก่ อักเนตา ฟัลส์ค็อก (A) บียอร์น อัลเวอุส (B) เบนนี อันเดอร์สสัน (B) และ แอนนี-ฟริด ลิงสตัด (A) สองสาวอักเนตากับแอนนี-ฟริดทำหน้าที่ร้องนำ สองหนุ่มบียอร์นกับเบนนีเล่นดนตรีและร้อง บียอร์นเล่นกีตาร์ เบนนีเล่นคีย์บอร์ด และทั้งสี่แต่งเพลงเองเป็นภาษาอังกฤษจ้าาาา #สวีเดนเขาไม่ได้พูดภาษาสวีดิชกันเหรอ สมัยเด็กๆ ดิฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวงนี้ดังมาถึงจังหวัดพิษณุโลกได้ยังไง แต่บอกได้เลยว่า ขึ้นอินโทรมาเถอะ ตูรู้จักทุกเพลง เอาซี้!! #พ่อแม่คงฟังทั้งวันทั้งคืนละสิท่า

ชื่อละครเพลง Mamma Mia! นำมาจากชื่อเพลงฮิตเพลงหนึ่งของแอ็บบา ซึ่งใช้เป็นเพลงเด่นของเรื่องด้วย “มัมมามียา” นี้เป็นภาษาอิตาเลียน แปลตรงตัวว่า “แม่ของฉัน” ใช้เป็นคำอุทาน (โปรดสังเกตเครื่องหมายตกใจ) น่าจะคล้ายๆ กับที่คนไทยอุทานว่า “ว้ายแม่!” ซึ่งไม่ใช่ตกใจแม่นะ ตกใจอย่างอื่น 555 คนอิตาเลียนกับคนไทยคงจะมีแม่อยู่เหนือเศียรเกล้าคล้ายๆ กัน เวลาอุทานก็เลยเรียกแม่ แต่จริงๆ ความหมายก็เหมือนกับ “คุณพระคุณเจ้าช่วย!” “อุ๊ยตายว้ายกรี๊ด!” “อุ๊ตะ!” หรือ “พระเจ้าช่วยกล้วยทอด” นั่นแหละ

ละครเพลง Mamma Mia! ผูกเรื่องมาได้เหมาะสมกับชื่อเรื่องมาก คือเป็นเรื่องของหญิงสาววัย 20 ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน แล้วบังเอิญว่าได้ไปแอบอ่านสมุดบันทึกของแม่ ก็เลยได้รู้ว่าแม่ของเธอมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย 3 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่หนึ่งในสามคนนี้จะเป็นพ่อของเธอ เธอก็เลยแอบเขียนจดหมายในนามของแม่ ส่งถึงว่าที่พ่อทั้งสาม เชิญมางานแต่งงานโดยไม่ได้บอกให้แม่รู้ ซึ่งทั้งสามคนก็มาจ้าาาา ละครเพลงเรื่องนี้เขียนบทโดย แคเธอรีน จอห์นสัน นักเขียนบทละครทีวีและละครเวทีชาวอังกฤษ มีเจ้าของเพลงคือ บียอร์น อัลเวอุส กับเบนนี อันเดอร์สสัน มาทำดนตรีให้เอง (ตอนที่มาออนทัวร์ที่เมืองไทย ดิฉันก็ได้ไปดูกับแม่ รื่นเริงบันเทิงใจมาก) เมื่อละครได้รับการดัดแปลงเป็นหนังในปี 1999 แคเธอรีน จอห์นสัน ก็ตามมาเขียนบทให้ บียอร์นกับเบนนีก็ตามมาทำเพลงให้ ทั้งยังได้นักแสดงเจ้าแม่ออสการ์อย่าง เมอรีล สตรีพ มารับบทนำด้วย

หนัง Mamma Mia! หรือชื่อไทย “มัมมา มีอา! วิวาห์วุ่น ลุ้นหาพ่อ” เปิดเรื่องด้วยการส่งจดหมายของโซฟี เชอริแดน (แสดงโดย อะแมนดา ไซเฟร็ด) ไปถึงว่าที่คุณพ่อทั้งสามของเธอ ได้แก่ แซม สถาปนิกชาวไอริช-อเมริกัน (แสดงโดย เพียร์ซ บรอสแนน) บิลล์ นักเขียน-นักผจญภัยชาวสวีดิช (แสดงโดย สเตลแลน สการ์สกอร์ด) และแฮร์รี่ นายธนาคารชาวอังกฤษ (แสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ) ทั้งสามเดินทางมายังเกาะคาโลไครี ประเทศกรีซ ซึ่งโซฟีอาศัยอยู่กับดอนน่า คุณแม่ของเธอ (แสดงโดย เมอรีล สตรีพ)

ดอนน่ามีเพื่อนรัก 2 คน คือ ทันย่า สาวใหญ่ไฮโซเปรี้ยวปรี๊ดผู้หย่ามาแล้ว 3 ครั้ง (แสดงโดย คริสทีน บารันสกี้) กับโรซี่ นักเขียนสาวใหญ่เฮฮาผู้ยังไม่เคยแต่งงาน (แสดงโดย จูลี่ วอลเตอร์ส) ทั้งสามเคยรวมตัวกันเป็นนักร้องในนาม “ดอนน่าแอนด์เดอะไดนาโมส์” จนกระทั่งดอนน่าย้ายมาอยู่ที่เกาะนี้เพียงคนเดียว และคลอดโซฟี วงเดอะไดนาโมส์จึงต้องเลิกไป แต่ทันย่ากับโรซี่ก็ยังคงเป็นเพื่อนรักประดุจญาติของดอนน่าเช่นเดิม และไม่พลาดที่จะเดินทางมาร่วมงานแต่งงานของโซฟีด้วย ทุกคนพักอยู่ที่โรงแรมบนเขา ซึ่งดอนน่าเป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองทุกอย่างด้วยความกระเบียดกระเสียร

เมื่อดอนน่าได้พบกับแซม บิลล์ และแฮร์รี่ เธอก็ถึงกับสติแตก เล่าให้เพื่อนทั้งสองฟังว่า ในบรรดา 3 คนนั้น มีคนหนึ่งเป็นพ่อของโซฟี แต่เธอก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใคร ส่วนโซฟีก็ค้นพบว่า เธอมีความสามารถทางการวาดรูปเหมือนกับแซม และชื่อ “โซฟี” ของเธอตั้งตามชื่อคุณป้า “โซเฟีย” ของบิลล์ ผู้เป็นเจ้าของบ้านบนเขาและยกเป็นมรดกให้แก่ดอนน่า ฝ่ายแซม บิลล์ และแฮร์รี่ ต่างก็ตระหนักว่าเขาอาจจะเป็นพ่อของโซฟีก็ได้ ทั้งสามจึงบอกโซฟีว่าจะเป็นคนเดินส่งเจ้าสาวในโบสถ์เอง โซฟีมึนตึ้บ ก็เลยทะเลาะกับสกาย ผู้เป็นคู่หมั้น (แสดงโดย โดมินิก คูเปอร์) และทะเลาะกับดอนน่าด้วย แต่ก็ปรับความเข้าใจกันได้ทันก่อนงานแต่งงานจะเริ่มขึ้น มีเพียงคู่เดียวที่ยังเข้าหน้ากันไม่ติด คือดอนน่ากับแซม ตั้งแต่เดินทางมาถึงเกาะนี้ แซมก็พยายามบอกให้ดอนน่ารู้ว่าเขายังรักเธออยู่ แต่ดอนน่าไม่ยอมฟัง เพราะยังเจ็บปวดที่เขามาหลอกให้เธอหลงรัก ทั้งๆ ที่เขามีคู่หมั้นอยู่แล้ว

ในพิธีแต่งงานที่โบสถ์ ดอนน่าทำหน้าที่เดินส่งเจ้าสาวไปยังแท่นพิธี แล้วประกาศว่า พ่อของโซฟีอยู่ในพิธีนี้ด้วย แซม บิลล์ และแฮร์รี่ ต่างก็ยืนยันว่า ยินดีที่จะเป็นพ่อของโซฟี โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าเธอเป็นลูกของใคร โซฟีแฮปปี้มาก คิดขึ้นได้ว่าเธอและสกายอายุยังน้อย ควรจะได้ไปผจญภัยในโลกกว้างก่อนที่จะมีครอบครัว จึงขอยกเลิกการแต่งงาน สกายดีใจมาก เพราะเขาก็ต้องการแบบนั้นเช่นกัน แซมเห็นว่างานก็จัดแล้ว แขกก็มาแล้ว จึงขอดอนน่าแต่งงาน เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนที่ดอนน่ารู้ความจริงว่าเขามีคู่หมั้น ดอนน่าก็หนีไปเลย เขาตามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จึงกลับไปเลิกกับคู่หมั้นก่อน พอกลับมาอีกที ถึงได้รู้ว่าดอนน่าไปกับผู้ชายอื่นแล้ว เขาจึงกลับไปหาคู่หมั้นและโดนจับแต่งงาน แล้วในที่สุดก็จบลงด้วยการหย่า

ดอนน่ารู้ความจริงดังนั้น จึงตกลงแต่งงานกับแซม ฝ่ายทันย่าก็ยังฮ็อตจนมีหนุ่มคราวลูกตามต้อยๆ โรซี่ลองจีบบิลล์ และก็ดูท่าว่าจะติด แฮร์รี่ผู้มีดอนน่าเป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวในชีวิต แล้วหลังจากนั้นก็มีแต่ผู้ชายมาตลอด ก็ได้พบหนุ่มหล่อถูกใจให้กระชุ่มกระชวย ส่วนโซฟี ก็ล่องเรือไปกับสกาย เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะได้ท่องโลก หลังจากความฝันที่จะได้พบพ่อเป็นความจริงแล้ว แบบคูณสามซูเปอร์แก๊งอีกต่างหาก

ที่ต้องเล่ายาวแบบนี้ เพราะหนัง Mamma Mia! Here We Go Again ดำเนินเรื่องต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหนังภาคแรกแบบขั้นสุด หนังมี 2 เส้นเรื่องที่ดำเนินคู่ขนานกัน เส้นเรื่องหนึ่งเป็นการเล่าย้อนอดีตถึงดอนน่าวัยสาว ว่าเธอมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย 3 คนได้อย่างไร อีกเส้นเรื่องหนึ่งเป็นการดำเนินเรื่องต่อจากหนังภาคที่แล้ว หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี โซฟีกำลังจะเปิดโรงแรมของดอนน่าขึ้นมาใหม่ จากที่ปิดไปช่วงหนึ่งหลังการเสียชีวิตของดอนน่าเมื่อ 1 ปีที่แล้ว หนังเรื่องนี้จึงเป็นทั้งภาคต้น (prequel) และภาคต่อ (sequel) ในเวลาเดียวกัน

หนังดำเนินเรื่องด้วยการนำเส้นเรื่องของดอนน่าในอดีต กับเส้นเรื่องของโซฟีในปัจจุบัน มาตัดสลับกัน ซึ่งในช่วงต้นๆ ของหนัง มันดูไม่ค่อยจะไปด้วยกันเท่าไหร่ แต่พอเรื่องดำเนินไป ปรากฏว่าสองเส้นเรื่องก็เริ่มเกาะเกี่ยวกันมากขึ้นๆ แล้วก็ค่อยๆ หลอมรวมเข้าด้วยกันจนสนิทในตอนท้าย การดำเนินเรื่องแบบนี้สอดคล้องกับความรู้สึกของโซฟี ซึ่งช่วงต้นเรื่องมีแต่ความอ้างว้างโดดเดี่ยว เพราะรู้สึกว่าสูญเสียแม่ไปแล้วตลอดกาล แต่ความพยายามที่จะฟื้นฟูโรงแรมของแม่ขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางกำลังใจจากคนที่รักแม่และรักเธอ ได้ทำให้เธอรู้สึกใกล้ชิดแม่มากขึ้นๆ แล้วในที่สุดก็ตระหนักว่า เธอกับแม่จะไม่มีวันห่างไกลกัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกันอีกต่อไปแล้ว ความเกาะเกี่ยวและสอดคล้องต้องกันนี้ทำให้บทหนังมีเอกภาพมากๆ ซึ่งถ้าจะว่าไป มีเอกภาพมากกว่าภาคแรกเสียอีก

นักแสดงหลักจากภาคแรกยังคงกลับมารับบทเดิมอย่างครบถ้วน (เวลาในเรื่องผ่านไป 5 ปี แต่เวลาจริงผ่านไป 10 ปี แต่ละคนก็สังขารเสื่อมพอประมาณ โดยเฉพาะโดมินิก คูเปอร์ กับอะแมนดา ไซเฟร็ด) ร่วมด้วยนักแสดงในเส้นเรื่องย้อนอดีต ฝ่ายหญิงมี ลิลี่ เจมส์ (รับบทดอนน่า) เจสสิกา คีแนน วินน์ (รับบททันย่า) และอเล็กซ่า เดวีส์ (รับบทโรซี่) ทั้งสามหน้าตาไม่เหมือนตอนแก่เลย เหมือนแค่ทรงผม 555 แต่เสียงพูดและวิธีพูดใช่มาก แสดงว่าทำการบ้านมาอย่างดี ส่วนฝ่ายชาย ประกอบด้วย เจเรมี เออร์ไวน์ (รับบทแซม) จอช ดีแลน (รับบทบิลล์) และฮิว สกินเนอร์ (รับบทแฮร์รี่) ในบรรดา 3 คนนี้ มีจอช ดีแลน นี่แหละที่หน้าเหมือนตอนแก่หน่อย คือน้องมีความละม้ายลุงสเตลแลน สการ์สกอร์ดมาก จนทีแรกดิฉันคิดว่าเป็นลูกชายลุงหรือเปล่า เพราะลุงแกมีลูกชายเป็นนักแสดงตั้งสามสี่คน (บิลล์ สการ์สกอร์ด ที่เล่นเรื่อง It ก็ลูกแก เชิญชมความหล่อได้ที่เบี้ยน้อยหอยน้อย 135 #ขายของพร้อมปาดน้ำลาย) ที่สาธยายมานี่ก็เพื่อจะบอกว่า ฝ่ายหญิงเด่นเรื่องแสดง ส่วนฝ่ายชายเด่นเรื่องหล่อ โดยเฉพาะจอช ดีแลน แสดงว่าลุงสเตลแลนตอนหนุ่มๆ คงจะหล่อมาก 555 นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงรุ่นเก๋ามาร่วมทีมอีก 2 คน คือ แอนดี้ การ์เซีย ซึ่งยิ่งแก่ยิ่งเท่ แสดงเป็นผู้จัดการโรงแรม และเจ้าป้าแฌร์ ซึ่งยิ่งแก่ยิ่งหน้าตึงเปรี๊ยะ แสดงเป็นคุณยายของโซฟี เรื่องของคุณยายนี้มีกล่าวถึงในภาคแรกว่า พอดอนน่าตั้งท้อง คุณยายก็ตัดหางปล่อยวัดเลย แต่ตอนนี้คุณยายมาแล้วจ้าาา ครบทีม

แคเธอรีน จอห์นสัน เจ้าเก่า ไม่ได้เขียนบทหนังเรื่องนี้ แต่เป็นคนคิดเรื่องร่วมกับ ริชาร์ด เคอร์ติส ผู้อำนวยการผลิต และโอล พาร์คเกอร์ ผู้กำกับ ซึ่งรับหน้าที่เขียนบทด้วย ดิฉันรู้สึกได้เลยว่าทั้งสามจะต้องรัก Mamma Mia! มาก และเข้าถึงความเป็น Mamma Mia! จริงๆ เพราะว่าเรื่องที่คิดขึ้นสามารถเติมเต็มเรื่องราวของ Mamma Mia! ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยนำรายละเอียดต่างๆ ที่เปิดทิ้งไว้ในหนังภาคแรกมาต่อยอดได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ที่สำคัญ จิตวิญญาณของ Mamma Mia! ก็ยังคงอยู่ นั่นคือความสุขสันต์หรรษาเฮฮาปาร์ตี้ อันเกิดจากเหตุการณ์ที่พัลวันพัลเก และบทบาทชวนหัวของตัวละคร มุขต่างๆ ที่เวิร์คมากนั้น มาจากความคงเส้นคงวาของคาแรกเตอร์ตัวละคร และการขยายบทบาทที่เป็นไปได้บนพื้นฐานของคาแรกเตอร์ดังกล่าว ดังนั้น ในความขำ จึงมีความรู้สึก “เอี้ย! มันใช่!” อยู่ในใจด้วย แค่ชื่อเรื่อง Mamma Mia! Here We Go Again ก็รู้สึกว่าใช่แล้ว เพราะเป็นการปรับจากเนื้อเพลง Mamma Mia! ท่อนฮุค ที่ว่า “Mamma Mia! Here I go again” (แปลว่า โอ๊ยตาย! เอาอีกแล้วนะเรา) พอเปลี่ยน I เป็น we “เรา” ก็ไม่ใช่แค่ “ฉัน” คนเดียวแล้ว แต่หมายถึง “พวกเรา” ทั้งหมด นับว่าเพลงแอ็บบาเป็นวัตถุดิบที่ล้ำเลิศจริงๆ ขนาดนำมาทำหนังภาค 2 ยังมีเนื้อเพลงที่สามารถปรับเป็นชื่อเรื่องได้อย่างเก๋ไก๋ โดยไม่ต้องตั้งชื่อเชยๆ แบบชื่อไทยว่า “มามา มียา! 2” 555

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเจ๋งมากจนไม่เมาท์ไม่ได้ ก็คือการใช้เพลงแอ็บบาในหนัง คือมันจะมีทั้งเพลงที่อยู่ในภาคแรก กับเพลงที่เพิ่งใช้ในภาคนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งดิฉันจะขอจัดแบ่งเป็นข้อๆ ให้เห็นวิธีการ ดังนี้

  1. สำหรับเพลงที่อยู่ในภาคแรก ถ้าเพลงไหนเคยใช้แบบไม่เต็มเพลง ใช้เป็นดนตรีประกอบ หรือใช้ในช่วงเอ็นด์เครดิต ในภาคนี้จะใช้เพลงเหล่านั้นเป็นเพลงดำเนินเรื่อง ส่วนเพลงดำเนินเรื่องในภาคแรก ก็จะเอามาใช้แบบไม่เต็มเพลง ใช้เป็นดนตรีประกอบ และเป็นเอ็นด์เครดิตในภาคนี้แทน ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองภาคอย่างสุดๆ
  2. มี 2 เพลงที่ใช้เป็นเพลงเอกของทั้งสองภาค ได้แก่ Mamma Mia! กับ Dancing Queen แต่ใช้ในปริบทที่ต่างกัน ก็เลยมีการตีความแตกต่าง ทำให้การเรียบเรียงเสียงประสาน วิธีการร้อง และการออกแบบการนำเสนอแตกต่างกันไปด้วย สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาการตีความเพลงได้เลย
  3. เพลงที่เพิ่งใช้ในภาคนี้เป็นครั้งแรก เลือกมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง และช่วยเสริมสร้างอารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างมาก ดิฉันดูไปก็น้ำตาไหลมากมาย ทั้งขำ ทั้งซาบซึ้ง ทั้งอบอุ่น เรียกรวมๆ อย่างง่ายๆ ว่า…

‘มีความสุข’

สรุป: จ่าย 400 ได้กลับมา 513

หมายเหตุ: ตั๋วหนังราคา 400 นี่คือดูที่โรงเอ็มพรีเว่ ซีเนคลับ ห้างเอ็มโพเรียม เนื่องจากเหลือฉายที่โรงนั้นอยู่โรงเดียว เป็นโรงหรูหราหมาเห่ามาก เก้าอี้ทั้งกว้างและยาว ให้เรานั่งเหยียดขาดู แล้วก็มีผ้าห่มให้ด้วย ฝรั่งที่มาดูรอบเดียวกันเห็นความหรูเบอร์นี้ของโรงหนังเมืองไทย ถึงกับร้องว้าว

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

10 กันยายน 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)