ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 112; ร่วมกิจกรรม Doc+Talk ซึ่ง Documentary Club จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ ฉายหนังสารคดีเรื่อง Return to Homs แล้วต่อด้วยการเสวนาเกี่ยวกับความขัดแย้งในซีเรียและปัญหาผู้ลี้ภัย โดยคิดค่าร่วมกิจกรรมเพียง 100 บาท #คุ้มเด้

นาทีนี้ คำว่า “สงครามซีเรีย” ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัวแล้วสำหรับทุกคน แม้เมืองไทยจะอยู่ห่างจากซีเรียมาก แต่เราก็รับรู้ข่าวคราวของที่นั่นด้วยความสลดรันทด และในขณะเดียวกันก็หวาดหวั่นว่ามันจะลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือเปล่า ในเมื่อชาติมหาอำนาจเข้าไปมีเอี่ยวอย่างเต็มตัวและหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ แต่ก่อนหน้าที่สถานการณ์ในซีเรียจะบานปลายจนมีการแทรกแซงทั้งจากผู้ก่อการร้ายและประเทศอื่นๆ ชุลมุนชุลเกกันอยู่อย่างในปัจจุบัน ความขัดแย้งในซีเรียได้เริ่มต้นขึ้นจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกอาหรับ ที่เรียกกันว่า อาหรับสปริง (Arab Spring)

ประเทศต่างๆ ในโลกอาหรับ (Arab World) อันหมายถึงดินแดนในแอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตกซึ่งพูดภาษาอาหรับนั้น มีปัญหาที่ฝังรากลึกมานานเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง อันเนื่องมาจากอดีตกาลนานมาแล้ว ดินแดนแห่งนี้ซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เร่ร่อนบ้าง ลงหลักปักฐานบ้าง ได้ถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิของชาวเติร์กซึ่งยิ่งใหญ่และเรืองอำนาจสุดๆ ในยุคนั้น ชนเผ่าอาหรับตกอยู่ใต้อำนาจเติร์กประมาณ 500 ปี #โอ่ยยย พอจักรวรรดิออตโตมันเริ่มเสื่อมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษก็ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือชนเผ่าอาหรับในการประกาศตนเป็นเอกราช แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลง และจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายอย่างเป็นทางการแล้ว อาหรับกลับต้องตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกแทน และถูก ‘แบ่งเค้ก’ ออกเป็นประเทศต่างๆ จนเวลาผ่านไป ในบรรดาแต่ละประเทศนั้นก็เกิดมีวีรบุรุษขึ้นมา เป็นทหารบ้างอะไรบ้าง มาเป็นแกนนำประชาชนในการปลดแอกจากชาติตะวันตก แล้วก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ท่ามกลางความหวังของประชาชนว่าต่อไปนี้ทุกคนจะมีสิทธิเสรีภาพและมีชีวิตที่ดีกว่า แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้นำยุคใหม่ไม่ยอมลงจากตำแหน่งสักที แถมยังสืบทอดตำแหน่งให้ลูกหลานว่านเครือด้วย ผู้นำบางประเทศนับถือศาสนาคนละนิกายกับประชาชน ก็เลือกปฏิบัติกับประชาชนซะงั้น มันก็เลยเป็นที่มาของการถูกปิดกั้น ถูกละเมิด ถูกลิดรอน อันทำให้ชาวอาหรับต้องอยู่อย่างหวานอมขมกลืนกันมาโดยตลอด

ครั้นถึงเดือนธันวาคม ปี 2010 ชายหนุ่มคนหนึ่งในประเทศตูนิเซียก็ตัดสินใจเผาตัวเองตายด้วยความคับแค้น ชาวตูนิเซียจึงลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่ผู้นำเผด็จการ เหตุการณ์ในตูนิเซียแพร่กระจายไปในโลกอาหรับอย่างรวดเร็วด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย แล้วหลังจากนั้นไม่กี่วันประชาชนในประเทศอื่นๆ ก็ลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้นำของตนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอัลจีเรีย จอร์แดน โอมาน อียิปต์ ซีเรีย เยเมน จิบูติ ซูดาน อิรัก บาห์เรน ลิเบีย คูเวต โมร็อกโก มอริเตเนีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย และเวสเทิร์นสะฮารา หลายๆ ประเทศสามารถขับไล่ผู้นำเผด็จการ โค่นล้มรัฐบาล และเจรจาจัดสรรอำนาจกันได้สำเร็จ มีเพียง 4 ประเทศที่การประท้วงลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ได้แก่ เยเมน อิรัก ลิเบีย และซีเรีย ซึ่งในจำนวนนั้น สถานการณ์ในซีเรียรุนแรงที่สุด จนถึงปัจจุบันมีคนตายไปกว่า 400,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยประมาณ 11 ล้านคน คือเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ และบ้านเมืองซีเรียซึ่งเคยงดงาม ก็กลายเป็นเศษซากอารยธรรมที่ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะฟื้นฟูกลับคืนมาได้

การประท้วงในซีเรียเริ่มต้นขึ้นในเดือนมีนาคม ปี 2011 เพื่อต่อต้านการครองอำนาจอันยาวนานของตระกูลอัล-อัสซาด ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฮาเฟซ อัล-อัสซาด ก่อการรัฐประหารแล้วสถาปนาตนเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 40 ปีก่อน พอตายไป ลูกชายคือ บาชาร์ อัล-อัสซาดก็รับช่วงต่อ จวบจนปัจจุบันตระกูลนี้ได้เถลิงอำนาจมา 46 ปีแล้ว การประท้วงเปิดฉากที่เมืองหลวงคือกรุงดามัสกัส จากนั้นก็แผ่ขยายไปยังเมืองต่างๆ โดยสื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพและเสียง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไม่สามารถเดินทางเข้าซีเรีย การสื่อสารทางโซเชียลมีเดียก็ถูกปิด เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้กำกับสารคดีโทรทัศน์ชาวซีเรียคนหนึ่ง นามว่า ทาลาล เดอร์กี ซึ่งในตอนนั้นอายุ 34 จึงตัดสินใจทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกในชีวิต ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศของเขาเอง เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ไว้เป็นบทเรียนแก่คนรุ่นหลัง

ที่มาภาพ: ilovedocs.com

เดอร์กีเริ่มงานในปี 2011 โดยเก็บภาพการประท้วงในเมืองต่างๆ ไว้ แต่ก็ยังไม่เจอใครที่จะสามารถเป็นศูนย์กลางของการเล่าเรื่องได้ จนกระทั่งเขาเข้าเมืองฮอมส์ (Homs) และได้พบกับผู้นำการประท้วงของที่นั่น ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มอายุเพียง 19 ปี ชื่อ อับดุล บาเซต์ อัล-ซารูต์ (คนที่อยู่ในโปสเตอร์นั่นล่ะฮ่ะ)

บาเซต์เป็นชาวเมืองฮอมส์โดยกำเนิด ก่อนจะมาเป็นแกนนำการประท้วง เขาเป็นนักฟุตบอลดาวรุ่งตำแหน่งผู้รักษาประตูในทีมชาติชุดเยาวชนของซีเรีย เขาจึงนำวัฒนธรรมฟุตบอลมาผสานเข้ากับการประท้วง โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมจับมือกันเต้นเป็นวงกลม ร้องเพลงที่เขาแต่งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการสละอำนาจ และให้รัฐบาลกับกองทัพอยู่ข้างประชาชน นับเป็นการประท้วงอย่างสันติวิธีที่มีพลังมาก จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ทำให้พวกเขาต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และถูกตราหน้าจากรัฐบาลว่าเป็น “กลุ่มกบฏติดอาวุธ” อย่างสมบูรณ์

เมื่อการปะทะรุนแรงขึ้น เดอร์กีก็ไม่สามารถหาตากล้องมืออาชีพมาร่วมงานได้อีก เขาจึงสอนกลุ่มผู้ประท้วงให้ใช้กล้อง ช่วยๆ กันถ่ายทุกอย่างไว้ ผู้ประท้วงคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ถ่ายภาพจนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตากล้องหลักของหนัง ก็คือหนุ่มวัย 24 ออสซามา อัล-ฮอมซี หนังสารคดีเรื่องนี้จึงขับเคลื่อนไปด้วยบาเซต์กับออสซามา มีเดอร์กีทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่จริง ใกล้ชิดกับเหตุการณ์แบบวิ่งหนีกระสุนหลบระเบิดกันจริงๆ และเห็นผู้ประท้วงตายไปต่อหน้าคนแล้วคนเล่า

หนังใช้เวลาถ่ายทำ 2 ปี สิ้นสุดในปี 2013 โดยในช่วง 7 เดือนสุดท้ายของการถ่ายทำ สถานการณ์การสู้รบเลวร้ายมากจนเดอร์กีไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ต่อได้ ต้องลักลอบออกนอกประเทศและไม่อาจกลับเข้าไปได้อีก กลุ่มผู้ประท้วงจึงทำหน้าที่บันทึกภาพแล้วลักลอบส่งเทปออกมาให้เดอร์กีตัดต่อ นับว่ากระบวนการทำหนังเรื่องนี้ก็ ‘เป็นประวัติศาสตร์’ ไม่ต่างจากเนื้อหาของหนังเลย

Return to Homs ชนะรางวัลยอดเยี่ยม (Grand Jury Prize) สายภาพยนตร์สารคดีโลก ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2014 และเข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์อีกมากมาย ทั้งนี้ ดิฉันคิดว่า ความดีงามของหนังมาจาก “มุมมอง” ในการเล่าเรื่องของเดอร์กีเป็นสำคัญ กล่าวคือ เขาไม่ได้เชิดชูอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะของฝ่ายใด แต่เขาเชิดชูความเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีความหวัง มีความฝัน มีความเจ็บปวด และยังคงกัดฟันสู้ต่อแม้จะต้องแลกด้วยชีวิต ภาพความรุนแรงที่หนังนำเสนอจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อการปลุกระดม แต่เป็นการ ‘ปลุกให้ตื่น’ เพื่อนำไปสู่ความตระหนักรู้ของผู้คน ที่จะช่วยกันจรรโลงโลกนี้ให้ดีกว่าเดิมในวันข้างหน้า

นับจากปี 2013 มาจนถึงบัดนี้ สถานการณ์ในซีเรียก็ดำเนินไปอย่างที่มันย่อมจะเป็น คือเมื่อรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประท้วงห้ำหั่นกันด้วยอาวุธ มันก็กลายเป็นสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ และเมื่อตกอยู่ในภาวะสงคราม ประเทศก็กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว ส่งผลให้กลุ่มก่อการร้าย IS สามารถเข้ามายึดเป็นฐานที่มั่น ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกับผู้นำซีเรีย ก็จะเข้ามาช่วยปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูกับผู้นำซีเรีย ก็จะแอบให้ความช่วยเหลือผู้ประท้วงในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และอื่นๆ แล้วในที่สุด ประเทศมหาอำนาจที่คานอำนาจกันอยู่คนละขั้ว ก็เข้ามาร่วมแจม ฝ่ายหนึ่งหนุนรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งหนุนกลุ่มผู้ประท้วง กลายเป็นสงครามตัวแทน ซึ่งไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ทาลาล เดอร์กีหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนให้แก่มนุษย์ ดิฉันจึงอยากจะหวัง ว่าขอให้มนุษย์เรียนรู้อะไรได้บ้างเถิด

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 125

หมายเหตุ: ขณะนี้ Return to Homs เข้าฉายที่ House RCA เพียงที่เดียว ผู้ใดว่างเรียนเชิญค่ะ #โรงหนังบ้านเดี๊ยนเอง

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
30 เมษายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)