ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 156; ดู Suburbicon หนังที่มีชื่อไทยถูกใจดิฉันอย่างแรงว่า “พ่อบ้านซ่าส์ บ้าดีเดือด”

นับไปนับมา นี่คือหนังเรื่องที่ 6 แล้วนะที่เฮียจอร์จ คลูนีย์ กำกับ และเป็นเรื่องที่ 5 ที่เขียนบทเองด้วย จัดว่าแกก็เอาดีทางนี้ได้อยู่แหละ เข้าชิงรางวัลมาก็เยอะ แถมยังมีแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจน คือมักจะทำหนังตีแผ่สังคมและการเมืองกากๆ ของอเมริกาด้วยท่าทีเสียดสีเย้ยหยัน หรือไม่ก็ล้อเลียนไปเลย สะท้อนความเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของแก ซึ่งแกก็เป็นมานานแล้ว และจัดได้ว่าเป็น ‘ตัวจริง’ คนหนึ่ง

เฮียจอร์จแกมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ แกรนต์ เฮสลอฟ ทำงานร่วมกันมานานในหนังหลายต่อหลายเรื่อง ทั้งในฐานะผู้กำกับ ผู้เขียนบท และผู้อำนวยการผลิต เฮียทั้งสองได้วางแผนจะทำหนังเรื่องใหม่กัน เป็นหนังที่สร้างจากเหตุการณ์จริงในปี 1957 (พ.ศ. 2500) เมื่อกลุ่มคนขาวในเมืองเลวิตทาวน์ รัฐเพนซิลเวเนีย รวมตัวกันขับไล่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นครอบครัวคนผิวดำอย่างป่าเถื่อน ทั้งๆ ที่โฆษณาเสียดิบดีว่าเลวิตทาวน์เป็น ‘เมืองในอุดมคติ’ ของอเมริกันชน ซึ่งทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและเท่าเทียม

เมืองเลวิตทาวน์นี้ สร้างขึ้นโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Levitt & Sons ของตระกูลเลวิตต์ เพื่อตอบสนอง ‘ความฝันแบบอเมริกัน’ ของชนชั้นกลางที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองและอยู่ในชุมชนที่ดี บริษัทก็เลยไปซื้อที่แถบชานเมือง สร้างเป็นชุมชนเมืองขึ้นมา โดยเริ่มที่นิวยอร์กก่อนเป็นที่แรกในปี 1947 ตั้งชื่อว่าเลวิตทาวน์นี่แหละ จากนั้นในปี 1951 ก็ไปสร้างเลวิตทาวน์แห่งที่ 2 ที่เพนซิลเวเนีย จุดขายของเลวิตทาวน์คือ ความสวยงามเรียบร้อยของเมืองซึ่งแสดงออกถึง ‘ความเท่าเทียม’ เพราะบ้านทุกหลังจะหน้าตาเหมือนกัน ขนาดเท่ากันทั้งหมด และความสงบสุขแบบ ‘ชุมชนคนขาว’ เพราะไม่มีนโยบายรับคนผิวดำเข้ามาอยู่อาศัย จุดขายตามที่เขาโฆษณานี้จึงเป็นการประกาศว่า ‘เมืองในอุดมคติของอเมริกันชน’ ก็คือเมืองที่มีแต่คนขาว ไม่มีคนดำมากล้ำกราย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประกาศได้แหละในสมัยนั้น เพราะเขายังเหยียดผิวกันอย่างถูกกฎหมายอยู่ จนกระทั่งในปี 1957 เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำอย่างเข้มข้น เจ้าของบ้านหลังหนึ่งได้ขานรับกระแสนี้ ขายบ้านต่อให้แก่ครอบครัวมายเออร์ส ซึ่งเป็นคนผิวดำ พอครอบครัวนี้ย้ายเข้ามา จลาจลจึงบังเกิด ถึงขั้นแทบจะเผาบ้านไล่ที่กัน เฮียจอร์จกับเฮียแกรนต์จึงอยากทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เพื่อวิพากษ์การเหยียดผิวที่ยังคงหยั่งรากฝังลึกอยู่ในอเมริกา

ทีนี้เฮียจอร์จแกเกิดนึกขึ้นได้ว่า เมื่อหลายปีมาแล้วแกเคยได้รับการทาบทามให้กำกับและแสดงหนังเรื่องหนึ่ง แต่โปรเจ็กต์ล่มไปเสียก่อน ฉากหลังของหนังเป็น ‘เมืองในอุดมคติ’ แบบเดียวกับเลวิตทาวน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้เปลือกนอกอันงดงามก็คือชีวิตอันชั่วช้าและพังพินาศ (ด้วยน้ำมือตัวเอง) ของอเมริกันชน บทหนังเรื่องนี้เขียนโดย โจเอลและอีธาน โคเอน สองพี่น้องนักทำหนังผู้เก่งกาจที่สุดคนหนึ่ง เอ๊ย! คู่หนึ่ง ของฮอลลีวูด ผู้เขียนบทและกำกับหนังในดวงใจตลอดกาลเรื่องหนึ่งของดิฉัน คือ No Country for Old Men เมื่อปี 2007 เฮียจอร์จกับเฮียแกรนต์จึงจับมือพี่น้องโคเอน นำบทหนังเรื่องนี้มายำรวมกับวิกฤตการณ์เหยียดผิวในเลวิตทาวน์ ได้ออกมาเป็นหนังเรื่อง Suburbicon นี้แล

ที่มาภาพ: imdb.com

“ซับเบอร์บิคอน” คือชื่อเมืองที่เกิดเหตุการณ์ในหนัง พิศดูรูปคำแล้วน่าจะเกิดจากการสมาสระหว่าง suburb (ชานเมือง) กับ icon (สิ่งหรือบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของอะไรบางอย่าง) หนังพาเราย้อนยุคไปในปี 1959 เมื่อครอบครัวเมเยอร์สซึ่งเป็นคนผิวดำ ได้ย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของซับเบอร์บิคอน ทำให้ชาวเมืองผิวขาวทั้งหลายเริ่มลุกฮือต่อต้าน ในขณะที่บ้านข้างๆ ครอบครัวเมเยอร์สก็กำลังเกิดเหตุร้ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองนี้มาก่อนเช่นกัน

บ้านหลังนี้มีหัวหน้าครอบครัวเป็นพ่อบ้านใจกล้า ชื่อการ์ดเนอร์ ลอดจ์ (แสดงโดย แมตต์ เดมอน) ครองคู่อยู่กับภรรยาพิการ ชื่อโรส (แสดงโดย จูเลียนน์ มัวร์) มีลูกชาย 1 คน อายุประมาณ 10 ขวบ ชื่อนิกกี้ (แสดงโดย โนอาห์ จูป) โรสมีน้องสาวฝาแฝดชื่อมาร์กาเร็ต (จูเลียนน์ มัวร์ แสดงอีกบท) คอยไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำ และมาร์กาเร็ตยังสนับสนุนให้นิกกี้เข้าไปผูกมิตรกับลูกชายบ้านเมเยอร์ส ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันด้วย แต่แล้วคืนหนึ่งเมื่อมาร์กาเร็ตมาค้างที่บ้านลอดจ์ ได้มีโจร 2 คนบุกเข้าไปในบ้าน และฆ่าโรสตาย หลังจากนั้น เหตุวิจลจลาจลก็เกิดขึ้นในบ้านลอดจ์อย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงบ้าบอคอแตกขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีเพื่อนบ้านคนใดล่วงรู้เลย เพราะมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาขับไล่ครอบครัวเมเยอร์สอยู่

เป็นอันว่า หนัง Suburbicon ก็พูดถึง 2 เหตุการณ์ คือ ‘เหตุเกิดที่บ้านลอดจ์’ กับ ‘เหตุเกิดที่บ้านเมเยอร์ส’ เพียงแต่น้ำหนักของเหตุการณ์ไม่เท่ากัน เพราะหลักๆ แล้ว หนังต้องการเล่าเรื่องของบ้านลอดจ์ เลยดูเหมือนว่าบ้านเมเยอร์สมีหน้าที่แค่เข้ามาเสริม นี่ทำให้นักวิจารณ์และผู้ชมฝรั่งด่าหนังเรื่องนี้กันระงม ว่าสุดท้ายแล้วหนังก็โปรคนขาวมากกว่าอยู่ดี และการเล่าเรื่องที่มีสองเหตุการณ์คู่ขนานกันแต่แทบไม่เกี่ยวข้องกันแบบนี้ ก็เหมือนกับเอาเรื่องของคนขาวมาชิงซีนคนดำ จึงทำให้ประเด็นเหยียดผิวซึ่งหนังต้องการนำเสนอลดความสำคัญลงไป แต่ดิฉันดูแล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้นนะ อาจเป็นเพราะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมหรืออ่อนไหวกับการเหยียดผิวแบบฝรั่งเขาก็ได้ ดิฉันมองว่าการนำเสนอแบบนี้เป็นกลวิธีหนึ่งของ “การเสียดสี” ตามแบบของหนังตลกร้าย (Black Comedy) ซึ่งโดยปกติเวลาคนเราเลือกที่จะสื่อสารกันด้วยการเสียดสี ก็เพราะเรารู้ว่ามันเจ็บแสบและให้ผลที่รุนแรงกว่าการพูดหรือทำตรงๆ

ด้วยความที่ Suburbicon ใช้บทหนังของพี่น้องโคเอนเป็นแกนหลัก หนังก็เลยมีสไตล์โคเอนชัดเจน คือเป็นเรื่องของคนธรรมดาๆ ที่วางแผนการหรือลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยแรงขับของกิเลส ตัณหา ความโลภ แล้วปรากฏว่าเกิดผิดแผน ด้วยความโง่เขลาของตัวเองนั่นแหละ ชีวิตก็เลยหกคะเมนตีลังกาไปตามสถานการณ์ที่พลิกผันหักมุม และเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้ นำเสนอด้วยท่าทีตลกนิดๆ เสียดสีหน่อยๆ ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์มนุษย์และสังคมที่สมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว เฮียจอร์จกับเฮียแกรนต์ก็เลยลำบากหน่อยเมื่อพยายามจะใส่ประเด็นเหยียดผิวเข้ามาในเรื่องที่มีเอกภาพของมันอยู่ ดิฉันจึงแอบเข้าใจคนที่ด่าหนังเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ชื่นชมเฮียทั้งสี่ที่กล้าทำสิ่งที่แตกต่าง แม้การเหยียดผิวจะเป็นเส้นเรื่องรอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญ เพราะถึงที่สุดแล้ว ทั้งเส้นเรื่องหลักและเส้นเรื่องรองต่างก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมี ‘ด้านมืด’ และอยู่ในสังคมที่ ‘มือถือสากปากถือศีล’ ด้วยกันทั้งสิ้น

แมตต์ เดมอน กับจูเลียนน์ มัวร์ ดูสนุกสนานกับการแสดงเป็นอันมาก และบทก็ไม่ได้พิสดารเกินกว่าฝีมือของทั้งสองท่านเท่าไหร่ แต่คนที่รับบทหนักเกินตัวจริงๆ ก็คือ ด.ช.โนอาห์ จูป ผู้แสดงเป็นนิกกี้ ลอดจ์ เราเพิ่งจะได้ชมฝีมือของโนอาห์ไปหยกๆ ในหนัง Wonder ซึ่งน้องรับบทแจ็ค วิลล์ (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 155) ทำเอาพี่ป้าน้าอาสาวๆ อยากเลี้ยงเด็กกันเป็นแถว จนผู้มีอุปการคุณท่านหนึ่งของคอลัมน์ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อยปรารภว่า นึกว่าเบี้ยน้อย 155 จะมีสักย่อหน้าที่อุทิศให้แจ็ค วิลล์ บังเอิญดิฉันเป็นคนยุขึ้นซะด้วยสิ จึงขออุทิศย่อหน้าต่อไปนี้ให้น้องโนอาห์ เอาละนะ เริ่ม

นิกกี้ ลอดจ์ เป็นเด็กฉลาด ช่างคิด และร่าเริงสมวัย แต่เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเขา ได้ทำให้เขากลายเป็นเด็กเงียบขรึม อมทุกข์ และหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา นิกกี้รู้ทุกอย่างว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาก็ต้องเก็บงำไว้เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ทั้งๆ ที่ชีวิตเขาเหมือนกับแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะยิ่งนานวันเข้า เหตุการณ์ก็ยิ่งเลวร้าย และพุ่งเป้ามาที่เขามากขึ้นทุกที นี่คือสิ่งที่โนอาห์ จูป ต้องถ่ายทอดออกมาบนพื้นฐานของความเป็นดราม่าผสมผสานกับตลกร้าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะคะพี่น้อง แต่สำหรับเด็กคนนี้ เฮียจอร์จบอกว่า “สามารถแสดงทุกฉากได้ภายใน 2 เทค” แล้วทุกฉากที่ว่านั่นก็ยากจริงๆ มีทั้งความเขย่าขวัญสั่นประสาท กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และยังต้องตลกด้วย ที่สำคัญ น้องหน้าตาน่ารักมาก ยิ้มน่ารักมาก เวลาร้องไห้น้ำตาไหลเม็ดเป้งๆ น่าสงสารมาก #การได้ดูน้องโนอาห์คือกำไร

ที่มาภาพ: imdb.com

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 155

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

10 มกราคม 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก screenrant.com)