ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 133; ดู The Beguiled ‘ศึกชิงนาย’ ที่ดุเด็ดเผ็ดมันยิ่งกว่าละครหลังข่าว

นึกอยู่แล้วว่าพล็อตเรื่องแบบผู้หญิงฝูงหนึ่งมะรุมมะตุ้มรุมทึ้งผู้ชายคนเดียวนี้ น่าจะอยู่มือผู้กำกับ-เขียนบทอย่างโซเฟีย คอปโปลา เพราะนางก็ถนัดอยู่พอสมควรในการบอกเล่าเรื่องราวอันว่าด้วยความซับซ้อนทางอารมณ์ของผู้หญิง โดยไม่ตัดสินความถูกความผิด ก็ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้ปังจริงๆ ทำให้คอปโปลาคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ปีนี้ไปครองได้ นับเป็นผู้กำกับหญิงคนที่ 2 ในรอบ 56 ปีที่ชนะรางวัลดังกล่าว (คนแรกเป็นชาวรัสเซีย ชนะเมื่อปี 1961)

หนัง The Beguiled (อ่านว่า เดอะ บีกายล์ด มาจากคำ beguile แปลว่า ล่อลวงด้วยเสน่หา หรืออาจเรียกสั้นๆ ว่า “อ่อย”) สร้างมาจากนวนิยายเมื่อปี 1966 ของโทมัส พี. คัลลิแนน นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1971 นำแสดงโดยคลินต์ อีสต์วูด ส่วนเวอร์ชันปี 2017 โคลิน ฟาร์เรลล์ มารับบทนี้ก็เหมาะดี เพราะแกมีความดิบเถื่อนผสมกับความน่ารักมุ้งมิ้ง ดูสมเหตุสมผลที่ชะนีน้อยใหญ่จะแย่งชิงกัน

ตามท้องเรื่อง เหตุเกิดในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ซึ่งมีมูลเหตุจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ ทางเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรม ส่วนทางใต้เป็นรัฐเกษตรกรรม ยังใช้แรงงานทาสอยู่ พอเอบราฮัม ลิงคอล์น ซึ่งเป็นคนเหนือ และมีแนวคิดต่อต้านระบบทาส ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐทางใต้ก็เลยประกาศแยกตัวเป็นอิสระ ตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) จากนั้นอเมริกาทั้งสองฝ่ายก็รบกันเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 1861-1865 คนเหนือกับคนใต้จึงเป็นศัตรูกันแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ และคนใต้ก็มีศัพท์เรียกคนเหนือว่าแยงกี้ (Yankee) ซึ่งสมัยนั้นคงจะมีนัยยะประมาณว่าไอ้พวกไม่มีวัฒนธรรม

ณ สมรภูมิรัฐเวอร์จิเนีย เมืองหลวงของสมาพันธรัฐอเมริกา สิบโทจอห์น แม็กเบอร์นีย์ (แสดงโดย โคลิน ฟาร์เรลล์) นายทหารรับจ้างของฝ่ายเหนือ ได้รับบาดเจ็บหนีทัพไปนอนพะงาบอยู่ในป่า โชคชะตาบันดาลให้ เอมี เด็กหญิงชาวใต้ผู้อารีมาพบเข้า และพาเขาไปพักรักษาตัวที่โรงเรียนสตรีฟาร์นสเวิร์ธ ซึ่งเหลือครูและนักเรียนผู้ไม่มีที่ไป พักอาศัยอยู่ร่วมกัน 7 คน ประกอบด้วยครูใหญ่ มิสมาร์ธา ฟาร์นสเวิร์ธ (แสดงโดย นิโคล คิดแมน) ครูน้อย มิสเอ็ดวินา มอร์โรว์ (แสดงโดย เคอร์สเทน ดันสต์) และนักเรียนหญิงวัยไล่ๆ กันอีก 5 คน ที่โตสุดได้แก่ อลิเชีย (แสดงโดย แอลล์ แฟนนิง) ส่วนเอมีเด็กสุด อายุประมาณ 13 ปี

ดิฉันชอบพล็อตหนังเรื่องนี้มาก มันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง (conflict) อยู่ในทุกองคาพยพ และหนังก็สามารถขับเน้นความขัดแย้งเหล่านั้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ละมุนละไม แต่รัดกุม และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแรก เราจะเห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อมอย่างชัดเจน คือสถานการณ์ในตอนนั้นเป็นภาวะสงคราม การที่ผู้หญิงซึ่งอยู่กันตามลำพังจะรับนายทหารฝ่ายตรงข้ามเข้ามารักษาพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แต่พวกเธอก็ตัดสินใจรับด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือมนุษยธรรม อันสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา อีกอย่างหนึ่งคือแรงขับทางเพศ ซึ่งน่าจะรุนแรงกว่าปกติในภาวะที่ขาดแคลนผู้ชาย เนื่องจากตอนนั้นผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไปรบ ตายบ้างอะไรบ้าง ในเมื่อมีชายหนุ่มฉกรรจ์หลงเข้ามา จะปล่อยให้ตายไปต่อหน้าก็เสียของ แต่ในขณะเดียวกัน สภาพสังคมและวัฒนธรรมในสมัยนั้นก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงซึ่งได้รับการอบรมแบบกุลสตรีได้แสดงความรู้สึกทางเพศมากนัก ตัวละครหญิงในเรื่องจึงอยู่ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมที่ขัดแย้งกับความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง จนเมื่อทุกอย่างระเบิดออกมา มันก็เลยกลายเป็นหายนะอย่างช่วยไม่ได้

การที่อยู่ดีๆ มีหนุ่มหล่อตกมาอยู่ในบ้านที่ขาดผู้ชายมานาน หนุ่มคนนั้นก็ย่อมจะกลายเป็น ‘ของแปลก’ หรือ ‘ของหายาก’ ซึ่งทำให้สาวๆ ทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ต่างตื่นเต้นหวั่นไหวไปตามๆ กัน แต่ละคนก็มีวิธีการของตัวเองที่จะทอดไมตรีให้ฝ่ายชาย กลายเป็น ‘สงครามกลางบ้าน’ ที่ดุเดือดไม่แพ้สงครามกลางเมืองภายนอก แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละคร ซึ่งต่อสู้กันด้วยการชิงดีชิงเด่น หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ชิงซีน” ภายใต้การแสดงออกที่ดูเหมือนซื่อๆ หรือเรียกชัดๆ ว่า “ตอแหล” อย่างมีระดับ จนเมื่อถึงจุดพลิกผัน เราก็ไม่กังขาว่ามันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง เพราะหนังได้ปูพื้นมาก่อนแล้วว่าแต่ละคนก็ไม่ใช่ธรรมดา

นอกจากความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อม และความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับตัวละคร ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หนังยังแสดงความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละครด้วย ความขัดแย้งนี้เกิดจากการที่ครูใหญ่กับครูน้อยต้องซ่อนเร้นและเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ด้วยสถานภาพที่ค้ำคออยู่ แล้วเมื่อถึงคราวที่อารมณ์ความรู้สึกเผยตัวออกมา มันก็ทั้งน่าพรั่นพรึงและสะใจไปพร้อมกัน

ที่มาภาพ: reelrundown.com

หนังมีชื่อไทยว่า “เล่ห์ลวง พิศวาส ปรารถนา” ซึ่งเป็นชื่อที่ไพเราะและเหมาะมาก เพราะการมาถึงของสิบโทแม็กเบอร์นีย์ ได้กระตุ้นความ ‘ปรารถนา’ หลายๆ อย่างของสาวน้อยสาวใหญ่ขึ้นมา ไม่ใช่แค่ความปรารถนาในทาง ‘พิศวาส’ เท่านั้น และถึงแม้ว่าการทอดสะพานของสาวๆ จะดูเหมือนเป็น ‘เล่ห์ลวง’ แต่ที่จริงฝ่ายชายก็ไม่ใช่ย่อย ดูไปดูมาแกใช้เล่ห์ลวงยิ่งไปกว่าฝ่ายหญิงอีก โดยที่นักแสดงทุกคนก็ตีบทอันซับซ้อนเหล่านี้ได้อย่างดูเป็นมนุษย์ปุถุชนจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบอีบ้าผีสิงหรือทำอะไรลงไปโดยไม่มีเหตุมีผลแต่อย่างใด

ดิฉันจึงว่าหนังเรื่องนี้แซ่บกว่าละครหลังข่าวเยอะ ถ้าไม่เชื่อ สังเกตสีหน้าสามนางในโปสเตอร์ได้

สรุป: จ่าย 0 (ใช้บัตรสะสมแต้มของโรงหนังบ้าน) ได้กลับมา 100

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

10 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก refinery29.com)