โดย Average Joe

14 เมษายน 2013

The Paperboy เป็นหนังที่กล่าวถึงประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องทางสังคมอย่างการเหยียดผิว ระบบยุติธรรม หน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อ การแสดงออกเรื่องเพศ หรือเรื่องทางจิตวิทยาอย่างปมอีดีปุส การตีค่าตนเอง จนไปถึงธีมก้าวข้ามวัย (coming-of-age) ภายในกรอบเวลาของปี ค.ศ. 1969

paperboy-poster

ที่มารูป: http://media.hollywood.com

หนังนำเสนอความสัมพันธ์ของตัวละครหลายคู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์ของคู่พี่น้อง วอร์ด (Matthew McConaughey) และแจ๊ก (Zac Efron), สองพี่น้องกับพ่อ, อีลำยองชาร์ล็อต (แสดงได้อย่างแซ่บเว่อร์ โดย เจ๊หยวก Nicole Kidman) กับไอ้ขี้คุก ฮิลลารี (John Cusack), แอนิต้า แม่บ้านผิวดำกับเมียใหม่ของพ่อ (อีนี่น่าตบมาก ขอบอก), แอนิต้ากับแจ๊ก, ชาร์ล็อตกับแจ๊ก, วอร์ดกับยาร์ดเลย์ เพื่อนร่วมงาน, แจ๊กกับยาร์ดเลย์ ความสัมพันธ์ของแต่ละคู่แสดงให้เห็นความห่วงใย ตึงเครียด หื่นกระหาย ดูแคลน อ่อนไหว เกลียดชัง ฯลฯ ที่ระคนปนเปและแตกต่างกันไปซึ่งสะท้อนประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นได้อย่างดี

ท่ามกลางประเด็นมากมายทั้งปวง เรื่องที่น่าคิดตามเรื่องหนึ่งคือ การมองเห็น รับรู้ และรู้จักตัวตนของตัวเอง แน่นอนว่าไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์แบบไปเสียทุกสิ่ง แต่หากว่าสถานภาพของเรามันช่างต่ำตมหรือเละตุ้มเป๊ะแบบไม่มีชิ้นดี (ในสายตาของคนอื่นในสังคม) เราจะ “ยอมรับ” หรือ “ยอมจำนน” ต่อสภาพนั้นๆ เช่นชาร์ล็อตที่ดูเป็นผู้หญิงแรดร่าน ไร้การศึกษาและการอบรมสั่งสอน ดูจากการแต่งตัว การพูดจา และความประพฤติแล้ว คงไม่มีใครเห็นเธอเป็นเมียและแม่ผู้แสนดีไปได้แน่ๆ (ยกเว้นแจ๊ก) สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ชาร์ล็อตเองกลับปล่อยให้กรอบความคิดของสังคมมาครอบงำความคิดของเธอไปด้วย เธอเชื่อว่า ด้วยสถานภาพ (หรือ “น้ำหน้า”) อย่างเธอ คงไม่อาจพบเจอกับคนดีๆ ได้ นอกจากไม่พยายามปรับปรุงตัวเอง (หรืออย่างน้อยที่สุดคือ เคารพและให้เกียรติตัวเอง) แล้ว เธอยังปล่อยให้สังคมเป็นฝ่ายถูกโดยการสนใจคบหาแต่นักโทษในคุก ชาร์ล็อตบอกปัดความรักและความเอื้ออาทรของแจ๊กด้วยข้ออ้างที่สุดจะซ้ำซาก — “เธอดีเกินไป” ในขณะเดียวกันก็หันไปพิศวาสคนคุก (โรคจิต) อย่างฮิลลารี ด้วยเหตุผลที่ว่า “He’s not all bad, and I’m not that good.” นี่คือสิ่งที่ชาร์ล็อตเชื่อ เธอเชื่อว่า “ผู้หญิงอย่างเธอ” กับ “ผู้ชายอย่างเขา” ก็สมควรคู่กัน และนั่นมันก็ “ดีถมไปแล้ว”

สำหรับคนที่ดูหนังแล้ว คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า ฉากที่ชวนอึ้งตะลึง (หรือขมวดคิ้ว กุมขมับ) ไม่น่าจะพ้นฉากที่ชาร์ล็อตได้เจอกับฮิลลารีครั้งแรก และฉากที่ชายหาด คือแบบ…เจ๊แสดงได้…เอิ่มมมมมมมมม พานนึกไปถึงบทเวอร์จิเนีย วูล์ฟใน The Hours ถ้าเอาสองเรื่องสองบทมาดูเทียบกัน หลายคนคงหงายเงิบตกเก้าอี้กันทีเดียว อย่างไรก็ดี ขอสดุดีความเก่งกาจและความกล้าหาญของเจ๊หยวกไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ปัญหาของหนังอย่างหนึ่งน่าจะอยู่ที่ “ความชัดเจน” ในการนำเสนอ บางอย่างในหนังที่ควรจะอธิบายให้ชัดเจนก็ดูคลุมเครือเกินไป ในทางกลับกัน บางฉากก็ทำให้เห็นชัดเจนเกินไปจนดูขาดชั้นเชิง บวกกับการตัดต่อที่ดูปุบปับ และการเล่าเรื่องแบบเอื่อยๆ เรื่อยๆ ทำให้อารมณ์ของหนังไปไม่สุดอย่างที่ควรจะทำได้

(เกือบๆ) 7/10 ครับ

ปล. ประเด็นเรื่องการ “ยอมรับ” หรือ “ยอมจำนน” ต่อสภาพหรือตัวตนของตัวเอง แอนิเมชันเรื่อง Wreck-It Ralph (9/10) ก็ได้พูดถึงไว้อย่างน่าสนใจมาก แต่นำเสนอในขั้วที่ตรงข้ามกันสุดๆ ลองไปหาดูกันนะครับ (ส่วนตัวชอบเรื่องนี้มากกว่า Brave ที่ได้ออสการ์เสียอีก)
ปล. 2 คะแนนส่วนใหญ่ที่ให้ มาจากเรื่องการแสดงล้วนๆ นอกจากเจ๊หยวก (ที่ “บานฉ่ำ” เกินหน้า Julia Roberts ไปหลายขุม) แล้ว พี่ล่ำแมทธิว พี่จอห์น (ที่โรคจิตจนน่าขนลุก) และน้องแซค ก็แสดงดีพอๆ กันเลยทีเดียว