ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 172; ดู Tonight, at Romance Theater หรือชื่อไทย “รักเรา…จะพบกัน” หนังอำลาลิโด ‘โรงหนังบ้านหลังที่สอง’ ของเบี้ยน้อย

ว่าที่จริง คอลัมน์ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อยนี้ ก็ถือกำเนิดมาจากลิโดครึ่งหนึ่ง เพราะลิโด ในฐานะส่วนหนึ่งของโรงหนังเครือเอเพ็กซ์ สยามสแควร์ อันประกอบด้วย “สกาลา” โรงหนังขนาดมหึมาสวยงามสุดคลาสสิก “ลิโด” โรงหนังขนาดกลาง 3 โรง และ “สยาม” โรงหนังขนาดใหญ่ซึ่งถูกวางเพลิงจนต้องทุบทิ้งไปหลายปีแล้วนั้น เป็นที่สิงสถิตของดิฉันมากว่า 20 ปีนับแต่สมัยเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนหนังสือที่จุฬาฯ ดิฉันก็เลยเรียกสยามสแควร์ว่าเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ มาแต่ไหนแต่ไร จนกระทั่งเรียนจบ ทำงาน ย้ายนิวาสสถานไปอยู่อาร์ซีเอ มีโรงหนัง “เฮาส์รามา” อยู่หน้าบ้าน ดิฉันก็ยังแวะเวียนไปดูหนังที่เครือเอเพ็กซ์เป็นประจำ ชีวิตก็อยู่มาได้ด้วยการมีเฮาส์เป็น ‘โรงหนังบ้าน’ และเอเพ็กซ์เป็น ‘โรงหนังบ้านหลังที่สอง’ โดยแทบไม่ต้องไปเสียตังค์ดูหนังแพงๆ ตามห้างสรรพสินค้า จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ “ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย” ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 เดือนหน้านี้ก็จะมีอายุครบ 4 ปีเต็ม

เมื่อโรงหนังเครือเอเพ็กซ์จะปิดกิจการอย่างถาวร โดยเริ่มจากลิโดทั้งสามโรงซึ่งจะเปิดทำการวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้าย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อคอลัมน์ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อยเป็นแน่นอน แต่ในเมื่อการณ์มันเป็นเช่นนี้ไปแล้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาขนาดนี้ก็เข้าใจ ว่าเป็นธรรมดาที่เราจะต้องปล่อยให้สิ่งที่รักและคุ้นเคยถูกพรากไปทีละอย่างๆ แต่แม้กระนั้นก็ไม่อยากเข้าไปอยู่ในบรรยากาศแห่งการอำลาอาลัยมากนัก ดังนั้น เมื่อลิโดประกาศว่าจะจัดกิจกรรม Farewell to Our Theater โดยฉายหนังญี่ปุ่นเรื่อง Tonight, at Romance Theater รอบค่ำวันที่ 31 พฤษภาคม ดิฉันจึงตั้งใจไว้ว่าจะไม่ไปเด็ดขาด และพยายามหาเวลาว่างอันมีอยู่น้อยนิด แวบไปดูหนังเรื่องนี้ก่อนวันที่ 31 แล้วก็สามารถทำได้สำเร็จในวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม โดยไม่ได้ล่วงรู้เลยว่า หลังจากนั้นดิฉันจะไม่มีเวลาเฉียดกรายไปที่ลิโดอีกเลย วันนั้นจึงเป็นวันสุดท้ายที่ดิฉันได้ดูหนังที่ลิโด และหนังเรื่องสุดท้ายที่ได้ดู ก็คือเรื่องนี้

ที่มาภาพ: cinema.u-cs.jp

Tonight, at Romance Theater เป็นชื่อที่แปลตรงตัวมาจากชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า 今夜、ロマンス劇場で อ่านว่า คนยะ, โระมันสึ เงะคิโจเดะ แปลว่า “คืนนี้ ที่โรมานซ์เธียเตอร์” โรมานซ์เธียเตอร์ก็คือชื่อโรงหนังซึ่งเป็นฉากสำคัญของเรื่อง เป็นที่ที่หนุ่มหน้ามนคนซื่อ นามว่าเคนจิ (แสดงโดย ซาคางุจิ เคนทาโร่) ได้พบฟิล์มหนังขาวดำเก่าเก็บ เรื่อง “เจ้าหญิงจอมแก่นกับสามองครักษ์หน้าขน” แล้วเมื่อเขาขออนุญาตเจ้าของโรงหนัง นำหนังมาฉายดู เขาก็ตกหลุมรักเจ้าหญิงมิยูกิผู้เป็นนางเอก (แสดงโดย อายาเสะ ฮารุกะ) อย่างถอนตัวไม่ขึ้น หลังเลิกงานทุกคืนเขาก็เลยมาเช่าเหมาโรงโรมานซ์เธียเตอร์ ดูหนังเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีเบื่อ ปรากฏว่าปาฏิหาริย์มีจริง เจ้าหญิงมิยูกิหลุดออกจากหนัง มาเจอเขาแบบตัวเป็นๆ แต่ทั้งสองกลับไม่อาจสัมผัสแตะต้องกันได้ เพราะถ้าเจ้าหญิงสัมผัสโดนร่างกายของคนในโลกแห่งความเป็นจริงเข้า ร่างของเธอจะสูญสลายไป

ดิฉันดูแล้วก็รู้สึกว่า นี่คือหนังที่เหมาะจะเป็นหนังอำลาโรงภาพยนตร์ลิโดอย่างแท้จริง เพราะนอกจากมันจะพูดถึงความรักระหว่างคนสองคน อันอาจจะตีความว่าเป็นรักแท้แบบอุดมคติ หรือรักคลั่งไคล้แบบโอตะกับไอดอลก็ได้แล้ว มันยังพูดถึงความรักระหว่างคนดูหนัง กับหนัง และกับโรงหนังแบบสแตนด์อโลน ซึ่งกำลังจะสูญหายไปในสายธารแห่งกาลเวลาด้วย

*ต่อจากนี้จะเป็นการตีความพอเป็นกษัย โดยไม่สปอยล์เนื้อเรื่อง*

ประเด็น “คนดูหนัง-หนัง-โรงหนัง” นี้ ไม่ได้เป็นแค่แบ็กกราวด์ของเรื่อง แต่ดิฉันว่ามันคือหัวใจเลยแหละ ดิฉันคงไม่ฟันธงแบบนี้ ถ้า

1. ถ้าพระเอกจะไม่ใช่ ‘คนดูผู้ภักดี’

ตามท้องเรื่อง เคนจิผู้พระเอกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนัง แต่เขาไม่ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างแท้จริง เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ช่วยกำกับอะไรเลย ได้แต่วิ่งไปวิ่งมาใช้แรงงานตามที่ทีมงานสั่งมากกว่า ดังนั้น จะว่าเคนจิเป็น ‘คนทำหนัง’ ก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก แต่เป็น ‘คนดูหนัง’ นั้นแน่นอน ทั้งยังเป็นคนดูหนังที่รักหนังและเห็นคุณค่าของหนังอย่างมากด้วย

2. ถ้านางเอกจะไม่แฟนตาซีสุดขั้วขนาดนี้

ความแฟนตาซีของนางเอก เริ่มต้นตั้งแต่นางทะลุจอออกมาเป็นตัวขาวดำ ดูแปลกแยกเหมือนผีจูออนท่ามกลางสีสัน นางจึงต้องเมคอัพทั้งตัวเพื่อให้ดูกลมกลืนกับโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเวลาผ่านไป นางก็แต่งกายสีฉูดฉาดขึ้นเรื่อยๆ อย่างสนุกสนาน ดูละม้ายหนังสียุคแรกๆ ที่ใช้แม่สีตัดกันฉัวะฉะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นนางดูเหนือจริง แต่ก็โน้มนำให้เราเชื่อและรู้สึกร่วมได้ นี่มันคุณสมบัติของอะไรหว่า คนรักหนังคงเดาได้ละ

3. ถ้าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้เกิดในยุค 1960s

ยุคนั้นสำคัญยังไง ก็คือเป็นยุคที่คนเลิกดูหนังขาวดำแล้ว เพราะมีหนังสีให้เลือกดูมากมาย แต่ก็เป็นยุคที่เริ่มมีทีวีแล้วด้วย ทำให้คนตื่นเต้นมาก จนความนิยมในการดูหนังลดน้อยลง โรงหนังสแตนด์อโลน (คือโรงหนังที่เป็นโรงหนังอย่างเดียว ไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า) ก็เลยเงียบเหงาลงเรื่อยๆ รอวันที่จะสูญสลายไปตามกาลเวลา

ดิฉันเคยเมาท์น้องซาคางุจิ เคนทาโร่ เมื่อตอนเล่นเรื่อง The 100th Love with You ว่า ไม่ค่อยจะนำพาอะไรเท่าไหร่ (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 117) แต่สำหรับเรื่องนี้ เหมือนกับน้องเกิดมาเพื่อสิ่งนี้เลยเชียว เล่นคู่กับนางเอกเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่นอย่างอายาเสะได้อย่างไม่มีอะไรขัดตาขัดใจเลยสักอย่าง คือแค่ดูพระเอกนางเอกก็ปลาบปลื้มลืมตายแล้ว นี่ยังไม่นับตัวละครอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่น่าจดจำและได้ใจเราทั้งสิ้น

หนังใช้ ‘ภาษาหนัง’ ได้อย่างสนุกสนาน ลึกซึ้ง และสัมผัสใจ สมกับเป็นหนังที่มีหนังเป็นนางเอก #อุ๊บส์! ดิฉันในฐานะคนดูผู้รักหนังและรักโรงหนังขวัญใจคนยาก จึงทำอะไรไม่ได้ นอกจากปล่อยน้ำตาให้ไหลไปกับความดีงามของหนัง และความเศร้าลึกๆ ที่เกาะกุมใจไม่เสื่อมคลาย

ลาก่อนโรงหนังที่รัก ขอบคุณสำหรับทุกอย่าง ขอบคุณที่ทำให้มีวันนี้

รักเรา…จะพบกัน

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 282

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

30 พฤษภาคม 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก otocoto.jp)