โดย Win Malaiwong

29 กรกฎาคม 2016

ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา (Santi-Vina) ลงโรงฉายครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 ดูจากชื่อหนังและปีที่ฉายก็อดไม่ได้ที่จะสร้างความคาดหวังก่อนเข้าชม ชื่อลักษณะนี้ฟังดูมีความเป็น heteronormativity สูงมาก เดาว่าหนังน่าจะเป็นโศกนาฏกรรมความรัก (romantic tragedy) แบบ Romeo and Juliet ขวัญกับเรียม ก็พยายามจำแนกชนิดของหนังไปเรื่อยเปื่อยระหว่างรอ แต่พอเข้าไปชมแล้วพบว่าหนังเป็นโศกนาฏกรรมความรักเพียงกึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือจัดเป็นประเภทสอดแทรกหลักธรรมคำสอน สันต์ประสบอุบัติเหตุพร้อมแม่เมื่อยังเด็ก ทำให้สูญเสียทั้งแม่และความสามารถในการมองเห็น อยู่กับพ่อที่ฐานะไม่ดีนัก ต่อมาหลวงตามาขอไปอยู่ด้วย ช่วยสั่งสอนเลี้ยงดู นอกจากพ่อกับหลวงตาแล้ว สันต์ก็มีวีณาอีกคนที่คอยปกป้องเขาจากคนเกเร ต่อมาทั้งคู่พัฒนาความสัมพันธ์เป็นความรัก ต้องฝ่าฟันอุปสรรค

santi

ที่มารูป: http://krungthep.coconuts.co

หนังเรื่องนี้ฉายไป 60 กว่าปีมาแล้ว เป็นหนังไทยขนาดยาวเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. ก็คิดเพ้อเจ้อไปอีกว่าหนังโบราณต้องประดักประเดิด แต่จะบอกว่าผู้กำกับใช้สัญลักษณ์ในการดำเนินเรื่องกระชับฉับไว อย่างตอนเปิดเรื่อง พ่ออุ้มสันต์ขึ้นขี่ควายที่มีอยู่ตัวเดียว พากันออกไปทำงาน ระหว่างนั้นสวนทางกับพ่อวีณาที่ขี่ควายเทียมเกวียนติดกระดิ่งกำลังพาวีณาไป ส่งโรงเรียน ฉากเดียวเห็นถึงปูมหลังตลอดจนปมขัดแย้งเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของสองครอบครัว อีกฉากหนึ่งที่แยบยลเรื่องการใช้ภาษาภาพในการดำเนินเรื่องคือ ตอนหลวงตาจับได้ว่าสันต์ลักลอบออกไปพบวีณา จึงพูดดักคอเตือนสติสันต์ว่ารูปรสกลิ่นสีก่อให้เกิดทุกข์ แล้วเปรยว่าหากตาของสันต์กลับมามองเห็น ก็อยากจะให้บวชเป็นพระ ระหว่างที่พากย์เสียงหลวงตานี่ กล้องไม่ได้จับที่หน้าหลวงตานะ แต่โฟกัสไปที่มือสันต์ ค่อยๆ เลื่อนแอบไปจับดอกไม้ที่รับมอบมาจากวีณา ภาษากายของสันต์แสดงคำตอบชัดเจนว่าคิดอย่างไรกับคำสอน ไม่ต้องพูดเยอะ

แต่ถึงบทสนทนาจะมีน้อย แต่ก็หลักแหลมเฉียบคมนะ อย่างในฉากสันต์กับวีณาไปร่วมงานลอยกระทง แล้วได้ยินเพลงรำวง “หนุ่มสาวเฝ้ามองครองรักร่วมกัน” สันต์ถามวีณาว่า “ครองรัก” นี่เขาทำกันอย่างไร ผู้ชมก็ตีความกันเองนะว่าถามอย่างนี้คือซื่อจริงหรือแกล้งซื่อถามด้วยเล่ห์ แต่หน้าฮีนิ่งมาก วีณาก็บิดขวยเขินไป แล้วหยิบขลุ่ยจากมือสันต์มาเป่า นี่พีคยิ่งกว่า ในภาพยนตร์จะมี comic relief ให้ขำบ่อยเหมือนกัน มีความเป็น farce สลับกับการปล่อยคำและคอนเซปต์ใหญ่ๆ ให้ครุ่นคิด อย่างฉากแม่ของวีณานั่งปอกกล้วยอยู่ นกแก้วนกขุนทองที่เลี้ยงไว้ก็แหกปากร้องจนนางตกใจ จึงหันไปว่า “นกนี่ไม่มีวัฒนธรรมเลย” หรืออีกฉากตอนคนเข้าค้นบ้านสันต์ เจอพ่อกำลังนั่งซ่อมแซมมุ้ง พ่อของสันต์จึงตอกกลับไปด้วยความไม่พอใจว่า “นี่มันลิดรอนเสรีภาพกันนะ” เอะอะปักธงชาติ ไม่ว่างานแต่ง งานลอยกระทง สักพักสะดุ้งเฮือก หนังออกฉายปี 2497 นั่นยุคจอมพล ป. หรือเปล่า….

ความดีงามของหนังยังมีอีกเยอะนะครับ แต่ร่ายยาวเกินไป จะทำลายสุนทรียะของการชมภาพยนตร์ ของดีจริงจึงบอกต่อ คุ้มค่ากับที่เขาฟื้นฟูมาให้ดูกัน ไม่ว่าจะพิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวบทจากมุมวรรณกรรมและภาพยนตร์ สังคมประวัติศาสตร์ นิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจครับ