โดย ช. คนไม่หวังอะไร

21 ธันวาคม 2559

ด้วยศักยภาพที่เหนือกว่าของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และสามัคคี จปร. รุ่น 1-9 เว้นรุ่น 7 โดยเตรียม ทบ. 5 พลตรีอาทิตย์ กำลังเอกสามารถปราบปรามการปฏิวัติ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มยังเติร์กได้ พลตรีอาทิตย์เลื่อนเป็นพลโท ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พลตรีเทียนชัย ศิริสัมพันธ์เป็นผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ พลโทหาญ ลีนานนท์เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมกับจปร. รุ่น 1 พลโทชวลิต ยงใจยุทธเป็นผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ พลตรีสุนทร คงสมพงษ์เป็นผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก พลตรีชัยชนะ ธารีฉัตรเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 พลตรีสมคิด จงพยุหะเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 9 พลตรีปัญญา สิงห์ศักดาเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 5 และจปร. รุ่น 2 พลตรีพิจิตร กุลละวณิชย์เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พลตรีวิจิตร สุขมากเป็นผู้บัญชาการทหารม้าที่ 2 กับการเติบโตของ จปร. 5 พลตรีสุจินดา คราประยูร พลตรีอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศตรีเกษตร โรจนนิล และพลตรีวิมล วงศ์วานิช

หกเดือนต่อมา พลโทอาทิตย์ กำลังเอกได้เลื่อนยศเป็นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบกควบแม่ทัพภาคที่ 1 และผู้อำนวยการกองบัญชาการรักษาพระนคร ปี พ.ศ. 2525 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก และปี พ.ศ. 2526 ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้อำนวยการกองบัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติ ขั้วอำนาจในยุคนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3 ขั้วคือ รัฐบาล กองทัพ และยังเติร์ก มีการลอบสังหารพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกถึง 9 ครั้ง ฝ่ายรัฐบาลก็ประสบปัญหาจนมีการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2526 แต่พลเอกเปรม ติญสูลานนท์ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ พรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน กล่าวกันว่าเหตุที่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็เพื่อให้มีการเลือกตั้งก่อนบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลง ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องสังกัดพรรค ข้าราชการเป็นข้าราชการการเมืองได้ พลตรีประมาณ อดิเรกสารซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทหาร พลาดในการเดินเกมการเมือง ในขณะที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นพันธมิตรกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สำหรับคณะรัฐมนตรีเปรม 2 พลเอกเปรมดึงพวกพ้องและบุคคลที่มีฝีมือเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ นายสมหมาย ฮุนตระกูล เรืออากาศเอกศุลี มหาสันทนะ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์

ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศ การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เบาบางลง เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนหยุดให้การสนับสนุนพคท. จีนเปิดสงครามสั่งสอนเวียดนาม สืบเนื่องจากเวียดนามส่งกำลังทหารสนับสนุนเฮง สัมรินและฮุนเซนเข้ายึดกัมพูชาที่เขมรแดง ซึ่งจีนให้การสนับสนุนปกครองอยู่  เมื่อฐานที่มั่นของพคท. ถูกทำลายลง นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และผู้นำกรรมกรก็กลับสู่เมือง จากการบอบช้ำของเศรษฐกิจและสังคมหลายปี มีธุรกิจนอกกฎหมายที่รุ่งเรือง มีแชร์แม่ชม้อย แม่นกแก้ว และแชร์ชาร์เตอร์ เอกยุทธ อัญชันบุตร ภาคเอกชนและสถาบันการเงินนำเงินเข้าจากต่างประเทศ รัฐบาลดำเนินการปราบปรามและแก้ไขปัญหาในภาพรวมด้วยการลดค่าเงินบาทถึง 14.8% จาก 23 บาท เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรงผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และ 7 แต่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้ออกมาวิพากษ์พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เช่นกัน ความบาดหมางของพลเอกเปรมกับพลเอกอาทิตย์ชัดเจนมากขึ้น จนนำมาสู่การปฏิวัติ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งมีการกล่าวกันว่า “นัดแล้วไม่มา” อันหมายถึง คณะนายทหารซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ตกลงร่วมกระทำการกลับเบี้ยวในตอนท้าย และการที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกเสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยาร่วมด้วยนั้น มีข้อครหาว่าต้องการเอาคืนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

การปราบปรามคณะปฏิวัติ ซึ่งนำโดยพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เสนาธิการทหารบก และจปร. รุ่น 5 โดยพลโทสุจินดา คราประยูร ส่งผลให้มีการต่ออายุราชการพลเอกอาทิตย์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2529 พลเอกชวลิตก็ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลโทสุจินดา คราประยูรเป็นรองเสนาธิการทหารบก โดยในปีถัดมาได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และในปี พ.ศ. 2532 เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกับย้ายพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ไปเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะที่กองทัพอากาศ พลอากาศเอกวรนาถ อภิจารี จปร. รุ่น 5 ด้วยกัน ตัดหน้าพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนายทหารช่วงนี้มีผลต่อเนื่องกันอีกถึง 10 ปี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนายทหารเหล่าสื่อสารคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธการทางทหาร เป็นผู้รับผิดชอบสงครามลับหลายโครงการ มีแนวคิดประชาธิปไตย มีการอุปมาอุปไมยว่า “10 วิฑูรย์ฤาจะสู้ 1 จิ๋ว” อันหมายถึงพลโทวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ สู้พลเอกชวลิตไม่ได้ พลเอกชวลิตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ยุทธการกองทัพบก และหัวหน้าฝ่ายยุทธการศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และเป็นผู้ที่พลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานต่างๆ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล

ความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลทำให้การตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏร รัฐบาลจึงยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2529 มีคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยมีพลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ นายพงส์ สารสิน นายพิชัย รัตตกุล และพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์เป็นรองนายกรัฐมนตรี พลเอกหาญ ลีนานนท์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกประจวบ สุนทรางกูรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์เป็นรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ นายประมวล สภาวสุเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย ไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ โดยในเวลาต่อมา หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเกิดอาการงอนพลเอกเปรม และวางมือจากพรรคกิจสังคม พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทนพร้อมกับการเติบโตของนายมนตรี พงษ์พานิช

เศรษฐกิจโดยทั่วไป การส่งออกยังใช้ระบบโควตา ทั้งข้าว สิ่งทอ ยางพารา และมันสำปะหลัง กลุ่มทุนธนาคารยังคงมีอิทธิพลโดยรวมด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ กลุ่มเตชะไพบูลย์ ซึ่งมีธนาคารศรีนครและธนาคารมหานครเกิดรอยร้าวกันเองจนส่งผลให้เหล้าแม่โขง กวางทอง เริ่มเป็นรองหงส์ทองจนเกิดการควบรวม และสุดท้ายได้สูญเสียธุรกิจด้านนี้ให้กับนายเจริญ สิริวัฒนภักดีแห่งแสงโสม พร้อมๆ กับสูญเสียโครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิลด์) ในขณะที่นายเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งบริษัทสหพัฒนพิบูล ซึ่งนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ร่วมทุนกับญี่ปุ่นสร้างโรงงานผลิตยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ อีกในเวลาต่อมาถึง 600 รายการ เป็นสินค้าทั้งสิ้น 90 แบรนด์ ด้านนายดำหริ ดารกานนท์ น้องชายของภริยานายเทียม ก่อตั้งกลุ่มสหยูเนี่ยน ประกอบธุรกิจการเงินการลงทุน รวมทั้งผลิตและจำหน่ายสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อุปกรณ์ตัดเย็บ ยาง พลาสติก ธุรกิจคอมพิวเตอร์ และโรงแรม โดยมีดร.อำนวย วีรวรรณและนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานบริษัทในเครือสหยูเนี่ยนกว่า 35 บริษัท ในเวลาเดียวกันกลุ่มเจียไต๋ เจริญโภคภัณฑ์ของตระกูลเจียรวนนท์ที่ประกอบธุรกิจค้าอาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืชก็เริ่มเติบโต โดยขยายการตั้งโรงงานไปทั่วโลกจนต้องตั้งบริษัท Holding Company เพื่อเป็นศูนย์การบริหารคือ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ และร่วมลงทุนกับวิสาหกิจของจีนตามมณฑลต่างๆ ดำเนินธุรกิจไก่ครบวงจร หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงได้ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยผ่อนปรนให้มีระบบกลไกตลาด “หนึ่งประเทศสองระบบ” โดยต่อมาได้ขยายการลงทุนอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องถึง 50 เมืองใน 20 มณฑล จาก 30 มณฑล

สภาพสังคมในช่วงนั้นมีปัญหาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น อันเกิดจากผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับแร่และพลอย เสี่ยจิว นายจุมพล สุขภารังษี เจ้าพ่อภาคตะวันออกถูกกระสุนปืนนานาชนิดถล่มใส่ เหลือแค่ตำนาน เขาศูนย์ แหล่งแร่วุลแฟรม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้คนอพยพเข้ามาขุดเพื่อหาความร่ำรวยเป็นจำนวนมากจนแม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่งปิดและให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างขนย้ายลงจากเขา โดยจัดรถยนต์และรถไฟขบวนพิเศษอพยพผู้คนกลับภูมิลำเนา ส่วนจังหวัดตราด-จังหวัดจันทบุรี นายทุนต่างถิ่นเข้ามาทำเหมืองพลอยมีมูลค่าเกือบวันละ 1,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างรุนแรง ทหารต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นด่านชายแดน บ่อพลอยมีพื้นที่ล้ำเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาและพื้นที่ทางทหาร จนมีการปิดห้ามทำพลอยในบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2527 สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สร้างความซาบซึ้งต่อเหล่าผู้อพยพเป็นอย่างมาก ในการนี้ทรงรับเอาชาวญวนอพยพที่เป็นคาทอลิก 10 คน เดินทางกลับไปพร้อมคณะของพระองค์ด้วย

หมายเหตุ: ตอนที่ 1-4 เป็นช่วงการขบเหลี่ยมอำนาจทางทหารเพื่อชิงอำนาจทางปกครอง ซึ่งเมื่อบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลง อำนาจในฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเริ่มหมดไป ต่อไปจะเป็นการขบเหลี่ยมอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อเข้าสู่อำนาจการปกครองแบบเปิดเผย ซึ่งแม้จะมีการช่วงชิงผลประโยชน์กัน แต่เป็นการต่อสู้กันในระบอบ โดยท้ายที่สุด ตัวระบบจะแก้ไขเองเพราะมาจากกระบวนการเลือกตั้งอันมีกลไกในตัวเอง