ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 138; ดู mother! คำเดียวกับ “มาตา” ในภาษาบาลี “มาตฤ” ในภาษาสันสกฤต (อ่านว่า มา-ตฺริ) ซึ่งไทยเรายืมมาดัดแปลง เติม ร เป็นตัวสะกดพยางค์หน้า เปลี่ยน ต เป็น ด กลายเป็นคำว่า “มารดา” #ออกนอกเรื่องไปมาก

ที่เกริ่นนำเกี่ยวกับชื่อเรื่องนี่ก็เพราะว่าชื่อหนังเรื่องนี้น่าสนใจ สังเกตได้ว่าใช้ m เล็ก ไม่ใช่ M ใหญ่แบบชื่อหนังทั่วไป ทั้งยังมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ด้วย (คือเครื่องหมายตกใจนั่นล่ะฮ่ะ) พอได้ดูหนังตัวอย่างก็ตกใจไปอีก นี่มันหนังอะไรหว่า ตัวละครดูตกใจตลอดเวลา เพลงประกอบกับจังหวะของหนังก็ชวนตกใจไม่ใช่น้อย ครั้นต่อมาก็ได้ข่าวหนาหู ว่าหนังได้รับคำชมกับคำด่ามากพอๆ กัน เรียกได้ว่า ‘เสียงแตก’ อย่างสมบูรณ์ และมีหลายคนที่ดูไม่รู้เรื่องด้วย ดิฉันก็เลยคิดว่าต้องจัดซะหน่อย อะไรงงๆ นี่ดิฉันชอบ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดิฉันตัดสินใจว่ายังไงก็ต้องดูเรื่องนี้ ก็เพราะหนังเป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เก่งมากๆ ในการทำหนังเขย่าขวัญจิตวิทยา ดิฉันชอบเรื่อง Black Swan ที่แกกำกับเมื่อปี 2010 มาก ดูทีไรก็กลัวขี้หดตดหาย และนักแสดงในกำกับของแกก็เล่นดีกันจริงๆ เหมือนแกสามารถขยายศักยภาพของนักแสดงออกไปได้ไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าเราจะได้ดูการแสดงดีๆ และได้ขนพองสยองเกล้าสมใจแน่

ตัวละครในเรื่อง mother! ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ดิฉันจึงขอเรียกตัวละครทุกตัวด้วยนามอันแท้จริงของนักแสดง กล่าวคือ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เป็นเมียของฆาเบียร์ บาร์เดน อยู่ในบ้านใหญ่โตสวยงามด้วยกันเพียงสองคน แต่ต่อมาก็ต้องต้อนรับแขกผู้ลึกลับ อันได้แก่ ลุงเอ็ด แฮร์ริส กับป้ามิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์ ซึ่งนอกจากจะไม่มีความเกรงใจเจ้าบ้านแม้สักกระผีกแล้ว ยังชักพาความโกลากาหลสุดสะพรึงมาสู่บ้านด้วย เรื่องย่อที่พอจะเล่าได้โดยไม่สปอยล์ก็มีอยู่แค่นี้

ที่มาภาพ: birthmoviesdeath.com

ว่าที่จริงหนังก็เข้าฉายมาได้พักหนึ่งแล้ว ถึงตอนนี้หลายๆ ท่านก็คงจะรู้แล้วล่ะว่าหนังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างโลกและทำลายโลก โปสเตอร์เวอร์ชันนี้ก็แอบบอกใบ้อยู่ ว่าตัวละครของเจนลอว์เป็นบุคลาธิษฐาน (personification) ของอะไร เพราะภาพนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นภาพจำในเทพปกรณัมกรีก ดิฉันยังจำได้ขึ้นใจเลยแม้ว่าจะอ่านการ์ตูนเทพนิยายกรีกมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

อย่างไรก็ดี ดิฉันไม่ได้เห็นโปสเตอร์นี้ก่อนไปดูหนัง ดิฉันไปดูอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย แล้วก็รู้สึกเหมือนเช่นทุกครั้ง ว่าการไม่รู้อะไรไปก่อนก็สนุกไปอีกแบบ เพราะจะทำให้เราเปิดตา เปิดหู เปิดใจ อย่างเต็มที่ ตามติดเรื่องราวและตัวละคร ส่วนที่ใครๆ บอกว่าการดูหนังเรื่องนี้จะต้องใช้สมองตลอดเวลานั้น ถ้า “สมอง” หมายถึง “ใจ” ดิฉันก็ว่ามันเป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่ถ้าคนพูดแยก “สมอง” ออกจาก “ใจ” โดยแบ่งว่าสมองทำหน้าที่ “คิด” ใจทำหน้าที่ “รู้สึก” ดิฉันว่าหนังเรื่องนี้ถ้าใช้ใจดูน่าจะสนุกกว่าใช้สมอง เมื่อเราผูกใจไว้กับหนังเรียบร้อยแล้ว มันจะพาเราไปข้างไหนเราก็ไปกับมันเลย แล้วเราก็จะเริ่ม “เข้าใจ” ทีละน้อยว่ามันกำลังสื่อสารอะไรกับเรา

ความเข้าใจดังกล่าว อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าคนที่อ่านคัมภีร์ไบเบิลหรือนับถือศาสนาคริสต์ แต่อย่างน้อยๆ ตำนานเกี่ยวกับการสร้างและทำลายโลกก็มีอยู่ในทุกวัฒนธรรม คนที่เติบโตมาในวัฒนธรรม “น้ำจะท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว” และ “ไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก” อย่างดิฉัน รวมทั้งมีชีวิตอยู่มานานพอที่จะเห็น “มิคสัญญีกลียุค” อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์มานับครั้งไม่ถ้วน จึงน่าจะเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก หรือถึงแม้จะไม่เข้าใจอะไรเลย หนังก็มีความสนุกตื่นเต้นตกใจจนเราติดตามเรื่องได้อย่างระทึกโดยตลอด สมกับเครื่องหมายอัศเจรีย์ในชื่อเรื่อง ส่วนสาเหตุที่ใช้ตัว m เล็กนั้น ก็มิได้ยากเกินกว่าจะตีความ ทั้งนี้ ประเด็นที่หนังนำเสนอก็นับว่า ‘ล่อเป้า’ พอสมควร ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากเกลียดหนังเรื่องนี้ แต่ดิฉันชอบ ดิฉันว่าแรงดี

เจนลอว์ในบท mother งดงาม เรืองรอง และแสดงได้ยอดเยี่ยมมากกกกกกกกกก ปกติดิฉันไม่ค่อยจะไยดีอะไรกับนางเท่าไหร่นะ แต่เรื่องนี้นางคือ ‘ตัวแม่’ ที่แท้ทรู หลายๆ ฉากนางไม่มีบทพูด หรือพูดน้อยมากเพราะไม่มีโอกาสได้พูด แต่นางก็ไม่ถูกกลืนหาย เวลากล้องตัดรับปฏิกิริยานางที่มีต่อคำพูดและการกระทำของคนอื่นๆ ขอบอกว่ามันส์มากๆๆๆๆ ทุกฉากทุกตอนของนางคือที่สุดของความพีค และที่สุดของที่สุดของพีคของพีค คือนางได้ผู้กำกับด้วยข่าาาาา อายุห่างกัน 20 ปีเอ๊ง เมื่อตอนที่อโรนอฟสกี กำกับเรื่อง Black Swan นาตาลี พอร์ตแมน ผู้เล่นเป็นนางเอก ก็ได้นักบัลเล่ต์หนุ่มหล่อที่แสดงร่วมกันเป็นผัว แถมยังคว้ารางวัลออสการ์ไปครองด้วย คราวนี้ก็ขอให้เจนลอว์ได้แจ็กพ็อตสองเด้งเช่นเดียวกันนะ เชียร์!

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 170

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

28 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก indiewire.com)