โดย Average Joe

15 มกราคม 2017

ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารของสิ่งมีชีวิตต่างๆ แต่สิ่งมีชีวิตที่มีแนวคิดเรื่องภาษาและรับรู้แนวคิดนี้คงมีเพียงมนุษย์เท่านั้น ภาษาของมนุษย์มีทั้งแบบที่ไม่ใช้คำพูด (อวัจนภาษา) เช่นการยักไหล่ ขมวดคิ้ว ยิ้มอ่อน เบะปาก มองบน และแบบที่ใช้คำพูด (วัจนภาษา) ซึ่งมีทั้งภาษาพูด (เสียง) และภาษาเขียน (ตัวอักษร) บางภาษามีแต่เสียงพูดโดยไม่มีอักษรไว้ใช้เขียน ส่วนอักษรเขียนในโลกนี้ก็หลากหลายจนเกินความท้าทายที่จะเรียนรู้ได้หมด หลายภาษาใช้ชุดตัวอักษร (alphabet) เขียนเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงที่ (ค่อนข้าง) ตายตัว กล่าวคือเราอาจเดาเสียงอ่านจากคำที่เขียนได้เลย เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาเกาหลี ทว่าบางภาษาเป็นอักษรแบบ logogram คือไม่ได้แสดงให้เห็นเสียงอ่าน แต่เน้นที่การถ่ายทอดความหมายของคำ เช่น อักษรเฮียโรกลิฟิกส์ของอียิปต์โบราณ หรืออักษรจีน ซึ่งยังสามารถเขียนให้อ่านในแนวใดก็ได้ ทั้งจากซ้ายไปขวา ขวามาซ้าย บนลงล่าง อักษรของบางภาษาเป็น syllabary คือสัญลักษณ์แทนพยางค์ในภาษานั้น เช่น อักษรฮิระกะนะและคะตะคะนะของญี่ปุ่น

การศึกษาเรื่องภาษาทำให้เราเข้าใจลักษณะเด่นและความแตกต่างของแต่ละภาษา ทั้งในด้านโครงสร้างและความหมาย เช่น บางภาษามีโครงสร้างประโยคเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม (SVO) บางภาษาเป็นแบบประธาน-กรรม-กริยา (SOV) เช่น ภาษาญี่ปุ่นหรือเกาหลี หรือบางภาษาอาจจะไม่สนใจเรื่องลำดับคำในประโยคเลยด้วยซ้ำ (เช่น ภาษาฮังกาเรียน) บางภาษามีการเปลี่ยนแปลงคำตามเพศและพจน์ เช่น ภาษาตระกูลโรมานซ์ทั้งหลาย (ฝรั่งเศส อิตาเลียน) นอกจากนี้ การรับรู้ความหมายของคำก็แตกต่างกันไป เช่น คำว่า brother ที่บอกเพศ แต่ไม่บอกความอาวุโส ในขณะเดียวกัน คำว่า พี่ บอกความอาวุโส แต่ไม่บอกเพศ ส่วน 哥哥/兄 บอกทั้งเพศและความอาวุโส ความแตกต่างเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ภาษามีความคุ้นเคยและมุมมองต่อสิ่งรอบตัวต่างกันไป ปัจจุบันมีผลการวิจัยมากมายที่ชี้ว่า (การเรียน) ภาษามีอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ (perception) ของคนที่ใช้ภาษานั้นๆ เช่น คนที่ใช้ภาษาที่มีวรรณยุกต์ (tonal languages) ก็จะมีแนวคิดเรื่องเสียงสูงต่ำในระดับพยางค์ (tones) ต่างจากคนที่ใช้ภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ที่จะจับเสียงสูงต่ำจากระดับประโยค (intonation) มากกว่า หรือภาษาที่เอาคุณศัพท์วางขยายหน้านามกับภาษาที่เอาคุณศัพท์วางไว้หลังนามก็น่าจะทำให้ลำดับความคิดของผู้ใช้ภาษาทั้งสองแบบต่างกันได้เช่นกัน

เมื่อยานต่างดาวลึกลับจำนวน 12 ลำ มาปรากฏกระจายตัวกันอยู่เหนือพื้นที่ต่างๆ บนโลก รวมทั้งมอนทานา สหรัฐอเมริกา ดร.หลุยส์ แบงค์สฺ (Louise Banks) อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักภาษาศาสตร์ที่เคยร่วมงานกับกระทรวงกลาโหมมาก่อน จึงได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์และแปลภาษาของมนุษย์ต่างดาวที่มาเยือนโลกกลุ่มนี้ การศึกษาภาษาของมนุษย์ต่างดาว (ในเรื่องเรียกว่า Heptapods หมายถึง มีเจ็ดขา) ทำให้หลุยส์เข้าใจแนวคิดและมุมมองของพวกเขา เช่น การรับรู้เรื่องเวลาที่ต่างจากมนุษย์โลก รวมทั้งเหตุผลในการเขียนตัวอักษรที่ดูคล้ายรอยหมึกที่เป็นวงกลม ยิ่งศึกษาวิเคราะห์ภาษาต่างดาวมากและนานเข้า มุมมองและการรับรู้ของหลุยส์เองก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ที่มาภาพ: www.comingsoon.net

นี่คงเป็นหนังไม่กี่เรื่องที่แสดงให้เห็นพลานุภาพแห่งการใช้ภาษาและความสำคัญในการสื่อสาร ทำให้การรู้ภาษาต่างประเทศ (ในเรื่องนี้เพิ่มความเจ๋งด้วยการรู้ภาษาต่างดาวกันเลย) องค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ และทักษะในการแปลเป็นสิ่งที่เท่เหลือหลาย เดอนีส์ วีลเนิฟ (Denis Villeneuve) ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส-แคนาดา ที่เคยมีผลงานน่าชื่นชมมาแล้วหลายเรื่อง เช่น Prisoners (2013) Enemy (2013) และ Sicario (2015) ทำให้ Arrival เป็นหนังไซไฟ-ปรัชญาที่เรียบนิ่งทว่าลุ่มลึก ด้วยสาส์นอันทรงพลังจากเรื่องต้นฉบับ บวกกับการแสดงอันยอดเยี่ยมของเอมี่ อดัมส์ (Amy Adams) ในบท ดร.หลุยส์ ที่ทำให้เราเชื่อได้อย่างง่ายดายว่า เธอเป็นนักภาษาศาสตร์ที่ละเอียดและเฉียบแหลม ในขณะเดียวกันก็ถูกหลอกหลอนด้วยความทรงจำส่วนตัวบางประการ

นอกจากนี้ องค์ประกอบอื่นๆ ของหนังก็อยู่ในระดับที่เอกอุไม่แพ้กัน อย่างเช่นดนตรีประกอบที่แสนตราตรึงของโยฮาน โยฮานซอน (Jóhann Jóhannsson) ที่ยังคงก้องกังวานในหัวหลังจากหนังจบ การตัดต่อสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ที่มอนทานา และเหตุการณ์ที่เป็น “ความทรงจำ” ของหลุยส์ จนเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตอนท้าย คนดูก็อาจจะทึ่งไปกับการบอกใบ้เนียนๆ ที่หนังได้วางไว้ตลอดทั้งเรื่องก็เป็นได้ แม้คำถามในตอนท้ายเรื่องจะชวนให้เราคิดตามเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตที่เราเลือกเดิน ทว่าหนังก็ดูเหมือนจะชี้นำกลายๆ ว่า การมาถึง (arrival) ของสิ่งต่างๆ ในชีวิตเรา น่าจะสำคัญกว่าการจากไป (departure) นัก หากสิ่งนั้นนำความสุขมาแก่ชีวิต และสร้างความทรงจำอันงดงามไม่รู้ลืมให้แก่เราได้

9.5/10 ครับ ^_^

ป.ล. Arrival (2016) ดัดแปลงจากเรื่องสั้นปี 1998 ของนักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายจีน เท็ด เจียง (Ted Chiang) เรื่อง Story of Your Life โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ กับหนังไซไฟปี 1996 เรื่อง The Arrival กรุณาอย่าสับสน

ป.ล. 2 เอมี่ อดัมส์ แสดงได้ดีตามมาตรฐาน  ซึ่งก็ทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลต่างๆ เช่นที่ผ่านมา  (รายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ยังไม่ประกาศ แต่คิดว่ามีชื่อเธอติดโผแน่นอน) ควบคู่ไปกับหนังเรื่อง Nocturnal Animals ที่ออกฉายปีเดียวกัน ทว่าเมื่อดูจากรายชื่อนักแสดงหญิงคนอื่นๆ ที่ได้เข้าชิงแล้ว คงต้องทำใจอีกครั้งว่าเธออาจชวดรางวัลอีกเช่นเคย นี่เป็นนักแสดงฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งที่น่าเห็นใจ เพราะได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ ทีไร ก็มักชนโครมกับผู้เข้าชิงคนอื่นในบทที่เด่นกว่าเสมอ แต่ในฐานะแฟนหนัง เราก็ยังรอคอยวันที่นางจะได้ออสการ์อยู่นะ

ป.ล. 3 (สำหรับคนที่ดูหนังแล้ว แต่ไม่น่าจะสปอยล์) ที่น่าสังเกตก็คือ นอกจากชื่อตัวละคร Hannah ในเรื่องแล้ว ชื่อของนักแสดงชาย (Jeremy) Renner ก็เป็น palindrome ด้วยเช่นกัน