โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

13 กุมภาพันธ์ 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 092; ดู Split ที่ลิโด 3 เหลือรอบเดียว แต่คนยังเต็มโรง คุณพี่เอ็ม. ไนต์ ชามาลาน คัมแบ็กแล้วข่าาาา

อันว่าคุณพี่นั้นก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ดิฉันชื่นชอบนะ เพราะถือได้ว่าแกเป็นผู้นำเทรนด์หนังผีหักมุมในยุคของดิฉันเลยแหละ เรื่อง The Sixth Sense ที่แกเขียนบทและกำกับเมื่อปี 1999 เป็นหนึ่งในหนังดีที่ครองใจดิฉันตลอดกาล ไม่ใช่แค่เพราะมันจบแบบหักมุม แต่เพราะมันลงตัวทุกอย่างในความเป็นหนังจริงๆ จะว่าไปตอนนั้นฮอลลีวูดก็ตื่นเต้นกับแกมาก เพราะแกเป็นคนอินเดียด้วยไง ไม่ใช่ฝรั่งมังค่า เวลาอยู่บ้านแกชื่อมาโนช (“เอ็ม. ไนต์ ชามาลาน” มาจากชื่อจริงว่า “มาโนช เนลลิยัตตู ศยามาลาน”) ผู้ชมชาวไทยก็ปลาบปลื้มโสมนัสกับแกมากอยู่ แต่พอหลังจากนั้นก็ด่าเละ เพราะหนังเรื่องถัดๆ มาของแกมันพยายามเกินไปจนไม่พอดี ทั้งนี้ ในความเห็นของดิฉัน เรื่อง Unbreakable (ปี 2000) กับ Signs (ปี 2002) ก็ไม่ถึงกับยี้นะ พอดูได้ ส่วน The Village (ปี 2004) นี่ชอบเลย เรื่องนี้นักวิจารณ์ด่ากันขรม แต่มันเป็นหนึ่งในหนังโปรดของดิฉัน 555 ในเวลาต่อมาพี่แกก็ทำหนังอีกหลายเรื่อง โดนด่ามากกว่าชม คนยกให้เป็นหนังยอดแย่บ้างอะไรบ้าง ล้มลุกคลุกคลานกันไป

มาถึงปี 2016 คุณพี่มาโนชก็มาเหนือเมฆ กับหนัง Split ซึ่งว่ากันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของอาชญากรชาวอเมริกันในยุค 70s นามว่า บิลลี มิลลิแกน ทีแรกเขาถูกจับข้อหาปล้นก่อน ติดคุกอยู่ 2 ปี พอออกมาก็ไปข่มขืนหญิงสาว 3 คนในมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ก็เลยถูกจับอีกรอบ และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกภาพหลายแบบ (Dissociative Identity Disorder: DID) ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าโรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder: MPD) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Split Personality (บุคลิกแตกแยก) เขาก็เลยไม่ต้องรับโทษ แต่ไปรับการบำบัดรักษาแทน

สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยถูกกระทำทารุณกรรม หรือมีความทรงจำอันเลวร้ายมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยสร้าง “ตัวตน” หรือบุคลิกภาพอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองและหลีกหนีความจริงอันเจ็บปวดในชีวิต แต่ละบุคลิกที่สร้างขึ้นมาจะเป็นเหมือนคนอีกคนหนึ่ง มีชื่อ เพศ วัย เชื้อชาติ รูปลักษณ์ ลักษณะนิสัย ฯลฯ เป็นของตัวเอง บุคลิกต่างๆ นี้จะผลัดเปลี่ยนกันออกมามีบทบาท ทำให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันออกไปตามบุคลิกที่มีบทบาทในขณะนั้น

คุณหมอบอกว่า บิลลี มิลลิแกนมีบุคลิกภาพในตัวถึง 23 บุคลิก โดยบุคลิกที่ก่อคดีข่มขืน ชื่ออดาลาน่า เป็นเลสเบียน บุคลิกที่ก่อคดีปล้น ชื่อเรเกน วาดาสโควินิช ชาวยูโกสลาเวีย พูดอังกฤษสำเนียงสลาฟ อ่านเขียนภาษาเซอร์เบียได้คล่อง เป็นบุคลิกที่มีอำนาจสูงสุดในยามคับขัน ส่วนบุคลิกที่มีอำนาจสูงสุดในยามสงบ ชื่ออาเธอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ พูดสำเนียงอังกฤษ ใส่แว่น ใจเย็น มีเหตุมีผล

อาเธอร์กับเรเกนเล่าให้คุณหมอฟังว่า ข้างในตัวบิลลีมีสปอตไลต์อยู่ พวกเขาทุกคนยืนล้อมสปอตไลต์ แล้วอาเธอร์หรือไม่ก็เรเกนจะเป็นคนตัดสิน ว่าใครจะเข้าไปอยู่ในสปอตไลต์เพื่อจะได้ออกมาข้างนอก โดยบุคลิกที่ได้ออกมาบ่อยๆ จะมีเพียง 9 บุคลิก อีก 13 บุคลิกไม่ค่อยได้ออก เพราะเป็นบุคลิกที่ไม่ได้เรื่องได้ราว ใช้การอะไรไม่ค่อยได้ ส่วนบิลลีซึ่งเป็นบุคลิกหลักนั้น ถูกทำให้หลับอยู่เนื่องจากเคยคิดฆ่าตัวตาย (จะเห็นได้ว่า บุคลิกที่เป็นภัยต่อชีวิตของตัวเอง จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีบทบาท) ต่อมาในระหว่างการบำบัดรักษา บิลลีได้สร้างบุคลิกที่ 24 ขึ้นมา คือ อาจารย์ (Teacher) ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมบุคลิกต่างๆ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นบุคลิกภาพที่ลงตัว

ก่อนหน้านี้ ดิฉันเคยดูหนังเกี่ยวกับคนเป็นโรคบุคลิกแตกแยกหลายเรื่อง และก็ชอบมากด้วย อย่างเช่นเรื่อง Primal Fear (ปี 1996) Identity (ปี 2003) และบอดี้ ศพ#19 (พ.ศ. 2550) แต่หนังที่กล่าวมานี้ไม่ได้เอาเรื่องบุคลิกแตกแยกเป็นจุดขาย เขาจะเก็บประเด็นนี้ไว้มิดชิด เพราะมันเป็นส่วนสำคัญของการหักมุมในตอนจบ (อ้าว! สปอยล์เลย แต่หนังตั้งนานแล้ว ไม่เป็นไรหรอกเนอะ 555)

ที่มาภาพ: www.impawards.com

ทีนี้ ถ้าคุณพี่มาโนชจะทำแบบหนังสมัยก่อน ก็ไม่มีใครตื่นเต้นแล้วล่ะ แกก็เลยชูเรื่องบุคลิกแตกแยกเป็นจุดขาย คำโปรยก็บอกชัดเลยว่า Kevin has 23 distinct personalities. The 24th is about to be unleashed. แปลว่า “เควินมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน 23 บุคลิก บุคลิกที่ 24 กำลังจะได้รับการปลดปล่อย” ถ้าอยากรู้ว่าบุคลิกที่ 24 คืออะไร ก็ดูภาพโปสเตอร์ แกเปิดเผยให้เห็นโดยไม่แคร์ เพราะนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แล้วต่อจากนั้นแกก็ค่อยๆ พาคนดูไปค้นพบสิ่งที่แกซ่อนไว้ ทีละอย่าง ทีละอย่าง จนเมื่อถึงบทสรุป ดิฉันก็ถึงกับอุทานในใจว่า คุณพี่ล้ำจริงๆ ให้ตาย!

คือโรค DID นี้ มันน่ามหัศจรรย์สุดๆ ตรงที่ว่า เมื่อผู้ป่วยสร้างบุคลิกภาพใดๆ ขึ้นมา และ “เชื่อ” ว่าบุคลิกภาพนั้นมีอยู่จริง มันจะไม่ได้แสดงผลแค่ทางจิตใจและพฤติกรรม แต่ยังมีผลต่อสมองและร่างกายด้วย กล่าวคือ “สภาพ” และ “ศักยภาพ” ทางสมองและทางร่างกายก็จะเป็นไปตามบุคลิกภาพนั้นๆ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการไปตรวจร่างกาย ผลตรวจของบุคลิกภาพต่างๆ จะแตกต่างกันราวกับเป็นคนละคน คุณพี่มาโนชได้นำประเด็นนี้มาคิดต่อ และโยนให้เราคิดด้วยว่ามันจะนำพาเราไปถึงขั้นไหน แต่ที่แน่ๆ ดูท่าว่าคุณพี่จะสร้างจักรวาลมาโนชแข่งกับจักรวาลมาร์เวลแล้วล่ะ เหือๆๆ

เจมส์ แมคอาวอย รับบทเควิน หนุ่ม 23 (+1) บุคลิก ผู้ลักพาตัวเด็กสาว 3 คนมากักขังโดยมีเป้าหมายบางอย่าง ทีแรกดิฉันคิดว่าจะได้เห็นบุคลิกทั้ง 24 ของแก แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็คงเวียนหัวแย่ แค่เท่าที่เห็นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเกือบ 10 บุคลิกนี่ก็เหนื่อยแทนแล้ว ในส่วนที่เล่น 10 คาแร็กเตอร์ในเรื่องเดียวนั้นไม่ใช่ปัญหาของแมคอาวอย เพราะแกก็ยอดฝีมือคนหนึ่ง เสียอย่างเดียว แกดูไม่ค่อยน่ากลัว ไม่ค่อยสะพรึงเท่าไหร่ ถ้าดิฉันเป็นชะนีน้อย 3 คนนั้นคงจะไม่ค่อยกลัวแก อาจจะยินยอมพร้อมใจให้ลักพาไปแต่โดยดี 555

ฝ่ายเหยื่อ ผู้รับบทนำคือน้องอันยา เทย์เลอร์-จอย ซึ่งแจ้งเกิดมาจาก The VVitch น้องโตขึ้นมาก ตัวโตเกือบเท่าแมคอาวอย เลยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แมคอาวอยดูไม่ค่อยน่ากลัว #โทษเด็ก แต่น้องเล่นดีมาก ถ่ายทอดความรู้สึกภายในได้ชัด จึงนำไปสู่บทสรุปอันน่าเชื่อถือว่า นี่คือ “ผู้ถูกกระทำ” ซึ่งพร้อมแล้วที่จะลุกขึ้นสู้ ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนอย่างแท้จริง

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 155

(ขอบคุณภาพปกจาก moviesinthephilippines.files.wordpress.com)