ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 064; มีธุระปะปังทางฝั่งธนบุรี เลยเปลี่ยนบรรยากาศไปดู The Conjuring 2 ที่โรงหนัง SF ณ ห้างคริสตัลเอสบี แถวบ้านน้องสาว ราคาแพงหน่อย แต่จองออนไลน์ จ่ายสิ้นเดือน ถือว่ามีเวลาในการจัดสรรงบประมาณ 555

conjuring-2

ที่มารูป: pop-break.com

หนัง The Conjuring ภาคแรก เมื่อปี 2013 นั้น นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างแท้จริง ตั้งแต่รอบทดสอบฉายก็ได้รับคำชมล้นหลาม และหลังจากเปิดตัวก็ได้รับกระแสดีอย่างต่อเนื่อง หนังเป็นที่รักทั้งในหมู่นักวิจารณ์และผู้ชม ด้วยความสยองขวัญสั่นประสาทระคนซาบซึ้งอันเกิดจากความแปลกใหม่ในวิธีการนำเสนอ ซึ่งไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าจนถึงทุกวันนี้ยังจะมีใครสามารถหาแนวทางใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องผีได้อีก แต่หนังเรื่องนี้ทำได้ ด้วยบทภาพยนตร์ การกำกับ และการแสดงที่หนักแน่นแข็งแรง จนหน่วยงานจัดเรตต้องมอบเรต R ให้ เนื่องจาก “หนังน่ากลัวมาก ระบุไม่ได้เลยว่าฉากไหนหรือโทนเรื่องตรงไหนที่ต้องเอาออกเพื่อให้ได้เรต PG-13” ความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้ชื่อของคนคนหนึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บุคคลผู้นั้นคือ เจมส์ วาน ผู้กำกับการแสดง ซึ่งในตอนนั้นมีอายุเพียง 36 ปี

เจมส์ วาน เป็นชาวมาเลเซียเชื้อชาติจีน มีชื่อจีนตามสำเนียงจีนกลางว่า เวินจื่อเหริน เมื่อเติบใหญ่ได้ย้ายนิวาสสถานไปอยู่ออสเตรเลีย เรียนหนังสือที่นั่น และได้สัญชาติออสเตรเลียน ทำหนังประกวดได้รับรางวัลในเทศกาลหนังใต้ดินเมลเบิร์นมาตั้งแต่อายุ 23 หลังจากนั้นก็ใช้เวลา 1 ปีเขียนบทหนังเรื่องหนึ่ง โดยเขียนร่วมกับเพื่อนอีกคน แล้วใช้เวลาอีก 1 ปีหาทุนสร้างหนังเรื่องนี้ แต่ไม่มีใครให้ทุนเลย ผู้จัดการของเขาจึงนำบทไปเสนอที่แอลเอ ปรากฏว่านายทุนทางนั้นสนใจ นัดสัมภาษณ์ เขากับเพื่อนจึงรวบรวมเงินทำหนังสั้น 10 นาทีจากตอนหนึ่งในบท ถ่ายทำ 2 วัน ตัดต่อ 3 วัน เอาไปฉายให้นายทุนดูด้วย นายทุนดูแล้วทุบโต๊ะเปรี้ยง อนุมัติให้สร้างทันที โดยให้เจมส์ วาน กำกับเอง หนังเรื่องที่ว่านี้ก็คือ Saw (ชื่อไทย “ซอว์ เกมต่อตาย…ตัดเป็น“) ออกฉายในปี 2004 ประสบความสำเร็จสูงมาก ทำรายได้ระเบิดเถิดเทิง ผู้คนก็ชื่นชมโสมนัส ดิฉันเองไม่ได้ดู Saw ในโรง เพราะไม่ชอบหนังแนวนี้ แต่บังเอิญวันหนึ่งเปิดทีวีเจอตอนประมาณกลางๆ เรื่อง ปรากฏว่าต้องดูไปจนจบเลยเพราะหนังสนุกมาก แล้วฉากจบก็ทำเอาดิฉันหายใจไม่ออกจนต้องลุกไปเปิดหน้าต่างเปิดประตู ยอมรับเลยว่าหนังเรื่องนี้ดีจริงๆ

Saw ได้มีการสร้างต่อมาจนถึงภาค 6 แล้วปิดท้ายด้วย Saw 3D ในปี 2010 โดยเจมส์ วาน ขึ้นแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ จบจากแฟรนไชส์ Saw เขาก็เริ่มแฟรนไชส์ Insidious (ชื่อไทย “วิญญาณตามติด“) โดยกำกับเองในภาคแรก (ปี 2011) กับภาคสอง (ปี 2013) และโปรดิวซ์ในภาคสาม (ปี 2015) แล้วยังกระโดดไปกำกับ Furious 7 ในแฟรนไชส์ The Fast and the Furious พร้อมทั้งกำกับ The Conjuring (ชื่อไทย “คนเรียกผี“) ทั้งสองภาคด้วย #ไม่กราบรัวๆก็ไม่รู้จะว่ายังไง

The Conjuring ทั้งสองภาค สร้างจากเรื่องจริงในแฟ้มคดีของเอ๊ด และลอร์เรน วอร์เรน คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันผู้เป็นนักสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เอ๊ดเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ผันตัวเองมาเป็นนักปิศาจวิทยา ส่วนลอร์เรนเป็นผู้มีญาณทิพย์ เวลาเกิดเหตุผีหลอกวิญญาณหลอน ณ ที่แห่งใด ทั้งสองจะได้รับการร้องขอให้ไปตามล่าหาความจริงและติดต่อกับวิญญาณ ณ ที่แห่งนั้น (ก็คือ conjuring หรือการปลุกผีนั่นล่ะฮ่ะ) เพื่อหาทางช่วยเหลือเหยื่อและครอบครัวที่ถูกวิญญาณร้ายคุกคาม ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เอ๊ดและลอร์เรนได้ช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายไปประมาณ 5,000 เคส และได้เก็บสิ่งของที่เป็นสื่อของวิญญาณในแต่ละเคสไว้ในห้องใต้ดินที่บ้านของตัวเองในรัฐคอนเนตทิคัต โดยได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อ The Warren’s Occult Museum (พิพิธภัณฑ์สิ่งลี้ลับของครอบครัววอร์เรน) ตั้งแต่ปี 1952 (เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดิฉันจะไม่มีวันย่างกรายไปตลอดชั่วชีวิตนี้) ปัจจุบัน ลอร์เรนอายุ 89 ปี ส่วนเอ๊ดเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2006 สิริอายุ 79 ปี ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนัง The Conjuring ได้รับการชื่นชมว่ามีมุมมองที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับหนังบ้านผีเฮี้ยนเรื่องอื่นๆ ก็น่าจะเป็นเพราะศูนย์กลางของเรื่องไม่ได้อยู่ที่คนในบ้าน แต่อยู่ที่คนเข้าไปช่วย ซึ่งก็คือเอ๊ดกับลอร์เรนนี่เอง โดยผู้ที่รับบทสามีภรรยาคู่นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นที่ชื่นชอบของแฟนหนังผีทั่วแผ่นดิน ก็คือแพทริก วิลสัน (พระเอก Insidious) กับเวรา ฟาร์มิกา (นางเอก Up in the Air)

The Conjuring 2 ยังคงยึดมั่นตามแนวทางของภาคแรกทุกประการ ตั้งแต่เปิดเรื่องด้วยการยกเคสอื่นขึ้นมาก่อนเพื่อนำเข้าสู่เคสหลักของเรื่อง ซึ่งในภาคแรก เคสนำคือตุ๊กตาแอนนาเบลล์ (แม้จะเป็นแค่เคสนำ แต่นางก็แรงมากจนมีหนังเป็นของตัวเองแล้วเมื่อปี 2015 ชื่อ Annabelle นี่แหละ เจมส์ วาน เป็นโปรดิวเซอร์ ดิฉันได้ดูทางทีวี ไม่มีความน่ากลัวและความสนุกแม้แต่น้อย) แอนนาเบลล์ใน The Conjuring ได้นำเข้าสู่เคสหลักของเรื่อง คือเคสครอบครัวเพอร์รอนซึ่งถูกคุกคามโดยวิญญาณร้ายชื่อเบธชีบา ส่วน The Conjuring 2 เคสนำคือบ้านผีสิง Amityville (ชื่อคุ้นมาก เพราะสร้างเป็นหนังมาแล้ว 13 ครั้ง กำลังจะมีครั้งที่ 14 ในปีหน้า) แอมิตี้วิลล์นี้เป็นเคสที่หนักมากของเอ๊ดกับลอร์เรน และมันยังนำทั้งสองไปสู่เคสที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนและน่าขนพองสยองเกล้ามากที่สุดเคสหนึ่ง คือ Enfield Poltergeist ซึ่งครอบครัวแม่หม้ายลูกสี่ในย่านเอนฟิลด์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต้องผจญกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่ข้าวของในบ้านเคลื่อนย้ายได้เอง (ปรากฏการณ์นี้ศัพท์เทคนิคเรียกว่า โพลเทอร์ไกสต์) และลูกสาวคนรองชื่อเจเน็ตก็มีอาการเหมือนถูกวิญญาณเข้าสิง โดยผู้ที่เข้าไปพิสูจน์ความจริงมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นวิญญาณ อีกฝ่ายเชื่อว่าครอบครัวนี้สร้างสถานการณ์ขึ้นเอง ทางคริสตจักรจึงขอให้สามีภรรยาวอร์เรนเข้าไปตามล่าหาความจริงในเรื่องนี้ และนี่ก็คือเคสหลักของ The Conjuring 2

นอกจากวิธีการเปิดเรื่องดังกล่าวแล้ว สิ่งดีงามทั้งปวงในภาคแรกก็ยังมีอยู่ในภาคสองทุกประการ ทั้งยังได้รับการสานต่อ เน้นย้ำ ขยาย และใช้อย่างช่ำชองมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ประกอบและกลวิธีทุกอย่างที่สร้างความหลอน คือแบบดิฉันเนี่ยนั่งเกร็งจนแทบจะเป็นตะคริว น่ากลัวมากพ่อแม่พี่น้องเอ๊ยยยย ผีห่าซาตานจริงๆ แล้วหนังยาวตั้ง 134 นาทีนะ แต่สนุกทุกวินาที จังหวะจะโคนในการวางเส้นเรื่องนี่เนี้ยบไปหมด มีช่วงบีบคั้น ช่วงบดขยี้ ช่วงผ่อนคลาย ที่ถูกจัดวางอย่างมีรสนิยมและเข้าใจอารมณ์มนุษย์มากๆ ที่สำคัญ การที่หนังนำเสนอในฐานะ “อีกเคสหนึ่งของสามีภรรยาวอร์เรน” นี้ นับเป็นการเลือกที่ฉลาดสุดๆ เพราะนอกจากจะทำให้หนังสามารถฉีกแนวจากหนังบ้านผีสิงทั่วไปดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมิติที่ลึกซึ้งในประเด็นความรักความผูกพันของครอบครัวและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย สิ่งนี้แหละที่ทำให้ The Conjuring ทั้งสองภาคมีความพิเศษกว่าหนังผีทั่วไป และทำให้ The Conjuring ภาคสองนี้สามารถเรียกน้ำตาแห่งความซาบซึ้งของดิฉันได้เทียบเท่ากับหนังดรามาดีๆ เรื่องหนึ่ง ทีแรกคิดว่าอาจเป็นด้วยประสบการณ์ส่วนตัว เนื่องจากเพลงของเอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งเป็นเพลงสำคัญเกี่ยวพันกับ “พ่อและครอบครัว” ในหนังเรื่องนี้ บังเอิญเป็นเพลงโปรดของพ่อดิฉัน แล้วพ่อก็เปิดเทปและร้องให้ฟังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เห็นญาติมิตรที่ไม่ได้มีประสบการณ์กับเพลงนี้ก็ซาบซึ้งกับหนังไม่ต่างจากดิฉันเลย ดังนั้นมันจึงเป็นความดีงามของหนังล้วนๆ เป็นความดีงามในฐานะ “หนังเกี่ยวกับวิญญาณที่ช่วยยกระดับจิตวิญญาณ” อย่างแท้จริง

สรุป: จ่าย 180 ได้กลับมา 220

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

12 มิถุนายน 2016

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)