โดย ช. คนไม่หวังอะไร
การปกครองของไทยในยุคสังคมเกษตร ใช้หลักความเชื่อดั้งเดิมผสมกับความศรัทธาที่มีต่อศาสนา ส่งผลต่อการเกิดค่านิยมและจารีตประเพณีมาถึงปัจจุบัน ความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจและเทพเจ้าต่างๆ ก่อให้เกิดการประยุกต์ใช้เป็นวัตถุมงคล การเชื่อฟังจนนำไปสู่การครอบงำและจำกัดกรอบความคิด เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม ความเชื่อในสิ่งต่างๆ ลดลง แต่กลับเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งในครอบครัว และละทิ้งครอบครัวเดิมไปสู่ครอบครัวใหม่ที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เป็นสาระสำคัญที่เป็นแก่นแกนของสังคม
จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอมาตยาเดิมกับคณะราษฎร จึงมีนายกรัฐมนตรีขึ้นคนแรกเป็นพระยามโนปกรณนิติธาดา และเกิดความขัดแย้งซ้อนขึ้นมาระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนทำให้การปกครองไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจทางทหารเสมอมา รัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475–ปัจจุบัน มีถึง 19 ฉบับ แต่มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด คือรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2489 และปีพ.ศ. 2540 หากจะกล่าวกันว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ในการปกครอง 85 ปีที่ผ่านมา อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพราะที่มาดั้งเดิมนั้นเรามาจากระบบศักดินา อำนาจในการครอบครองเป็นสิ่งบ่งชี้ชนชั้นทางสังคม และก้าวเข้าสู่อำนาจการปกครองของทหาร ก่อนจะเข้าสู่ระบบทุนนิยมทางเศรษฐกิจซึ่งเอกชนเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิถีการผลิต
กรอบกำหนดสังคมโดยใช้ระบบราชการเป็นกลไกสำคัญกับเครื่องมือคือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการการปกครอง พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มุ่งเน้นความมั่นคงกับเสถียรภาพ ซึ่งกลไกเหล่านี้ได้ฝังรากลึกมานาน แม้อาจมีการปรับปรุงบ้างแต่เป็นเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ภาคเอกชนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น เดิมเรามีร้านโชห่วย พัฒนามาเป็นมินิมาร์ท ข้าวของเครื่องใช้ น้ำดื่ม ขนมนมเนย ยารักษาโรคมีครบ มีการศึกษาพฤติกรรมการซื้อขายของกลุ่มเป้าหมาย ร้านค้าส่งกลายเป็นห้างสรรพสินค้า และผลิตสินค้าเป็นระบบครบวงจร การเติบโตของภาคเอกชนล้ำหน้ากว่าภาครัฐ แม้รัฐจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพยากรโดยการผูกขาด เช่น ระบบขนส่ง บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมไปถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงงานยาสูบ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน กำไรน้อย ทุจริต อาจมีเพียงปตท. เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จเพราะระบบการบริหารองค์กรเป็นระบบเอกชน อิงกฎหมายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเติบโตของระบบทุนนิยมในทางเศรษฐกิจกับความล้าหลังของระบบราชการ กลายเป็นปัญหาที่สะสมมานาน งบประมาณของรัฐในแต่ละปี รายได้จากภาษี+รัฐพาณิชย์+เงินกู้ กลายเป็นรายจ่ายประจำถึง 70% โดยรัฐมีงบประมาณการลงทุนในสาธารณูปโภคต่างๆ เพียง 20 กว่า % ของแต่ละปีเท่านั้น หากรัฐจะลงทุนอื่นก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการร่วมทุน รวมไปถึงสิทธิ์ในสัมปทานต่างๆ ซึ่งบางครั้งหละหลวมและซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงานของรัฐ ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ต่อเนื่อง กฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน และกระบวนการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากกว่า 1 แสนฉบับ และมีใบอนุญาตกว่า 3,500 ประเภท เป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เรื่องล้าสมัยเหล่านี้ไม่ทันกับธุรกิจสมัยใหม่ และทำให้มีต้นทุนสูงสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งแน่นอนหากไม่แก้ไขย่อมจะบั่นทอนการลงทุน และกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
ความเจริญเติบโตของภาคเอกชนในไทยย่อมแตกต่างกัน เช่น ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีสัดส่วนการครองส่วนแบ่งยอดเงินฝากทั้งระบบของประเทศสูง นายชิน โสภณพนิช เป็นผู้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับวงการค้าของพ่อค้าคนจีน และมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ สามารถดึงภาครัฐเข้ามาร่วมทุน ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีความสัมพันธ์การค้ากับต่างประเทศจากการค้าข้าว ธุรกิจประกันภัย และคลังสินค้า แตกต่างจากธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันตกมาอย่างยาวนาน นอกจากธนาคารอันเป็นธุรกิจการเงินแล้ว ยังมีกลุ่มบริษัทล็อกซเล่ย์ซึ่งนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา รวมทั้งมีการลงทุนในกิจการอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงเมืองไทยประกันชีวิต อันเป็นเครือข่ายของตระกูลล่ำซำ
หากจะคิดกันว่าการเมืองนำเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจนำการเมือง ในบริบทของการปกครองไทยในรอบ พ.ศ. 2530-2560 นี้นั้น อาจประเมินได้ยาก จริงอยู่ว่ารัฐโดยกลไกรัฐคือระบบราชการดูแลรับผิดชอบ แต่ที่มาซึ่งมีอำนาจมากกว่านั้น เป็นคณะบุคคลอันมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน และมีอำนาจเชิงซ้อนในอำนาจรัฐ ต้องยอมรับกันว่าภาคเอกชนเจริญเติบโตสูงมากในธุรกิจหลากหลายประเภท มีการร่วมทุนร่วมหุ้น และพัฒนาสินค้าในแต่ละด้านแบบครบวงจร กลุ่มสหพัฒน์ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างครบวงจร กลุ่มสหยูเนี่ยนดำเนินธุรกิจด้านสิ่งทอและการลงทุนอื่นๆ กลุ่มไทยซัมมิทดำเนินธุรกิจยานยนต์ กลุ่มเซ็นทรัล-กลุ่มเดอะมอลล์ดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าและโรงแรม กลุ่มซีพีดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์ การเกษตรรวมไปถึงการสื่อสาร และยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อาทิ เอไอเอส ดีแทค จัสมิน ธุรกิจเทรดดิ้ง คิงพาวเวอร์ ไทยเบฟ และบุญรอดบริวเวอรี่ โอสถสภา(เต็กเฮงหยู) กระทิงแดง รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ พฤกษาเรียลเอสเตท และธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจบันเทิงบริการ ซึ่งนิติบุคคลแต่ละรายนั้นขยายตัวออกเป็นนิติบุคคลอื่นๆ อีกมาก
แม้อำนาจและอิทธิพลของทุนขนาดใหญ่อาจแข่งขันกันในระบบเศรษฐกิจ แต่ส่งผลต่อระบบการเมือง การปกครอง ซึ่งแน่นอนย่อมมีการแทรกแซงในระบบการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการปกครอง อันจะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มตนเพื่อควบคุมการค้า การอุตสาหกรรม และวิถีการผลิตทรัพยากรอื่นๆ ต่อไป