ภาค 2: บิ๊กสุ ส่งชาติชาย รับอานันท์ ผู้ดีรัตนโกสินทร์

โดย ช. คนไม่หวังอะไร

 

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชาติชายกับกองทัพในช่วงปลายของรัฐบาลสูงขึ้น อำนาจในกองทัพตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจปร.รุ่น 5 พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และจปร. รุ่น 1 พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ความหวาดระแวงมีมากขึ้นท่ามกลางข่าวลือกับยุทธการทางจิตวิทยา ในที่สุด กองทัพกระทำการยึดอำนาจในขณะที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณจะนำพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก เดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในฐานะที่พลเอกอาทิตย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง ด้วยการเข้าควบคุมตัวที่สนามบินกองทัพอากาศ บนเครื่องบินซี 130 ซึ่งนำโดยผู้การหิน นาวาอากาศเอกอมฤต จารยะพันธุ์ นายทหารคนสนิท พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมกับกองทัพบกเคลื่อนกำลังพลออกไปประจำจุดต่างๆ กว่าสองพันคน และส่งกำลังบางส่วนไปจับร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ที่บ้านริมคลอง แต่จับไม่ได้ หลังจากนั้น พลเอกสุนทร คงสมพงษ์นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ กล่าวถึงเหตุผลของการรัฐประหารในครั้งนี้ว่า รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา กอบโกยผลประโยชน์ ทำลายสถาบันทหาร บิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อช่วยเหลือพลตรีมนูญ รูปขจร ไม่ปลดร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุงจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามสัญญา พร้อมกับประกาศอายัดทรัพย์รัฐมนตรีและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทย 12 คน พรรคกิจสังคม 5 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคราษฎร 2 คน พรรคประชากรไทย 1 คน พรรคเอกภาพ 1 คน และพรรคมวลชน 1 คน

คณะรัฐประหารในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) จากการเสนอของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก เลือกนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์เช่นเดียวกับพลเอกสุจินดา และเคยร่วมงานกันเมื่อปี พ.ศ. 2514 ขณะที่พันโทสุจินดา คราประยูร เป็นรองผู้ช่วยฑูตทหารบกประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภารกิจแรกของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน คือการร่างรัฐธรรมนูญกับจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาลนายอานันท์ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ นายเสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พลตำรวจเอกเภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ และนายมีชัย ฤชุพันธ์  หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกาและประจำประเทศจีนคนแรก เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนุกูล ประจวบเหมาะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอาสา สารสินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขณะเดียวกัน พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ชื่อพรรคสามัคคีธรรม มีนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพออกมาเคลื่อนไหว โดยให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเอกภาพ เป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม

การเมืองในช่วง 1 ปีของรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ภายใต้การนำของ รสช. แม้นายอานันท์จะประกาศตนเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ภายใต้คำสั่ง รสช. และดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส แต่ก็มีข้อจำกัดท่ามกลางการเคลื่อนไหวช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในการเตรียมการเลือกตั้ง ด้วยการดูดนักการเมืองเลือกตั้งเข้าสังกัดพรรคของตน หากจะใช้บรรทัดฐานว่าด้วยกฎหมายการเลือกตั้งซึ่งกำหนดกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งต่อคนไม่เกินวงเงินที่กำหนด โดยในความจริงกว่า 90% ล้วนแต่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา มีการแข่งขันกันสูงขึ้น และภายหลังพรรคการเมืองใหญ่ๆ เริ่มจ่ายเป็นรายเดือนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคของตน พร้อมๆ กับเพิ่มวงเงินต่อคนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองใหญ่ในขณะนั้นประกอบด้วยพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคกิจสังคม เมื่อมีพรรคสามัคคีธรรมเข้ามา แรงดึงดูดย่อมมีมากขึ้น  พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณลาออกจากพรรคชาติไทย แต่พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสารและนายบรรหาร ศิลปอาชาดึงพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์มาเป็นหัวหน้าพรรคแทน นายพงส์ สารสินกับร้อยตำรวจเอกสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ลาออกจากพรรคกิจสังคม โดยมีนายมนตรี พงษ์พานิชเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม กับพลโทเขษม ไกรสรรณ์ เพื่อนพลเอกสุจินดา มาเป็นเลขาธิการพรรคกิจสังคม พรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ยังเข้มแข็งเพราะได้ดำเนินการเปิดโรงเรียนผู้นำ ซึ่งมีผู้มีศักยภาพทางสังคมเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย

จากเหตุรัฐประหาร เศรษฐกิจ-สังคมอยู่ในสภาวะเริ่มตึงตัว แม้รัฐบาลพลเอกชาติชายได้เริ่มโครงการหลายโครงการก่อนนั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยภายหลังสงครามเย็น แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ภาวะการลงทุนต่างๆ เริ่มชะลอลง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน แม้เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ติดด้วยเงื่อนไขที่มาจากการรัฐประหาร ทำให้ไม่ง่ายเลยที่จะทำได้เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ได้มีการดำเนินการหลายด้าน เช่น ประกาศใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรับโครงสร้างภาษี แก้ไขปัญหาภาษีซ้ำซ้อน และป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรี ขจัดการผูกขาด ริเริ่มให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจัดตั้งเขตการค้าเสรี กำหนดมาตรการชะลอการกำหนดตำแหน่งข้าราชการและลูกจ้างของรัฐใหม่ ให้เกลี่ยอัตรากำลัง ปรับโครงสร้างบัญชีเงินข้าราชการใหม่ สูงกว่าบัญชีเดิมประมาณ 23% บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลมีการบำบัดของเสีย แก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายระหว่างซี.พี. เทเลคอมกับรัฐบาล และแก้ไขปัญหาการซื้อขายโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ กำหนดให้มีองค์กรกลางเพื่อดูแลการเลือกตั้ง กับให้พรรคการเมืองใช้สื่อโทรทัศน์ วิทยุ ของรัฐ และได้เปิดวิเทศธนกิจอันเป็นนโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เนื่องจากขณะนั้นฮ่องกงกำลังจะกลับไปเป็นของประเทศจีน ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายเงินจำนวนมากและมีการพัฒนานโยบายการผ่อนคลายทางการเงินต่อมาเป็น Bangkok International Banking Facility (BIBF) ในยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย

เศรษฐกิจโดยรวมในภาคเอกชน ธุรกิจหลายประเภทเริ่มเติบโต สหวิริยากรุ๊ปของกลุ่มวิริยประไพกิจ ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนใหญ่ที่สุดในอาเซียน สยามกลการของกลุ่มพรประภา ผู้นำเข้ารถยนต์และจักรยานยนต์นิสสัน ซูซูกิ ยามาฮ่ากับเครื่องดนตรี เดอะมอลล์กรุ๊ปของกลุ่มอัมพุช ซึ่งต่อมาขยายตัวเป็นดิ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน กระทิงแดง เครื่องดื่มชูกำลัง ของนายเฉลียว อยู่วิทยา เอ็ม 100-150 ของกลุ่มโอสถสภา ล็อกซเล่ย์ของกลุ่มล่ำซำ กับการเติบโตของทีพีไอ (IRPC ในปัจจุบัน) และปูนซีเมนต์ทีพีไอของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งต่อมาประสบปัญหาอันเนื่องมาจากฟองสบู่แตก ขณะเดียวกันเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือกับบริษัทไนแนกซ์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา จัดตั้งบริษัท เทเลคอมเอเชีย รับผิดชอบโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย พร้อมกันนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่นในไทยได้เปิดเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกที่ถนนพัฒน์พงศ์ และขยายสาขาไปตามสถานีบริการน้ำมัน ปตท. เกือบทุกแห่งครอบคลุมทั่วประเทศ

อำนาจทางปกครองในสังคม แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี พ.ศ. 2534 แต่ก็เป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบ เมื่อกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง คล้ายกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2521 กลไกนิติบัญญัติอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร แม้จะมีการเลือกตั้งในเวลาต่อมาก็ตาม เงื่อนไขการปกครองยังอยู่ในนามของ รสช.  โดยมีจปร. รุ่น 5 เป็นแกนนำทั้งมวล ซึ่งนับได้ว่ากองทัพมีการบังคับบัญชาที่เป็นเอกภาพมากที่สุด หลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถือได้ว่าจปร. รุ่น 5 เป็นรุ่นนายทหารที่ควบคุมกองทัพทุกเหล่าทัพมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์