ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 132; ดู Brigsby Bear หนังที่เล่าเรื่องของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งถูกลักพาตัวตั้งแต่ยังเป็นทารก ได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยรายการทีวี “หมีบริกสบีผจญภัย” จนโตเป็นหนุ่ม แต่เมื่อตำรวจช่วยเขาออกมาสู่โลกภายนอก เขากลับพบว่ารายการหมีบริกสบีไม่มีอยู่จริง เขาจึงสร้างหนัง Brigsby Bear ขึ้นมาเองซะเลย #เอากะพ่อสิ

ที่มาภาพ: impawards.com

หนังน่ารักน่าชังเรื่องนี้ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของชายหนุ่ม 3 คน คือ ไคล์ มูนีย์ เดฟ แม็กแครี และเควิน คาสเตลโล ทั้งสามเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่ชั้น ม.ต้น มิตรภาพยาวนานมาจนอายุ 30 ปี และมูนีย์กับแม็กแครีก็ยังทำงานประจำด้วยกัน ในรายการทีวี Saturday Night Live รายการตลกที่เรตติ้งสูงสุดของอเมริกาด้วย (มูนีย์เป็นหนึ่งในนักแสดง แม็กแครีเป็นหนึ่งในผู้กำกับของรายการดังกล่าว) ผู้รับหน้าที่เขียนบทเรื่อง Brigsby Bear ก็คือมูนีย์กับคาสเตลโล กำกับการแสดงโดยแม็กแครี มูนีย์แสดงนำเอง โดยมีนักแสดงยอดฝีมืออย่าง เกรก คินเนียร์ แคลร์ เดนส์ มาร์ก แฮมิลล์ (ผู้แสดงเป็น ลุค สกายวอล์กเกอร์ ในหนัง Star Wars) แอนดี แซมเบิร์ก (นักแสดงตลกผู้โด่งดังจากซีรีส์ Brooklyn Nine-Nine และเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์หนัง Brigsby Bear) มาร่วมแสดงในบทสมทบ สถานที่ถ่ายทำคือรัฐยูทาห์ ซึ่งสภาพภูมิประเทศดูต่างดาวสุดๆ

สารภาพว่า สำหรับหนังเรื่องนี้ ดิฉันตั้งใจมาเสพความแปลกเต็มที่เลย เพราะดูหนังตัวอย่างแล้วแปล๊กแปลก แต่ปรากฏว่า ดูไปได้ไม่ทันครึ่งเรื่องก็น้ำตาไหล แล้วก็ไหลเรื่อยไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายพัลวันพัลเกอย่างเต็มอิ่ม นี่ไม่ใช่หนังขายไอเดียเพี้ยนๆ เนิร์ดๆ ที่ดูจบแล้วก็จบกันไป แต่เป็นหนังที่ลึกซึ้งที่สุดเรื่องหนึ่งตั้งแต่ดิฉันเคยดูมา เพราะดิฉันคิดว่ามันเป็นหนังที่ดูได้หลายชั้น อย่างประเด็นเด็กถูกลักพาตัว จะมองว่าหนังนำเสนอเรื่องเด็กถูกลักพาตัวและกักขังหน่วงเหนี่ยว (ซึ่งก็มีมากในอเมริกา) จริงๆ ก็ได้ ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า มันเป็นภาพสะท้อนของเด็กทั่วไปที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมและถูกควบคุมบังคับอยู่ตลอดเวลา หรือประเด็นเกี่ยวกับคนที่คลั่งไคล้อะไรสักอย่าง จะมองว่าเป็นเรื่องของแฟนบอย แฟนคลับ สาวก โอตาคุ ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นเรื่องของคนทั่วไปที่มีความรักความชอบในอะไรบางอย่างก็ได้เหมือนกัน

หนังให้นิยาม ‘การเติบโต’ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมาก แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ดูได้หลายชั้นอยู่ดี ไม่ใช่แค่นิยามอย่างที่คนเดี๋ยวนี้ชอบพูดกันว่าเราต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยไม่ละทิ้งความเป็นเด็ก แต่หนังยังไปไกลถึงขั้นให้ ‘ตัวชี้วัด’ ว่าแค่ไหนจึงจะถือว่าคนคนหนึ่งได้เติบโตขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งที่ยังมีความเป็นเด็กอยู่เต็มหัวใจไม่เคยเปลี่ยน ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นเรื่องของ ‘ความสมดุลในการผสาน’ ปัจจัยต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความคลั่งไคล้กับการสร้างสรรค์ จินตนาการกับความเป็นจริง ตนเองกับครอบครัวและสังคม หรืออดีตกับปัจจุบันและรวมไปถึงอนาคต

ถึงแม้หนังจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าหดหู่และเศร้าใจ แต่มันก็สามารถบิดผันให้เห็นแง่มุมที่ดีของเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ดีงามจนไม่คาดคิดว่าจะดีขนาดนั้นได้ ทั้งๆ ที่ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้น มันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเจ็บปวด บางทีนี่อาจจะเป็น ‘ตัวชี้วัด’ อีกอย่างหนึ่งของการเติบโต คือการรู้จักมองโลกในแง่ดี ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะก้าวข้ามความโหดร้ายของชีวิต แล้วแปรเปลี่ยนให้เป็นพลังสร้างสรรค์ โดย ‘เห็นคุณค่า’ ของความโหดร้าย แต่ก็ไม่ ‘ให้คุณค่า’ กับมัน

พี่หมีบริกสบีเป็นตัวแทนของอะไรต่ออะไรที่มองได้หลายชั้นมาก #เริ่มอยากกินขนมชั้นแล้วตอนนี้ และทำให้หนังเป็นเสมือนหนึ่งการเฉลิมฉลองให้แก่มิตรภาพ วัยเยาว์ การเติบโต และความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ร่วมกับคนที่รักในสิ่งเดียวกัน แม้แต่ตัวร้ายในรายการหมีบริกสบีผจญภัย อย่างจอมมารตะวันดับ (หัวกลมๆ เหลืองๆ ในโปสเตอร์) ก็เป็นตัวละครที่มีความหมาย เพราะดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงพระจันทร์ในหนังของ ฌอร์ฌ เมลิเยส นักทำหนังชาวฝรั่งเศส ผู้คิดค้นวิธีการสร้าง ‘ภาพฝัน’ ให้ปรากฏเสมือนจริงในภาพยนตร์ ตั้งแต่ในยุคที่คนทั่วไปยังไม่สามารถจินตนาการไปได้ถึง จนได้รับยกย่องเป็น “บิดาแห่งสเปเชียลเอฟเฟ็กต์” และภาพพระจันทร์ถูกยานอวกาศพุ่งชนดวงตา ในหนังเรื่อง Le Voyage dans la Lune (A Trip to the Moon) ของท่าน ก็กลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จวบจนปัจจุบัน

A Trip to the Moon (1902) ที่มาภาพ: imdb.com

ในความรู้สึกของดิฉัน Brigsby Bear จึงเป็นหนังที่แสดงความคารวะต่อ “ภาพยนตร์” อันเป็นสิ่งที่มูนีย์ แม็กแครี และคาสเตลโล คลั่งไคล้หลงใหล ไม่ต่างจากทุกคนที่มาดูหนังเรื่องนี้

ถ้าเราจะบ้าอะไรสักอย่าง ก็บ้าแบบมี productivity ไปเลย จัดไปอย่าให้เสีย

คอลัมน์ “ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย” ก็เขียนโดยคนบ้าค่ะ เรามาบ้าด้วยกันนะก๊าาาาาาา

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 245

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

5 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก thefridacinema.org)