ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 137; ดู Kingsman: The Golden Circle หนังภาคต่อของ Kingsman: The Secret Service เมื่อปี 2014 ซึ่งดิฉันเคยเขียนถึงไปแล้วในเบี้ยน้อยฯ 025 ขอเชิญย้อนไปอ่าน จะทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้ค่ะ

ไหนๆ ก็ภาคสองแล้ว ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง ขอเล่าเรื่องย่อภาคหนึ่งเลยละกัน เผื่อท่านใดขี้เกียจกลับไปดูซ้ำ หรืออาจจะไม่เคยดูมาก่อนแต่อยากไปดูภาคสอง ก็จะได้ปะติดปะต่อเรื่องได้ แต่ถ้าท่านใดอยากดูภาคหนึ่งก่อนโดยไม่อยากโดนสปอยล์ ก็ขอให้ข้าม 6 ย่อหน้าต่อไปนี้เลยค่ะ

ในประเทศอังกฤษ มีองค์กรลับนามว่า “คิงส์แมน” ทำธุรกิจร้านตัดสูทบังหน้า รหัสประจำตัวสายลับแต่ละคนนำมาจากชื่อตัวละครในตำนาน “กษัตริย์อาเธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม” โดยมีหัวหน้าคือ “อาเธอร์” (แสดงโดย ไมเคิล เคน) เผอิญว่าในปฏิบัติการหนึ่ง สายลับ “ลานสล็อต” ได้พลาดท่าถูกสังหาร ด้วยฝีมือสมุนของมหาเศรษฐีอเมริกัน ริชมอนด์ วาเลนไทน์ (แสดงโดย แซเมียล แอล. แจ็กสัน) สายลับคนอื่นๆ จึงต้องสรรหาเด็กหนุ่มเด็กสาวมาเข้าค่ายฝึกเพื่อคัดเลือกเป็นลานสล็อตคนใหม่ โดยมีครูฝึกคือ “เมอร์ลิน” (แสดงโดย มาร์ค สตรอง)

กล่าวฝ่ายสายลับ “กาลาแฮ้ด” ผู้มีชื่อจริงว่า แฮร์รี่ ฮาร์ต (แสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ) เมื่อ 17 ปีที่แล้วแกเกือบตายในหน้าที่ แต่ก็รอดมาได้เพราะเพื่อนสละชีวิตปกป้องแกไว้ แกจึงตั้งใจว่าจะคอยดูแลช่วยเหลือเด็กน้อยเอ็กซี่ ซึ่งเป็นลูกชายเพื่อน ให้เติบโตรอดปากเหยี่ยวปากกาไปให้ได้ เวลาผ่านไป เอ็กซี่เติบโตขึ้น (แสดงโดย ทารอน อีเกอร์ตัน) เป็นเด็กเรียนดีกีฬาเด่น เป็นแชมป์ยิมนาสติก และได้ทุนเข้าเรียนโรงเรียนนาวิกโยธิน แต่แม่ไม่ยอมให้เรียนเพราะกลัวเป็นทหารแล้วจะตายเหมือนพ่อ ก็เลยต้องสละสิทธิ์ แล้วแม่ซึ่งประสาทแดกมาตั้งแต่พ่อตาย ก็ไปได้ผัวใหม่เป็นกุ๊ยข้างถนน ชีวิตเอ็กซี่จึงพังพอสมควร เขาประพฤติตนเป็นเด็กเหลือขอ มีเรื่องกับนักเลงหัวไม้ จนกระทั่งโดนตำรวจจับ

กาลาแฮ้ดประกันตัวเอ็กซี่ออกมา และเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง ทีแรกเอ็กซี่ไม่เชื่อว่ากาลาแฮ้ดเป็นสายลับ เพราะแกดูเป็นผู้ดีอังกฤษมากๆ ใส่สูท ถือร่ม แถมใส่แว่นด้วย แต่ระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่ อิพ่อเลี้ยงเอ็กซี่ก็พาลูกน้องมารังควานด้วยกิริยาวาจาถ่อยสถุล กาลาแฮ้ดจึงสั่งสอนด้วยสุภาษิตฝรั่งว่า “Manners maketh man” แปลว่า มารยาททำให้เราเป็นคน ซึ่งเทียบกับสุภาษิตไทยที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ได้อย่างแนบเนียน จากนั้นกาลาแฮ้ดคนเดียวก็ปราบนักเลงทั้งฝูงได้อย่างราบคาบ ทำให้เอ็กซี่ได้รู้ว่า นอกจากกาลาแฮ้ดจะเป็นสายลับระดับเทพแล้ว ร่มและแว่นตายังเป็นอาวุธที่ไฮเทคสุดๆ ด้วย เอ็กซี่จึงตัดสินใจตามกาลาแฮ้ดไปเข้าค่ายฝึกเพื่อรับการคัดเลือกเป็นลานสล็อตคนใหม่ โดยมีกาลาแฮ้ดเป็นป๋าดัน

เข้าไปวันแรก เอ็กซี่ก็โดนดูถูกเหยียดหยามจากเด็กหัวกะทิทั้งหลายที่สายลับคนอื่นๆ ส่งเข้าประกวด มีเพียงคนเดียวที่ให้ความเป็นมิตรกับเขา คือเด็กสาวชื่อร็อกซี่ ทั้งสองคอยช่วยเหลือกันจนสามารถผ่านการทดสอบด่านต่างๆ รวมทั้งการเลี้ยงและฝึกลูกหมา ซึ่งเอ็กซี่เลือกหมาพันธุ์ปั๊กเพราะเข้าใจว่าเป็นบูลด็อก แต่เขาก็รักมันมาก ตั้งชื่อมันว่า “เจ.บี.” (ย่อมาจาก แจ็ก บาวเออร์ พระเอกซีรีส์เรื่อง 24) ทุกๆ ด่านมีคนถูกคัดออกเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือ 3 คน ได้แก่ เอ็กซี่ ร็อกซี่ และชาร์ลี ปรากฏว่าชาร์ลีถูกคัดออกในการทดสอบครั้งต่อมา เพราะเลือกที่จะรักษาชีวิตตัวเองมากกว่ารักษาความลับของคิงส์แมน เหลือแค่เอ็กซี่กับร็อกซี่ ต้องผ่านด่านสุดท้าย คือให้ยิงหมาของตัวเอง เอ็กซี่ไม่ยอมยิง เลยสอบตกไป ส่วนร็อกซี่ยิง เธอจึงได้เป็นลานสล็อตคนใหม่ เอ็กซี่มารู้ภายหลังว่าปืนไม่มีลูก และสมัยที่กาลาแฮ้ดมาทดสอบ แกก็ตัดสินใจยิงมิสเตอร์พิกเกิล หมาของแกเช่นกัน ทำให้แกสอบผ่านได้ตำแหน่งกาลาแฮ้ด ทั้งได้เลี้ยงมิสเตอร์พิกเกิลมาอีกสิบกว่าปีจนมันป่วยตาย แล้วแกก็สตัฟฟ์ร่างมันไว้เป็นอนุสรณ์

ในช่วงนั้นพอดีกับที่คิงส์แมนได้เบาะแสเกี่ยวกับปฏิบัติการที่ลานสล็อตคนเดิมทำค้างไว้ก่อนตาย สืบไปสืบมาพบว่าเป็นแผนของริชมอนด์ วาเลนไทน์ ซึ่งร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ฮีวางแผนจัดระเบียบโลกด้วยการกำจัดคนระดับรากหญ้าและชนชั้นกลางให้หมด โดยแจกซิมการ์ดให้เอาไปโทร.และใช้อินเทอร์เน็ตฟรี แล้วปล่อยคลื่นสะกดจิตคนให้เป็นบ้าคลั่งลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง ฮีชักชวนแกมขู่บังคับให้ชนชั้นสูงและคนรวยทั่วโลกร่วมมือกับฮี ใครคัดค้านฮีก็จับขังไว้ ซึ่งคนหนึ่งที่ถูกขังก็คือเจ้าหญิงทิลดีแห่งสวีเดน

วาเลนไทน์จะทดลองปล่อยคลื่นสะกดจิตที่โบสถ์แห่งหนึ่งในรัฐเคนตักกี อเมริกา กาลาแฮ้ดจึงตามไป แต่แล้วก็ถูกวาเลนไทน์ยิงระยะเผาขนเข้าเบ้าตาซ้าย หงายหลังผลึ่งลงไปนอนแน่นิ่ง เมื่อเอ็กซี่รู้เรื่องก็รีบไปที่ฐานของคิงส์แมน แต่กลับพบว่าอาเธอร์เป็นพวกเดียวกับวาเลนไทน์ และจะวางยาฆ่าเขา เขาจึงหลอกล่อสลับแก้วให้อาเธอร์ดื่มยาพิษตายไป แล้วร่วมมือกับเมอร์ลินและลานสล็อตคนใหม่ บุกเข้ารังวาเลนไทน์ ระหว่างนั้นก็ไปเจอชาร์ลีพยายามจะเข้ามาขัดขวาง แต่เขาก็จัดการจนมันสลบเหมือด จากนั้นเขาก็ไปเจอเจ้าหญิงทิลดีถูกขังอยู่ เจ้าหญิงก็แซ่บมาก บอกว่าถ้าช่วยนางออกไปได้จะให้เข้าประตูหลัง อิเอ็กซี่ก็บอกขอไปช่วยโลกก่อนแป๊บนึงเดี๋ยวกลับมานะ แล้วก็รีบรุดไปจัดการวาเลนไทน์ตายห่านไป ฆ่าฮีเสร็จก็คว้าแชมเปญฮีมาขวดหนึ่ง แก้วสอง ให้เมอร์ลินถอดรหัสเปิดประตูห้องขัง เข้าไปจ้ำจี้กับเจ้าหญิงสบายอารมณ์

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ก่อนไปดูภาคสอง 555 ต้องละเอียดเบอร์นี้เลย นี่ดิฉันเล่าจากความทรงจำ ถ้าคลาดเคลื่อนก็ขออภัยด้วย แต่ก็น่าจะช่วยฟื้นความหลังให้แก่ทุกท่านได้บ้าง เพราะหนังภาคสองมีรายละเอียดที่ส่งต่อมาจากภาคหนึ่งเยอะพอสมควร

ที่มาภาพ: imdb.com

ใน Kingsman: The Golden Circle เอ็กซี่ผู้ได้เป็นกาลาแฮ้ดคนใหม่ แทนแฮร์รี่ซึ่งทุกคนคิดว่าตายไปแล้ว ต้องต่อกรกับวายร้ายสาวใหญ่ที่ประทับตราลูกสมุนทุกคนด้วยรอยสักรูปวงกลมสีทอง นางผู้นี้คือ ป๊อปปี้ อดัมส์ (แสดงโดย จูเลียนน์ มัวร์) เจ้าแม่ยาเสพติด ผู้มีความฝันอันสูงสุดที่จะให้การค้ายาเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย งานนี้เอ็กซี่กับเมอร์ลินค่อนข้างจะหัวเดียวกระเทียมลีบ จึงต้องไปขอความร่วมมือจากองค์กรลับของอเมริกา ซึ่งทำธุรกิจเหล้าไวน์บังหน้า อยู่ที่รัฐเคนตักกี มีชื่อองค์กรว่า “สเตทส์แมน” (อเมริกาไม่มีคิง ดังนั้นสายลับจึงต้องเรียกว่าเป็น “คนของรัฐ”) ณ ที่นั้นทั้งสองก็ได้พบแฮร์รี่ ซึ่งปรากฏว่าสเตทส์แมนได้ช่วยไว้ ก็เลยไม่ตาย

หนังยังเก็บองค์ประกอบดีๆ ที่คนชื่นชอบจากภาคแรกไว้ครบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากแอ็กชันมันส์ระเบิดที่มีการออกแบบและเทคนิคการถ่ายทำอันเป็นเอกลักษณ์ กับการนำเสนอแบบเสียดสียั่วล้อ อันนำมาซึ่งมุขตลกแพรวพราวและสัปดนวันละนิดจิตแจ่มใส ภาคแรกยั่วล้อขนบหนังสายลับจนเจมส์ บอนด์แทบจะไปผูกคอตาย และมีล้ออเมริกาพอขำๆ ส่วนภาคนี้ล้ออเมริกาแบบฮาแตก ไล่มาตั้งแต่ประธานาธิบดีเลย ตัวร้ายของทั้งสองภาคคล้ายคลึงกันมากอย่างมีนัยสำคัญ คือเป็นคนอเมริกัน เป็นมหาเศรษฐี เป็นคนทะเยอทะยาน อัจฉริยะ และเพี้ยน ซึ่งในภาคนี้ จูเลียนน์ มัวร์ เล่นได้บันเทิงมาก มีความน่ารักตะมุตะมิ แต่เลือดเย็น ทำให้ทั้งขำทั้งกลัวนาง ประเด็นของหนังที่นำเสนอผ่านเป้าหมายของตัวร้ายก็ยังคงเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งเราทุกคนอาจจะตกเป็นเหยื่อได้ถ้าปล่อยให้ตัวเองไหลไปตาม ‘กระแส’ ของโลกยุคปัจจุบัน เพียงแต่ภาคสองมีมุมมองทางมนุษยธรรมที่เข้มข้นกว่านิดหน่อย แม้ว่าบทจะไม่มีเอกภาพเท่าภาคแรก แต่ก็ยังคงเป็นหนังที่สนุกสุดเหวี่ยงไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจในหนังเรื่องนี้ ก็คือ ‘การยั่วล้ออย่างคารวะ’ ต่อความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรม ได้แก่วัฒนธรรมผู้ดีอังกฤษซึ่งผูกพันกับราชสำนัก และวัฒนธรรมอเมริกันคาวบอยซึ่งมีความเป็นลูกทุ่งสูง หนังนำเสนอว่าความแตกต่างไม่เป็นอุปสรรคต่อการไขว้กันในทางสร้างสรรค์ อย่างเช่นวัฒนธรรมดนตรีอันไม่มีพรมแดน หนังให้เจ้าป้าเอลตัน จอห์น เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมผู้ดีอังกฤษที่มีอิทธิพลต่ออเมริกา เจ้าป้ามาแสดงรับเชิญเป็นตัวเอง น่ารักและตลกมากๆ ส่วนตัวแทนของวัฒนธรรมอเมริกันคันทรี่ที่มีอิทธิพลต่ออังกฤษ ก็คือเพลง Take Me Home, Country Roads ของ จอห์น เดนเวอร์ ซึ่งเมื่อตอนที่ดิฉันได้ดูหนังตัวอย่างเวอร์ชันที่ใช้เพลงนี้ ก็ยังงงๆ อยู่ว่ามันเกี่ยวอะไรกับหนัง พอมาดูในเรื่องจริงๆ ถึงได้รู้ ว่าหนังใช้เพลงนี้ได้อย่างมีความหมายและซาบซึ้งตรึงใจอย่างยิ่ง ใครจะไปคิดว่าการดู Kingsman จะทำให้ร้องไห้ได้ ดิฉันก็ไม่คิดเหมือนกันแหละขณะที่ปาดน้ำตา

สรุป: จ่าย 100 (ดูรอบสิบโมงเช้าที่สกาลา) ได้กลับมา 139

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

26 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)